3 เรื่องต้องมี ถ้า SME ‘หนี้ท่วมทรัพย์’ อยากขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุย

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 
 



Main Idea
 
  • ปรากฎการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SME ในวันนี้คือ มีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ที่กำลังเป็นหนี้ บางรายค้างชำระ บางรายกลายเป็นหนี้เสีย ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม พวกเขาเหล่านี้ก็แทบไม่มีโอกาสได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มเติม เพื่อมาพยุงธุรกิจให้ไปต่อ
 
  • ในยุคที่ SME กลายเป็นบุคคลที่หนี้ท่วมหัวและหลายรายที่ไร้หลักทรัพย์ ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ มาฟังข้อแนะนำเบื้องต้นจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะช่วย SME ให้ออกจากกับดักนี้
 



     “SME มีอยู่ 2 ประเภท คือกลุ่มที่ ‘หนี้ท่วมทรัพย์’ กับ ‘ทรัพย์ท่วมหนี้’ ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ของพี่น้อง SME คือกลุ่มที่
เรียกว่าหนี้ท่วมทรัพย์ คือมีหนี้มากกว่าทรัพย์ ขณะที่บางคนมีแต่หนี้ไม่มีทรัพย์เลยด้วยซ้ำ”





     นี่คือคำกล่าวของ  “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สะท้อนความจริงของผู้ประกอบการ SME ไทยที่กลายเป็นกับดักในการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร โดยผู้ประกอบการกลุ่มแรก ทรัพย์ท่วมหนี้ หมายถึงกลุ่มที่มีสินทรัพย์มากกว่าวงเงินสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อกลุ่มนี้ เมื่อเดินเข้าไปขอกู้เงินกับธนาคารย่อมได้รับการอนุมัติภายใน 3 วัน 7 วัน


     แต่ทว่าหากเป็นผู้ประกอบการประเภทหนี้ท่วมทรัพย์ ซึ่งเป็น SME ส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่มนี้แทบไม่มีโอกาสได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วยซ้ำ แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์หรือมีหนี้ สามารถนำพาธุรกิจของตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤตและมีเงินทุนให้เดินหน้าต่อไปได้ ดร.รักษ์ ให้คาถาไว้ 3 ข้อดังต่อไปนี้
 



 
  • มีตัวตนในสายตาของสถาบันการเงิน
                     
     ดร.รักษ์บอกว่า เนื่องจากการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ นั้น อยู่บนพื้นฐานข้อมูลธุรกรรมหรือการเดินบัญชี สำหรับผู้ที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่แล้ว จะต้องตรวจสุขภาพของวงเงินที่เคยมีกับธนาคารให้ดีว่าเดินบัญชีเป็นอย่างไร เคยค้างจ่ายหรือมีหนี้เสียหรือไม่ โดยบางคนอาจใช้วงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ซึ่งทางธนาคารสามารถติดตามดูสินเชื่อเหล่านั้นได้ กระทั่งวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่าง บ้านหรือคอนโดก็ตาม แล้วธนาคารจะให้คะแนนพฤติกรรม (Behavior Score)


     ในกรณีที่ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่มีตัวตน จำเป็นต้องสร้างข้อมูลธุรกรรมและการเดินบัญชีอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นข้อมูลขั้นต่ำที่พอจะจับต้องได้
 



 
  • มีสติ

     ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าตัวเองเป็นตัวจริงหรือไม่ เพราะในโลก New Normal นั้นคือโลกที่ SME ต้องเป็นตัวจริงเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ ดร.รักษ์เปรียบเทรียบให้ฟังว่า วิกฤตโควิด-19 เปรียบเสมือนนาฬิกาที่ปลุกให้คนตื่น โดยมีผู้ประกอบการหลายคนที่มีผลิตภัณฑ์ในบริษัทหลายอย่าง เรียกว่ามีทั้งโปรดักต์ที่ทำกำไรและสินค้าที่ได้แต่คาดหวังว่าอาจทำกำไรได้ในอนาคต ทว่าเมื่อเจอกับวิกฤต ก็ถึงเวลาต้องมองความเป็นจริงให้มากที่สุด นั่นคือต้องรีบตัดสินใจหยุดทำในสิ่งที่ขาดทุน แล้วเดินหน้าไปกับสิ่งที่จะสร้างผลกำไรได้อย่างแท้จริงเท่านั้น



 
 
  • มีสตางค์
                     
     ข้อนี้นับว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับกรณีนี้ไม่ได้หมายความว่า SME จะต้องมีเงินเป็นกอบเป็นกำ แต่หมายถึงต้องไม่ตกอยู่ในวงจรหนี้ แต่หากมีหนี้ก็ต้องมีแนวทางในการจัดการกับภาระหนี้ของตัวเอง โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ ถีบตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่ง SME ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย
 




     “มีตัวตน” “มีสติ” และ “มีสตางค์” คือ 3 หัวใจเบื้องต้น ที่จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME มีโอกาสเข้าถึง
สินเชื่อจากสถานบันการเงินได้มากขึ้น แม้จะไม่มีหลักทรัพย์ โดยบสย.จะทำหน้าที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ SME  โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมเพื่อให้สามารถสร้างเนื้อสร้างตัว และในปีที่ 3 จึงจะเริ่มคิดค่าธรรมเนียมที่ 1.75 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด


     “หลักทรัพย์ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขอวงเงินสินเชื่อ แต่การไม่มีตัวตนในมุมมองของธนาคารต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ ฉะนั้นหาก SME มีผลิตภัณฑ์ เคยทำตลาดมาแล้ว ไม่ว่าจะเก็บเงินในรูปแบบของเงินสด การฝากเข้าบัญชีกระแสรายวัน หรือออมทรัพย์ก็ตาม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ธนาคารจะใช้ในการพิจารณา และเมื่อเดินมาหา บสย. ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ก็จะช่วยสร้างเครดิตให้กับธุรกิจและสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารในการปล่อยวงเงินสินเชื่อให้นั่นเอง” เขาบอก
               




     ดร.รักษ์บอกอีกว่า อยากให้ SME คิดว่า บสย.คือที่ปรึกษาทางการเงินที่ไม่คิดค่าดำเนินการ โดย บสย.มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ภาพรวมให้ว่าผู้ประกอบการควรจะขอวงเงินกับธนาคารใดให้เกิดประโยชน์กับกิจการมากที่สุด มีการคำนวณคะแนนเครดิตให้ ออกแบบวงเงินสินเชื่อ ยื่นเรื่องและส่งคะแนนเครดิตไปยังธนาคารนั้นๆ รวมถึงค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ เรียกว่าเป็น One-Stop Service ของ SME ได้อย่างแท้จริง

                
     ผู้ประกอบการรายใดที่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ ก็อาจเริ่มง่ายๆ ด้วย 3 ข้อนี้ คือ มีตัวตน มีสติ และมีสตางค์ ถ้าอยากได้คนช่วยค้ำประกัน บสย.ก็พร้อมช่วยได้ เพื่อหลุดพ้นจากกับดัก และอุปสรรคด้านการเงินที่ผู้ประกอบการแทบทุกคนต้องเจอในวันนี้



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน