Starting a Business

อดีตนักร้องกลางคืนปั้นร้านไก่ทอดเกาหลี จากรายได้หลักสิบสู่หลักแสน เริ่มต้นจากครัวหน้าห้องน้ำ

 

     เพราะความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร อยู่ที่ว่าคุณกล้าจะทุ่มให้สุดกับความฝันของตัวเองมากแค่ไหน! เหมือนอย่างชายคนนี้ที่ล้มลุกคลุกคลาน เจอกับช่วงเวลาดาวน์ของชีวิต โดนไล่ที่ขายของ ต้องปล่อยให้รถโดนยึด จนเขาตั้งหลักและกลับมายืนได้อีกครั้ง จากไก่ทอดเกาหลีหน้าโรงเรียนสู่ไก่ทอดเงินแสนที่จับทางบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี นี่คือร้าน “โมแรไก่ทอดเกาหลี” ณ จังหวัดอุบลราชธานี

 

 

     โดยตั้ม - วัชระ คณะศรี อดีตนักร้องกลางคืนที่เคยติดชีวิตกินดื่มเที่ยวได้หวนกลับมามองชีวิตตัวเองว่าต้องมั่นคงกว่านี้ ทำให้เขามองหาการสร้างรายได้เสริมจากการร้องเพลง ไม่ว่าจะเป็นการขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด ขายอาหารทะเล แต่ก็ไปไม่รอดสักธุรกิจ จนมาปิ๊งไอเดียการขายไก่ทอดเกาหลีจากแฟนของเขา หทัยขวัญ สีหะวงษ์ ที่เธอชื่นชอบการดูซีรีส์เกาหลี จนเริ่มทดลองทำไก่ทอดเกาหลีสูตรของตัวเอง ในที่สุดก็ลองตลาดด้วยการโพสต์ขายในกลุ่มหาของกินอุบลฯ

     “ก่อนค้าขายผมทำงานเป็นนักร้องกลางคืน ใช้ชีวิตวัยรุ่นทั่วไป แล้วมาคิดได้ตอน 24 ว่าร้องเพลงไปมันไม่มีอนาคต เราจะหาอะไรมาเสริมดี ความรู้ก็ไม่มีเยอะ แต่เราพอจะค้าขายได้ 5 ปีที่แล้ว แฟนผมทำไก่ทอดมาให้ชิม เป็นไก่ทอดเกาหลี ก็อร่อยนะ แล้วยังไม่มีใครขายด้วย ตอนนั้นไก่ทอดที่ดังสุดคือบอนชอน เพิ่งมาใหม่ๆ เราก็ เห้ย ทำอันนี้ขายไหม มันยังไม่มีใครทำ แต่ก็ยังอร่อยไม่พอ เราเริ่มปรับสูตร ดูจากยูทูป ใช้เวลานานเกือบปี ก็เริ่มโพสต์ขายในกลุ่มและในเฟซบุ๊กตัวเองด้วย”

 

 

     หลังจากเริ่มโพสต์ขายในกลุ่ม ก็มีลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ประมาณพันบาทต่อวัน ซึ่งตั้มจะใช้วิธีโพสต์ขายและขับรถไปส่งเอง เนื่องจากช่วง 5 ปีที่แล้วยังไม่มีแอปพลิเคชันเดลิเวอรีเหมือนในทุกวันนี้ และจุดเปลี่ยนของเขาตอนนั้นคือมีลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่เป็นลูกค้าประจำถามว่าทำไมถึงไม่ไปตั้งร้านขายที่ข้างโรงเรียน ทำให้ลองดูตามคำบอกของนักเรียนกลุ่มนั้น

     “ตอนนั้นเราทำส่งเอง พรีออเดอร์และก็ไปส่ง ขายได้เรื่อยๆ ไม่ได้เยอะมาก และยังดีที่เราร้องเพลงอยู่ จนมีช่วงหนึ่งที่เด็กนักเรียนดังที่จังหวัดอุบลฯ เขามาสั่ง แล้วสั่งทีเยอะมากๆ จนทอดไม่ทัน 10-20 ชุด เหมือนเด็กๆ เขาเป็นกลุ่มแล้วสั่งทีเดียวกินด้วยกัน เขาก็มาบอกว่า ทำไมไม่มาขายข้างโรงเรียนเลย ถ้ามาขายนะ จะซื้อทุกวัน ผมก็งั้นลองดีกว่า แต่เราไม่มีทุนอะไร อุปกรณ์ก็บ้านๆ ก็คิดว่าจะต้องซื้ออะไรบ้าง ตอนนั้นหายืมนอกระบบมา 2 หมื่นบาท ถ้าเจ๊งตอนนั้นคือตายแน่ แต่เรามีกลุ่มลูกค้าในมือ พอเราเริ่มขายก็ทักบอกน้องๆ พี่มาขายแล้วนะ วันแรกที่ขายหมดเกลี้ยง แล้วก็ขายดีทุกวัน 3,000 บาท 4,000 บาท บางวันแตะ 8,000 บาท”

     จุดพลิกชีวิตมาถึงอีกครั้ง เมื่อเขาขายไก่ทอดเกาหลีข้างโรงเรียนได้ประมาณปีกว่า ก็มีการประกาศจากโรงเรียนออกมาว่าห้ามขายของข้างโรงเรียนอีกต่อไป ทำให้เขาต้องตัดใจปิดร้านไก่ทอดเกาหลีข้างโรงเรียนและย้ายไปอยู่จังหวัดใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของแฟน โดยเขามองทำเลโรงเรียนใหญ่ในเมืองแบบเดิม แต่เนื่องจากบ้านแฟนอยู่ไกลจากตัวเมือง ทำให้เขาตัดสินใจออกรถกระบะ เพื่อขับไปกลับขายของ โดยตั้มเล่าว่าร้านขายไก่ทอดเกาหลี ณ เวลานั้น ก็ขายดี แต่ไม่ได้ดีเท่าตอนที่อยู่อุบลฯ เขาขายอยู่ประมาณ 1 ปีก็ตัดสินใจย้ายกลับมาที่อุบลฯ เพื่อที่จะขายในงานกาชาด ช่วงปี 2019

     “ตอนนั้นเราก็ประคองได้ แต่ก็ไม่ได้ดีมาก เราตัดสินใจกลับมาอุบลฯ ขายในงานกาชาดช่วงปี 2019 ค่าที่แพงมาก แต่เราก็ได้กำไรกลับมานิดหน่อย หลังจากนั้นเราก็คิดว่าจะขายที่ไหนต่อดี ขายที่ตลาดใกล้บ้านก็ขายไม่ได้ ได้แค่วันละ 50 บาท 100 บาท 200 บาท ผมท้อมากตอนนั้น คิดในใจว่าเราทำอะไรอยู่วะ นอนร้องไห้เลย เลยหยุดการขายไก่ทอดก่อน รถก็ปล่อยยึดเลย ไม่สนอะไรตอนนั้น แล้วช่วงมกราคม 2020 โควิดยังมาไม่แรง ผมนอนว่างงานอยู่เดือนหนึ่ง แฟนก็เริ่มหางานทำแล้ว ตอนนั้นผมดาวน์มาก ถ้าเป็นซึมเศร้าคงฆ่าตัวตาย แต่เรายังมีเพื่อนนักดนตรีอยู่ ขอไปร้องเพลงเขาก็ไม่เอาเพราะมีวงใหม่แล้ว ผมเลยสมัครเป็นเด็กเสิร์ฟ ม้าเร็วร้านเหล้า ทำได้ 2 อาทิตย์ปรากฎว่าโดนล็อกดาวน์ ตอนนั้นเราได้เงินมาประมาณ 2,000 บาท”

 

 

     หลังจากนั้นเขากำเงิน 2,000 ก้อนสุดท้าย มาลงทุนร้านขายไก่ทอดเกาหลีอีกครั้ง โดยได้คำพูดหนึ่งของเพื่อนเป็นแรงฮึดทำให้เขาตัดสินใจว่าจะไปให้สุดในเส้นทางนี้

     “ผมกำเงิน 2,000 ของผม ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แฟนเลยบอกงั้นลองกลับมาทำไก่ทอดเกาหลีดูไหม ผมก็คิดว่าเอายังไงดี มันไม่มั่นใจ ไม่กล้า ของเรามันอร่อยจริงไหมวะ ครัวก็ไม่มี ทำอยู่ที่ซอกเล็กๆ หน้าห้องน้ำ โทรมมาก แต่ก็มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เรานั่งคุยกัน เพื่อนบอกว่า…ของมึงอร่อยนะ แต่มึงยังไปไม่สุดเอง เราก็กลับมาคิด เออว่ะ เรายังไปไม่สุดจริงๆ ทำให้ผมมีพลังขึ้นมา เอาวะ งั้นลองอีกครั้ง เลยทำเหมือนเดิม โพสต์รูปขาย รูปเก่านั่นแหละ ก็มีลูกค้าเก่าๆ กลับมาสั่ง ตอนนั้นใกล้ไกลผมไปส่งหมด ก็เหนื่อย ขายดี แต่ยังดีไม่สุด ขายได้วันละ 1,500 - 2,000 บาท”

 

 

      จุดเปลี่ยนชีวิตมาถึงอีกครั้ง เมื่อมีเพื่อนแนะนำให้เขานำร้านไก่ทอดเกาหลีเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี ทำให้เขาเริ่มศึกษาการเข้าไปขายในแอปฯ และเริ่มทดลองยิงโฆษณาในเฟซบุ๊กเพื่อทำให้ลูกค้าได้รู้จักร้านของเขามากขึ้น ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

     “เพื่อนมาแนะนำว่าทำไมไม่ลองเข้าแอปฯ เดลิเวอรี ตอนนั้นมีทั้ง Grab, Foodpanda แต่ผมไม่รู้ก็ลองสมัครดู สมัครยากมากเพราะคนเขาสมัครเยอะ มันล็อกดาวน์ ตอนแรกเราลองขายใน Foodpanda ได้วันละ 100-200 บาทเราก็ดีใจมากๆ คิดว่ามันไปได้ ถ้าลูกค้ารู้จักเราเยอะกว่านี้ ทีนี้เราก็เริ่มหาข้อมูล จนรู้จักการยิงโฆษณา แต่รูปเราตอนนั้นมันง่อยไง ไม่ได้สวยงาม เลยถ่ายใหม่ด้วยมือถือ แต่ก็มีการศึกษามุมถ่ายภาพ มีพร้อพ เสร็จแล้วก็ยิงโฆษณาในเพจ วันละ 50 บาท เน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น 15-30 ปี พื้นที่ในจังหวัดอุบลฯ ไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากที่เราอยู่ จะได้ส่งทั่วถึง ประมาณ 1 เดือน ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นวันละ 3,000 บาทขั้นต่ำ พีคสุดก็ 10,000 บาทต่อวัน ถามว่าร้านขายไก่ทอดเกาหลีเยอะไหม เยอะมากๆ แต่ร้านผมถูกใจลูกค้าตรงเราเอาใจเขา แล้วก็รสชาติ ที่ผมไม่เคยมั่นใจ แต่ลูกค้าก็จะบอกว่าอร่อยมาก เราก็ปรับปรุงแก้ไขมาเรื่อยๆ ปัญหามันเยอะสุดๆ”

 

 

     โดยตั้มได้แนะนำสำหรับคนที่อยากขายอาหารในแอปฯ เดลิเวอรีที่มีข้อดีคือคุณสามารถขายที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีหน้าร้านก็ขายได้ แต่ข้อควรระวังคือการดีลกับไรเดอร์ ควรคิดเสมอว่าไรเดอร์คือลูกค้าและให้ระวังเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนในบางครั้งที่แอปฯ ล่ม ธุรกิจยังรันต่อได้ถ้าคุณมีเงินหมุนเวียน

     “ให้คิดเสมอว่าไรเดอร์คือลูกค้า บางทีเขามารับอาหาร เขาหัวร้อนนะ มันรอนานด้วย ร้อนด้วย ผมเข้าใจความรู้สึกเขา ก็เอาพัดลมอะไรมาตั้งให้และพยายามคุยกับเขาให้เพราะๆ อย่าไปหัวร้อนกับเขา นอกจากนี้มันจะมีบางวันที่แอปฯ ล่ม เงินเข้าช้า คุณจะต้องมีเงินทุนสำรองหมุนต่อวัน ต้องจัดการทำการบ้านของคุณเอง”

     ตั้มได้ปิดท้ายถึงหัวใจในการทำร้านอาหารในแบบของเขาให้ประสบความสำเร็จ จากเคยขายดีและต้องล้มลุกคลุกคลานจนกลับมายืนได้อีกครั้งแต่มาในรูปแบบที่แกร่งกว่าเดิม ขายดีกว่าเดิม

     “เรารู้สึกว่าที่เรากลับมาสู้อีกครั้งเพราะเราถอยไม่ได้แล้ว ถ้าเราล้มแล้วคนข้างหลังเราล่ะ ความพยายามของคนเราไม่เท่ากัน อาหารที่ผมขายก็เฉพาะกลุ่ม แต่เรามีฐานลูกค้า เรารู้ว่าลูกค้าคือใคร แต่เราต้องพยายามแบบให้สุดๆ ให้บ้าคลั่งไปเลย ต้องอินกับสินค้าที่เรามี ต้องมั่นใจว่าเราขายได้ เราทำอร่อย เราแตกต่าง มันไม่มีความง่ายสำหรับงานนี้แต่ก็ไม่มีความยากใดเท่ากับความพยายามของเราหรอก” เขาเล่าปิดท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup