HWC Coffee Roaster นักคัดสรรกาแฟทั่วโลกที่พร้อมจะปักหมุดหมายในไทย




           หากมองดูตลาดเครื่องดื่มในไทย ผู้บริโภคกำลังคลั่งไคล้ Specialty Coffee และพร้อมควักเงินในกระเป๋าเพื่อซื้อกาแฟคุณภาพดีสักแก้วมาดื่มแทบทุกวัน ในปี 2563 ตลาดกาแฟสดมีมูลค่ามากถึง 4,119 ล้านบาท และเติบโตประมาณ 5.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แม้แต่ในช่วงโควิดที่คนใช้จ่ายน้อยลงแต่ก็ยังยอมจ่ายค่ากาแฟอยู่ดี จะว่าไปแล้วหากจะลงทุนทำธุรกิจสักอย่างการเปิดร้านกาแฟจึงยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
               

           HWC Coffee Roaster แบรนด์กาแฟ Specialty Coffee จากไต้หวันก็มองเห็นศักยภาพของตลาดเครื่องดื่มในไทย จึงตัดสินใจปักหมุดขยายสาขาแฟรนไชส์มาประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



 

กาแฟที่เริ่มต้นจากคุณภาพ

 
               
             คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อแบรนด์ HWC Coffee Roaster แต่ที่ไต้หวันมีคาเฟ่ HWC กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศกว่า 70 สาขาในเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น และความน่าสนใจอยู่ที่การไต่ขึ้นเป็นแบรนด์กาแฟที่ได้รับความนิยมในโลกอินเตอร์เน็ตเป็นอันดับ 1 ในไต้หวันแซงหน้าแบรนด์ใหญ่แม้แต่สตาร์บัคส์ด้วยหลายเหตุผล
               

            อย่างแรกคือ คุณภาพของเมล็ดกาแฟ ที่เป็นทั้งแพสชั่นและหัวใจหลักอันดับ 1 ของธุรกิจ HWC หรือชื่อในภาษาจีนว่า Heiwo Coffee แปลว่าดินดำที่มีความอุดมสมบูรณ์ และดินที่สมบูรณ์นี่เองจะสามารถผลิตกาแฟที่ดีได้


            แบรนด์มีไร่กาแฟที่ประเทศปานามาซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่ดีที่สุดในโลก กาแฟจากไร่นี้เคยได้รับรางวัล Champion of 2017 B.O.P Traditional แต่แค่นั้นยังไม่พอ Penny Lin ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ HWC Coffee Roaster มักจะเดินทางไปทั่วโลกเพื่อคัดสรรเมล็ดกาแฟคุณภาพจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นโคลัมเบีย เอธิโอเปีย บราซิล อินโดนีเซีย ฯลฯ และนำเข้ามาคั่วในโรงคั่วที่ได้มาตรฐานทั้ง ISO 22000 และ HACCP International Certified Factory และ Halal Certified Factory เรียกได้ว่ารองรับการส่งออกในทุกรูปแบบ





หัวใจดวงที่ 2 “นวัตกรรม”

               

           Black Geisha Coffee Icecreeam ที่นำกาแฟเกอิชาสายพันธุ์ที่แพงที่สุดในโลกมาผลิตเป็นไอศกรีมสีดำ

           RTD Bullet Proof กาแฟผสมน้ำมันมะพร้าวพร้อมดื่มที่เจาะกลุ่มคนกินอาหารคีโต และเพิ่มความสะดวกด้วยการวางขายใน 7-11 ทั่วไต้หวัน

            Brown sugar bubble café latte ที่นำชานมไข่มุกมาผสมกับกาแฟ


           ที่ว่ามา 3 เมนูข้างบนเป็นแค่ตัวอย่างนวัตกรรมด้านโปรดักต์ที่มาต่อยอดกาแฟคุณภาพ ทำให้ HWC แตกต่างจากแบรนด์กาแฟอื่นๆ ที่มีอยู่ในไต้หวันอย่างเห็นได้ชัด Rain ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลกของ HWC (Global BD Manager) บอกกับ SME Thailand ว่า Brown sugar bubble café latte จะเป็นตัวเอกในการบุกตลาดในไทย



               

             และเมื่อบอกไปแล้วว่าเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมจึงไม่ใช่แค่ด้านผลิตภัณฑ์ HWC ได้หยิบเอาเทคโนโลยีกับ AI สร้างเป็นนวัตกรรมที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค
               

             ลองนึกภาพว่าลูกค้าเดินเข้าร้านกาแฟที่มีเมล็ดกาแฟให้เลือกจากแหล่งปลูกทั่วโลกพวกเขาจะเลือกอย่างไร แต่แพลตฟอร์มที่เรียกว่า HWC exclusive Service- Coffee Consultation จะช่วยให้สามารถเลือกเฟ้นหากาแฟที่พวกเขาชอบที่สุดได้ บาริสต้าจะใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อเสิร์ชและเก็บข้อมูลจากลูกค้าเพื่อช่วยเลือกกาแฟที่ถูกปากถูกใจให้ ขณะเดียวกันก็พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มดีกรี CRM ที่ถูกใจลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วยระบบสมาชิก การสะสมยอด และใช้สิทธิโปรโมชันได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
               

         “ที่เรามาโฟกัสเรื่องเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว แต่โควิด-19 ทำให้เราต้องเดินกลยุทธ์นี้เร็วขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว เราจึงเพิ่มประสบการณ์ให้การซื้อกาแฟไม่ว่าจะเป็นระบบสมาชิก การให้ความรู้เรื่องกาแฟและเชื่อมต่อข้อมูลลูกค้าทั่วประเทศเข้าด้วยกัน และเรามีทีมไอทีเป็นของตัวเองเพราะหวังว่าจะสามารถเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันใจ"
               

          และนวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ HWC จะใช้บุกตลาดต่างประเทศด้วย



               


เริ่มที่กรุงเทพฯ ประตูสู่อาเซียน

 
               
       ก่อนหน้านี้ HWC ทำตลาดต่างประเทศโดยการส่งออกโปรดักต์ไปในหลายๆ ประเทศ รวมถึงการทำ OEM ให้กับแบรนด์ต่างๆ แต่ก้าวต่อไปคือการขยายสาขาคาเฟ่เข้าไปเสิร์ฟประสบการณ์การดื่มกาแฟนอกแผ่นดินเกิด และไทยคือหมุดหมายแรก
               

       ทำไมต้องเป็นประเทศไทย?


        Rain ให้คำตอบว่า “เรามองประเทศไทยเป็นที่แรกเพราะไทยเป็นผู้นำเทรนด์ในภูมิภาค ถ้าเราเปิดที่ไทยได้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซียก็จะเริ่มมองเห็นเรา”


       อีกอย่างหนึ่งเมื่อมองพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยชื่นชอบชานมไข่มุกเมนูดังจากไต้หวันเอามากๆ ไปพร้อมๆ กับการเติบโตของตลาดกาแฟที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตของเมืองไทย จึงเป็นโอกาสที่ HWC จะเข้ามาจับกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบชานมไข่มุกและกาแฟไปได้พร้อมๆ กัน


        “เราจะ educate ลูกค้าผ่านประสบการณ์ในการใช้แอปพลิเคชัน แล้วก็ทำให้ผู้บริโภคที่เข้ามาดื่มกาแฟ หรือเพิ่งเริ่มดื่มกาแฟได้ค่อยๆ เพิ่มการรับรู้คุณภาพของกาแฟ อาจจะเริ่มดื่มจากตัวที่เป็นกาแฟผสมชานมไข่มุก แล้วค่อยมาเริ่มดื่มกาแฟแบบอื่นๆ ที่เราคัดสรรมาให้จากทั่วโลก”
  

        เรียกได้ว่า HWC จะมาสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับวงการกาแฟเมืองไทยเลยทีเดียว



 
               
        HWC Coffee Roaster เป็น 1 ใน 20 แฟรนไชส์ไต้หวันที่จะร่วมงานเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ จัดโดย สมาคมแฟรนไชส์ไต้หวัน (Association Chain and Franchise Promotion Taiwan) และ บริษัท จีโนซิส จำกัด ที่ปรึกษาแฟรนไชส์


        โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมประชุมออนไลน์แบบตัวต่อตัว ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ผู้ที่สนใจสามารถจองเวลาประชุม ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ที่ https://www.gnosisadvisory.com/newsroom/แฟรนไชส์ไต้หวัน-2021/
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?