5 วิธีบริหารกระแสเงินสดยุค New Normal ช่วย SME เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ

TEXT : สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ SME ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย





     หากถามเหล่าบรรดาเจ้าของกิจการว่าสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคืออะไร ทุกคนคงพร้อมใจตอบว่า “กระแสเงินสด” แต่เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจากการโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการหยุดชะงักของธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลก การขาดความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) กระทบต่อเนื่องสู่ภาคการขายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้า ทำให้ SME เจอปัญหาการบริหารกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่กระแสเงินสดมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
               

      จากผลสำรวจ “ASEAN SME Transformation Study 2020” โดยธนาคารยูโอบี ร่วมกับแอคเซนเจอร์ และดันแอนด์แบรดสตรีท ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของ SME ในอาเซียนกว่า 1,000 ราย ชี้ให้เห็นว่า SME กังวลเรื่องการรักษากระแสเงินสดเป็นอันดับแรก เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ ( 64 เปอร์เซ็นต์) และเพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังประสบปัญหาลูกค้าชำระเงินล่าช้า (52 เปอร์เซ็นต์)
               

       เมื่อกระแสเงินสดกลายเป็นโฟกัส SME ต่างมองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายโดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยี (81 เปอร์เซ็นต์) และติดต่อธนาคารเพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ (75 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงทำการต่อรองเงื่อนไขการชำระเงินหรือสัญญา (75 เปอร์เซ็นต์)



               

     นอกจากที่กล่าวมา ขอแนะนำ 5 เคล็ด (ไม่) ลับที่จะช่วย SME บริหารกระแสเงินสดได้ดีในยุค New Normal ดังนี้


     1. เน้นที่งบดุลแทนรายได้ ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบของเงินทุนหมุนเวียน ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ แทนที่จะสนใจองค์ประกอบเดียว เพื่อลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียน


      2. ขายหรือให้เช่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้า เพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จะทำให้มีเงินอัดฉีดเข้ามาในทันที





      3. ติดตามและจัดการใบแจ้งหนี้ของบริษัท สาเหตุส่วนใหญ่ที่ก่อปัญหาด้านกระแสเงินสด คือการชำระเงินล่าช้า ซึ่งอาจจะมาจากความล่าช้าในการจ่ายเงินของลูกค้า หรือขั้นตอนการออกใบแจ้งหนี้ ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เราอาจจะไม่สามารถควบคุมฝั่งลูกค้าได้ แต่ที่เราจัดการได้แน่นอนคือการบริหารขั้นตอนการออกใบแจ้งหนี้จากฝั่งเราเอง ซึ่งอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนในเทคโนโลยีและโซลูชันทางธุรกิจที่จะมาช่วยจัดงานระบบหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็น บัญชีเงินเดือน การทำบัญชี การบริหารสินค้าคงคลังและอื่นๆ


     4. ทบทวนแผนการลงทุนต่างๆ จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและการประเมินกระแสเงินสดที่มีในขณะนี้ SME ควรจะพิจารณาความจำเป็นของการลงทุนต่างๆ อันไหนจำเป็นต้องลงทุนในระยะเวลาอันใกล้หรือจำเป็นต้องลงทุนตอนนี้เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงควรพิจารณาว่าการลงทุนใดที่สามารถเลื่อนออกไปได้ก่อนและรอจังหวะที่จะทำเมื่อสถานการณ์ต่างๆ และเศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น





      5. มองหาการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร ทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินต่างออกมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ขอแนะนำให้ SME ติดต่อธนาคาร เพื่อขอคำปรึกษาด้านเงินทุนที่เหมาะกับธุรกิจ ซึ่งแต่ละรายอาจมีความต่างกันไปตามความต้องการและประเภทของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขอพักชำระหนี้ ปรับเงื่อนไขการชำระเงิน รวมถึงอาจได้รับเงินทุนจากโครงการอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ สำคัญคืออย่ากลัวที่จะติดต่อธนาคารเพื่อพูดคุย ขอคำปรึกษา จนปล่อยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้
 
 

 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน