ถอดกลยุทธ์ แน็คเก็ต-แคบหมึก รุ่งธนา 2 SME พิชิตอุปสรรคโกยรายได้หลักสิบล้านในยุคไวรัส

 

         ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายต่อการประกอบธุรกิจ แต่ก็มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่สามารถยืนหยัดและเติบโตได้เป็นอย่างดี โดย 2 แบรนด์ SME ที่น่าจับตาก็คือ อาหารทานเล่นแบรนด์ แน็คเก็ต (Nacket) จาก บริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด และ ผลิตภัณฑ์ แคบหมึก รุ่งธนา จาก บริษัท รุ่งธนาอินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ที่ไม่ใช่แค่สามารถเติบโตในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ยังทำรายได้แตะหลักสิบล้าน ทั้งสองแบรนด์มีกลยุทธ์และเทคนิคการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ ไปติดตามกันได้เลย

 

“แน็คเก็ต” เน้นสร้างอัตลักษณ์ กระจายความยั่งยืนสู่ชุมชน

        แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่ในปี 2563 แบรนด์ขนมขบเคี้ยว “แน็คเก็ต” ยังคงสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 41 ล้านบาท พัทธนันท์ แสงสุขเกษมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด เจ้าของรางวัลประเภท SME ยั่งยืน จากเวที เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021 เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้ แน็คเก็ต เติบโตได้ยาวนานกว่า 14 ปี คือการพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในแบรนด์และตัวสินค้า ด้วยการนำวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพจากแหล่งต่างๆ มาใช้เป็นส่วนประกอบ ภายใต้หลักแนวคิดที่ว่า “ผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และอร่อยให้เหมือนทำให้คนในครอบครัวทาน” 

        ส่งผลให้ปัจจุบันแบรนด์ แน็คเก็ต มีสินค้าทั้งสิ้น 22 รายการ ครอบคลุม 5 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มแครกเกอร์ไส้สับปะรด ไส้สตรอเบอร์รี่ 2.ปั้นสิบไส้ต่างๆ ไส้ปลา ไส้ถั่ว ไส้ต้มยำกุ้ง โดยผสมข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุง 3.กลุ่มทอดสูญญากาศ กล้วยทอดสูญญากาศ ซึ่งเป็นกล้วยหอมทอดจาก จ.ชุมพร 4.ผัก ผลไม้ทอด เช่น กล้วย เผือก มัน ฟักทอง ซึ่งมาจาก จ.สุโขทัย และกลุ่มที่ 5.อาหารทะเล ที่มาจาก จ.ตราด คิดรวมเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่รับซื้อจากชุมชนในเครือข่ายปีละเกือบ 300 ตัน

        “หัวใจสำคัญที่ทำให้เราเติบโตได้ แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 คือ การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น เรื่องบรรจุภัณฑ์ มีการเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ ตลอดจนสร้างความแปลกใหม่ให้กับตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน มีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในยุค Next Normal ที่ต้องสร้างอัตลักษณ์ให้ชัดเจน หรือสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านตัวตนของสินค้า พันธมิตรที่เป็นคู่ค้าเองก็สำคัญ ต้องสามารถให้การช่วยเหลือและพร้อมสนับสนุนเราได้ในทุกเรื่อง เพื่อเราจะได้ส่งต่อความช่วยเหลือที่ได้รับกลับไปสู่ชุมชน เป็นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”  

 

 แคบหมึก รุ่งธนา อย่าหยุดพัฒนา พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่

       จากแบรนด์ที่ยอดขายเริ่มอิ่มตัว แต่ด้วยความไม่ปิดกั้นโอกาสในการเปิดรับสิ่งใหม่ และไม่ย่อท้อที่จะพัฒนาสินค้า ทำให้ในวันนี้ แคบหมึก รุ่งธนา สินค้าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน สามารถสร้างยอดขายในปี 2563 ได้สูงถึง 20 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านบาท

          สิริพรรณ ปรักกโมดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รุ่งธนาอินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด เจ้าของรางวัลประเภท SME ผู้ประกอบการชุมชน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีผลิตภัณฑ์ประเภทปลาหมึกทอดปรุงรสจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เป็นสินค้าในกลุ่มตลาดแมส ผู้บริโภคสามารถซื้อแบรนด์อื่นทดแทนได้ และตลาดก็มีการแข่งขันสูง จึงคิดหาวิธีการพัฒนาสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างจนออกมาเป็น แคบหมึก รุ่งธนา

       สำหรับ แคบหมึก รุ่งธนา เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปเพื่อสุขภาพ ไม่ใส่ผงชูรส ไม่มีน้ำตาล ที่ผลิตจากหมึกกล้วยสดตกไซส์ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเราจะรับซื้อจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และนำมาผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เมื่อนำมาแปรรูปกลับช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น จากหมึกสดที่เดิมมีราคาขายเพียง 15-30 บาทต่อกิโลกรัมมีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท ปัจจุบันแคบหมึก รุ่งธนามี 2 รสชาติคือ แคบหมึกรสดั้งเดิม และแคบหมึกค็อกเทล ที่เพิ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพเข้าไปด้วย โดยในอนาคตเตรียมพัฒนาสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม

          “การจะนำพาธุรกิจให้ก้าวผ่านไปสู่ยุค Next Normal ได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมให้มาก สร้างมาตรฐานสินค้าให้ดี ควบคู่กับการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและสร้างการจดจำให้กับลูกค้า ที่สำคัญอย่าปิดกั้นโอกาสที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ หากติดปัญหาตรงไหนก็ต้องแสวงหาความรู้และตำตอบ เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ หรือจะขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ก็ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานคอยให้ความช่วยเหลือ”

 

Branding กลยุทธ์ต้องมีในยุค Next Normal

        แบรนด์ถือเป็นอีกหนี่งเครื่องสำคัญในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค Next Normal โดย โอลิเวอร์-กิตติพงษ์ วีระเตชะ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกประสบกับภาวะการทับซ้อนของการรับรู้ของแบรนด์ (More Perceptually Redundant) เนื่องจากทุกแบรนด์ต่างพยายามสื่อสารกับผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคกลับมีการตีความหรือจดจำข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เหมือนกัน จนทำให้เกิดความสับสน การสร้างตัวตนให้ชัดเจนจึงเป็นหัวใจหลักของการสร้างแบรนดิ้งในยุค Next Normal ที่ผู้บริโภคมักจะขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์และความรู้สึกชี้นำ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างด้วยการสร้างแบรนด์ สร้างความผูกพันกับผู้บริโภค และหาจุดขายที่น่าสนใจอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการจดจำให้แบรนด์

       “แบรนด์จำเป็นที่จะต้องมองจากมุมของลูกค้า แล้วทำแบรนด์ดีไซน์จากมุมมองที่ลูกค้าเห็น แบรนด์จึงต้องฟังให้เยอะขึ้น การทำธุรกิจเอสเอ็มอีต้องคิดให้ใหญ่ เริ่มให้เล็ก ฟังให้เยอะ แล้วจะได้ input ใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งการฟังลูกค้ามากขึ้นก็คือ data อย่างหนึ่ง” โอลิเวอร์ กล่าวย้ำ

       การนำพาธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินฝัน หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ ขอเพียงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย