Starting a Business

CHOM hand craft อดีตมนุษย์เงินเดือนออกจากงาน มาปั้นแบรนด์ผักตับชวา เพิ่มมูลค่าจนเข้าไปขายในห้างดัง

 

     เพราะรู้ตัวว่าคงไม่เหมาะกับการทำงานประจำ ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่เดินทางสายนี้และจะออกมาปั้นธุรกิจของตัวเอง จนในที่สุดก็กลายเป็นแบรนด์ผักตบชวาที่มีเอกลักษณ์เก๋ไก๋ไม่เหมือนใครจนได้ไปขายในห้างดัง! “แอล-อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม” คือผู้ก่อตั้งแบรนด์ CHOM hand craft ร่วมกับคุณแม่ของแฟน “ชม รอดรัตน์”

     โดยเธอมองเห็นคุณค่าของงานฝีมือชุมชนและยังมองเห็นจุดบอดของงานฝีมือเหล่านี้ที่โดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้เธออยากเข้ามาเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้แก่งานฝีมือของแม่ จนสามารถขายได้ในราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

 

 

     แอลเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเริ่มปั้นแบรนด์ CHOM hand craft โดยเธอได้มีโอกาสฝึกงานในสายการโรงแรมเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เธอได้รู้ถึงความต้องการของตัวเองว่าการทำงานประจำ ไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการในอนาคต

     “ในระหว่างที่แอลได้ฝึกงาน แค่ 2 อาทิตย์แรกเราก็รู้สึกแล้วว่าเราไม่เหมาะกับระบบงานประจำ เรามีเป้าหมายการใช้ชีวิตที่ถ้าทำงานประจำอยู่ ช่องว่างของชีวิตตรงนั้นที่เราต้องการจะหายไป พอรู้ตัว เราก็คิดว่าเอาล่ะ เธอไม่เหมาะกับสิ่งนี้ แต่ระหว่างนั้นก็ทำให้ดีที่สุดแล้วก็คิดไปด้วยว่าจะทำอะไรต่อไป”

     หลังจากเธอฝึกงานเสร็จก็เริ่มกลับมาสำรวจตัวเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยเธอมีสกิลของการถ่ายภาพและได้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์มาจากการฝึกงานพร้อมทั้งได้รู้ว่าคุณแม่ของแฟนทำงานฝีมือมากว่า 10 ปี

     “มันเป็นจังหวะที่เรารู้ว่าแม่ของแฟนเราทำงานฝีมือคืองานผักตบชวามาเป็น 10 ปีและปัญหาที่เจอคือพ่อค้าคนกลางตัดราคา กดราคา เราคิดว่าน่าสนใจ เราเลยเริ่มทำ CHOM hand craft ในช่วงปี 4 เริ่มแค่เล็กๆ น้อยๆ เราลองมานั่งคำนวนดูว่าเราอยากทำสิ่งนี้ในระยะยาว โดยใช้เวลาประมาณ 10ปีเพื่อเห็นผลเราเลยวางแผนในใจว่าจะลองทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดในเวลา 5-10ปีเพื่อดูผลลัพธ์”

 

 

     แต่ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว โดยแอลเล่าว่า 2 ปีแรกนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นที่แป้ก เพราะเธอยังต้องต่อสู้กับภาพจำเดิมๆ ของสินค้า มีช่วงเวลาที่ยังจับทางไม่ถูก ทำให้เธอห่างจากแบรนด์ไป 1 ปี ก่อนที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่และทำให้แบรนด์ CHOM hand craft นั้นปังขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบัน

     “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่งานเรายังไม่ใช้คำว่าคราฟท์และเรายังอยู่กับคำว่า OTOP เป็นตะกร้าทำบุญเฉยๆ ยังไม่ได้ฟีลเก๋ ชิลๆ แบบไปทะเล ตอนนั้นเรายังเริ่มต้นและต่อสู้กับขนบเดิมของภาพจำของงาน แต่ข้อดีคือแม่ทำงานนี้มานาน สามารถทำงานฝีมือจากผักตบเป็นของหลายประเภท เขามีความทะเยอทะยานสูงในการฝึกฝนให้ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่แผ่นรองจานจนถึงเฟอร์นิเจอร์ นี่คือจุดแข็ง และช่วงแรกเรายังไม่รู้และใหม่มากในวงการนี้ เรายังไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ตอนนั้นเราทำขายคนวัยเดียวกันกับเรา ซึ่งสวนทางกับช่วงเวลานั้นที่ตัวงานมันโตเป็นวัย Gen X ขึ้นไปที่จะชอบงานแบบนี้ เราเลยบอกแม่งั้นอะไรที่แม่คิดว่าขายดี ลองทำมาก่อน ก็ทำกระเป๋าทรงตะกร้ามีหูคล้องแขน แต่ก็มีหลายเจ้าเขาทำอยู่แล้วและขายถูกกว่าเรา ตัดราคากัน”

 

 

     จุดเด่นของแบรนด์ CHOM hand craft ที่แตกต่างจากงานผักตบชวาแบรนด์อื่นคือการดีไซน์ให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง มีการใช้สีสันเข้ามาเพิ่มความสนุกให้กับชิ้นงานทั้งยังไม่ได้ตีกรอบว่างานผักตบชวาต้องเป็นแค่กระเป๋าเท่านั้น แต่เธอขยายขอบเขตไปสู่สินค้าประเภทต่างๆ อาทิ ของใช้สัตว์เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์ มีการใส่ลูกเล่นเข้าไปในงานจนทำให้เธอสามารถโดดเด่นได้ท่ามกลางสงครามราคาและการโดนก้อปปี้

     “เราเริ่มจากงานสี คุยกับแม่ว่าลองงัดงานเก่าๆ มาทำสีแบบนั้นดีไหม เพราะงานเก่าๆ ยังเป็นสีธรรมชาติเพียวๆ เราเลยทำงานสีมากขึ้น ข้อดีคือทุกวันนี้งานแอลที่เป็นภาพจำคือกระเป๋าสีสันสดใส มีชื่อ มีพู่บางอย่าง เป็นความดิบที่สดใสหน่อยๆ มีเพื่อนไปเจอร้านอื่นเขาลอกแล้วถ่ายรูปมาให้ดู เขาจำได้ว่ามันคือฟอร์มของเรา การค้นพบงานตัวเอง ข้อดีคือจะมีคนจดจำเราได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ลดการถูกลอกเลียนแบบ ทุกวันนี้เราไม่ซีเรียสแล้ว เราคิดว่าถ้าคุณลอกเราจนเหมือนขนาดนั้นแล้วยังมีคนจำเราได้ก็ไม่เป็นไร เราคือคนคิด เราคือต้นขั้ว และเรามีความสามารถพอในการคิดงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น เราเลยใช้วิธีปล่อยงานนี้หมดแล้ว ไม่ทำแล้ว ใช้วิธีการนี้ให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันพิเศษ ถ้าอยากได้สินค้าที่มีความพิเศษและออริจินัล มันยังมีตลาดกลุ่มนี้อยู่ เราจะเรียกสิ่งที่ตัวเองขายว่าชิ้นงาน เพราะมันอยู่ในทุกหมวด บางเดือนแอลขายกระเป๋า สมมติอยากขายกระเป๋าใบนี้ เราจะโปรโมตกระเป๋าใบนี้เป็นพิเศษ แต่จะมีงานหลังบ้าน บางคนทักมาอยากได้หมอนค่ะ สั่งหมอนกลมก็มี เราอยากให้งานของเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในทุกๆ พาร์ทของเขาโดยที่เป็นประโยชน์มากที่สุด เลยทำสินค้าค่อนข้างหลากหลาย”

     ปัจจุบันแบรนด์  CHOM hand craft มีขายทั้งในโลกออนไลน์และห้างสรรพสินค้า โดยแอลเล่าว่าจุดเริ่มต้นที่นำแบรนด์เข้าห้างนั้นมาจากโครงการ SACICT Concept 2020 ที่มองหางานฝีมือของภาคเอกชน ทำให้เธอได้พัฒนาชิ้นงานและเป็นที่น่าจดจำจนเป็นจุดเริ่มต้นของการวางขายใน Iconsiam และ Siam Discovery

     “2 ปีที่แล้วเราได้ร่วมโครงการ  SACICT Concept 2020  ปีนั้นเรามีการร่วมงานกับดีไซเนอร์และทำชิ้นงานให้ไปได้ไกลมากขึ้น เราทำงานหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า UPALA เป็นกระเป๋าที่มีการออกแบบจากหินโอปอล ใช้สีที่มีความซับซ้อนจนได้เผยแพร่ไปไกลมากในวันเปิดตัว ทางห้างไอคอนสยามกับสยามดิสคัฟเวอรี่ก็สนใจในงานเรา เป็นทางที่ทำให้เราได้ทำงานไปขายที่นั่น ปีหนึ่งเราจะส่งของเข้าไปประมาณ 1-2 ครั้ง โดยเราจะดูสถานที่จัดจำหน่ายว่าคาแรกเตอร์เป็นประมาณไหน อยากทำงานที่ตรงกับพื้นที่ที่เราส่งไปขาย ไม่อยากทำกระเป๋าแบบเดียวกัน แล้วขายเหมือนกันทุกที่ เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกสนุก ว่าแบรนด์นี้เอาของมาขายที่นี่อีกแล้ว คราวหน้าจะมีอะไรไปวาง”

 

 

     แต่หนึ่งในสิ่งที่น่าเศร้าของวงการงานฝีมือนั่นคือเรื่องของภาพจำว่างานฝีมือต้องราคาถูกรวมถึงเรื่องการตัดราคาจากพ่อค้าคนกลาง โดยแอลได้เสริมว่าการทำแบรนด์  CHOM hand craft เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทำงานฝีมือได้เห็นว่าเราสามารถเพิ่มมูลค่าในงานของตัวเองได้เพื่อค่าแรงที่เหมาะสม

     “บ้านเราดันติดภาพว่ามันต้องราคาถูก แอลเคยเห็นคุณย่าคุณยายที่ทำกระเป๋าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้ค่าจ้างใบละ 40 บาท ตอนนี้ก็ยังได้ 40 บาทอยู่ มันเกิดจากพ่อค้าคนกลาง เราต้องการจะทำลายระบบนี้ด้วยการทำของเราให้ดีก่อน และหลายครั้งมีคุณป้าหรือคนในชุมชนมาปรึกษา เราก็พร้อมจะช่วย เราไม่ได้ต้องการให้ระบบพ่อค้าคนกลางมากดราคาช่างฝีมือ จริงอยู่คุณก็มีต้นทุนในมุมของคุณ แต่ต้องแฟร์กับช่างฝีมือในการได้ค่าแรงที่เหมาะสมด้วย”

     โดยแอลได้ปิดท้ายว่าแท้จริงแล้ว คุณค่าของงานฝีมือไทยนั้นสามารถไปได้ไกลกว่านี้ หากว่าทุกคนมีจุดยืนของตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบและทำงานที่เหมือนกันออกมาในทุกพื้นที่ แต่หาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอเหมือนการทำงานแบบปรัชญาญี่ปุ่น จะช่วยให้งานฝีมือไทยไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน

     “วิธีการทำงานของแอล เรามองปรัชญาญี่ปุ่น เมื่อก่อนจะมีเสื้อที่เขียนว่า ‘ถึงจัดหวัดเลยแล้ว’ ต่อมาก็มีเสื้อแบบนี้อยู่ทุกจังหวัดเลย แต่ญี่ปุ่นจะไม่ทำแบบนั้น ถ้าจังหวัดนี้ อำเภอนี้ สิ่งนี้โดดเด่น จังหวัดข้างๆ ก็จะมองว่า เห้ย อันนี้ทำไม่ได้แล้วนะ มีคนทำไปแล้ว เราจะต้องทำอย่างอื่น งานของแอลก็เหมือนกัน แพทเทิร์นงานสานไม่ได้มีเยอะ มันมีโอกาสคล้ายกันได้ แต่เราจะสำรวจก่อนว่างานเราไม่ได้ไปซ้ำใครใช่ไหม ให้เกียรติคนที่ทำไปแล้วและให้เกียรติตัวเองด้วย การทำงานซ้ำกันเยอะ แม้จะขายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้วงการงานฝีมือมันเติบโต บ้านเราจำเป็นต้องหาความเฉพาะตัวเพื่อที่แบรนด์คุณ งานคุณจะเป็นที่น่าจดจำ และทำให้วงการมันเติบโตได้ มันเป็นจำการแข่งขันในรูปแบบที่งดงามและลูกค้าก็จะได้งานที่ดีไปด้วย” เธอเล่าปิดท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup