เมื่อ SME อยากขยับเป็นธุรกิจใหญ่ ต้องทำความรู้จักการระดมทุนด้วยรูปแบบ OTC

TEXT : นเรศ เหล่าพรรณราย





       สำหรับบริษัท SME ที่มีความเข้มแข็งและมีทุนจดทะเบียนในระดับ 20-30 ล้านบาทขึ้นไป นอกเหนือจากการระดมทุนผ่าน Equity Crowd Funding แล้วยังมีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือการระดมทุนในรูปแบบ OTC หรือ Over The Counter
 

     การระดมทุนรูปแบบนี้เป็นการเสนอขายหุ้นในรูปแบบ Private หรือไม่ได้ทำการประกาศในพื้นที่สาธารณะ โดยเจ้าของกิจการกับนักลงทุนเป็นผู้เจรจาซื้อขายกันเองซึ่งอาจจะมีตัวกลางช่วยในการเจรจาหรือเจรจากันเองระหว่างสองฝ่าย

 
      การระดมทุนแบบ OTC มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเพิ่มทุนหรือระดมทุนก่อนที่จะเข้า IPO หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเจ้าของกิจการเสนอขายหุ้นบางส่วนให้กับบุคคลภายนอกทั้งที่เป็นรูปแบบตัวบุคคลหรือกองทุน โดยสัดส่วนการถือหุ้นและมูลค่าเกิดจากการเจรจากันระหว่างสองฝ่าย

 
      ทั่วไปแล้วเจ้าของกิจการจะเสนอขายหุ้นในมูลค่าที่สูงกว่าราคา Par ของกิจการ กล่าวคือจะต้องมีมูลค่าสูงกว่าเจ้าของกิจการซึ่งเป็นผู้ที่ปั้นธุรกิจจนมีมูลค่าสูงขึ้น โดยมูลค่าที่เสนอขายขึ้นอยู่กับระยะเวลาก่อนที่จะเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการ IPO  




 
       ถ้าหากระยะเวลาก่อนที่จะ IPO มีช่วงเวลาที่นาน ราคาเสนอขายมักจะไม่สูงมากนักเนื่องจากนักลงทุนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงไปพร้อมๆ กับเจ้าของกิจการ เพราะการระดมทุนแบบ OTC ผู้ลงทุนมีเป้าหมายที่จะขายหุ้นออกไปหรือ Exit จากการที่กิจการสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ หากไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย ผู้ลงทุนก็จะต้องเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทนั้นๆ ไปจนกว่าจะสามารถหาผู้รับซื้อต่อได้ทั้งบุคคลที่สามหรือเจ้าของเดิมเป็นผู้รับซื้อเอง
 

       ในตลาด OTC มีความเสี่ยงในแง่ของสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นเนื่องจากมีความต่างจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องซื้อขายสูงทั้งนักลงทุนบุคคลและกองทุน ซึ่งตลาด OTC เป็นการซื้อขายหุ้นในแบบปิดจึงมีขั้นตอนในการซื้อขายหุ้นซึ่งไม่สามารถจะทำได้ทันทีเหมือนกับการซื้อขายในตลาดรอง




 
       หากผู้ลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในช่วงที่ใกล้เคียงกับการยื่น Filing เพื่อที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ราคาที่ซื้อขายอาจจะสูงขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงที่กิจการจะไม่สามารถเข้า IPO ได้มีน้อยลง โดยมูลค่ากิจการจะยังไม่นำค่า P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้นๆ มาคำนวนเป็นมาตรฐาน

 
       ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหารกำลังซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลานั้นมีค่า P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 20 เท่า ราคาที่ซื้อขายในตลาด OTC จะต้องน้อยกว่านั้นเนื่องจากผู้ลงทุนมีความคาดหวังในการขายทำกำไรเมื่อบริษัทสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ด้วยค่าเฉลี่ยของ P/E เทียบเคียงกับอุตสาหกรรม




 
        ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ตลาด OTC ถือว่ามีการเติบโตและมีสภาพคล่องซื้อขายที่ค่อนข้างสูงและบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มักจะผ่านตลาดนี้มาก่อนที่จะ IPO  แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการมากนัก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงแม้จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในช่วงที่มูลค่ากิจการยังไม่สูงมาก
 
         การระดมทุน OTC ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าของกิจการในการเข้าสู่บริษัทมหาชนที่มีผู้ลงทุนจำนวนมากด้วยการเปิดรับนักลงทุนเฉพาะกลุ่มจำนวนไม่เกินสิบรายที่มีความคาดหวังกับการสร้างผลตอบแทนหลังนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

ทีทีบี มอบรางวัล 12 องค์กรดีเด่น ร่วมส่งเสริมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ให้พนักงานในองค์กร

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศรางวัล “ttb financial well-being awards 2023” ให้กับ 12 องค์กรชั้นนำ เพื่อตอกย้ำพันธกิจสำคัญในการสร้างชีวิตทางการเงินให้พนักงานในองค์กรมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

7 เรื่องต้องรู้ กู้เงินแบบไหนอนาคตสดใส ไม่ตกเป็นทาสหนี้

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องเป็น เป็นแบบไหนถึงจะดี ชวนผู้ประกอบการมาดู 7 ข้อต้องห้ามกู้เงินแบบไหนไม่ให้ตกเป็นทาสหนี้กัน