รู้จัก “Sunsawang” ที่อยากให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้ใช้พลังงานสะอาดในแบบผ่อนได้

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
 
  • การทำธุรกิจทุกวันนี้ต่างมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย และโมเดลในการทำก็มีหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม แนวคิดการทำธุรกิจที่ได้ทั้งผลตอบแทนในเชิงธุรกิจและยังได้แก้ปัญหาสังคมไปพร้อมกันด้วย
 
  • “Sunsawang” คือหนึ่งในผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เพื่อให้บริการแก่ชุมชนที่อยู่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้ แถมมีรูปแบบการทำธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย โดยสามารถผ่อนจ่ายได้ในระยะเวลา 5 ปี ทำให้ทุกครัวเรือนสามารถมีไฟฟ้าใช้ได้ในราคาย่อมเยา ขณะเดียวกันธุรกิจก็สามารถดำเนินต่อไปได้อีกด้วย



     หนึ่งในวิธีการที่ทุกวันนี้สามารถช่วยโลกได้ ก็คือ การใช้พลังงานสะอาด อย่างเช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานธรรมชาติที่จะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลกในภายหลัง


     “Sunsawang” คือหนึ่งในผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานกว่า 7 ปี การทำธุรกิจของพวกเขา ไม่เพียงแต่เป็นผู้ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ เพื่อใช้เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์แปลงมาเป็นไฟฟ้าใช้ในบ้านเรือนเท่านั้น แต่โมเดลการทำธุรกิจของ Sunsawang ยังน่าสนใจไม่น้อยอีกด้วย โดยพวกเขาเป็นผู้ให้บริการแผงโซลาเซลล์ผ่อนได้ที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเป็นเมือง ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้ชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ได้มีแสงสว่างใช้ของตัวเองในราคาจับต้องได้ ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 5 ปี





     “สาลินี เฮอร์ลีย์
” ผู้บุกเบิกและก่อตั้ง Sunsawang เล่าที่มาของธุรกิจให้ฟังว่า เธอเองเรียนจบทางด้านวิศวกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบจึงอยากใช้วิชาความรู้ที่มีมาพัฒนาสังคม แต่ในยุคแรกนั้นการใช้แผงโซลาเซลล์เพื่อเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ยังมีราคาค่อนข้างสูงมาก เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริงได้ เธอจึงเริ่มออกระดมทุน เพื่อขอทุนสนับสนุนและนำมาใช้ในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ให้กับชุมชนบ้านเรือนต่างๆ ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและยังไม่มีไฟฟ้าใช้


     “เมื่อประมาณกว่า 10 ปีก่อน ในขณะนั้นการติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อนำมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างแพงมาก แผงหนึ่งตกประมาณกว่า 20,000 บาท  วิธีการที่เราจะทำได้ ก็คือหาเงินทุนเพื่อนำมาทำและติดตั้งให้กับชุมชนต่างๆ ที่เดือดร้อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การทำงานของเราในช่วงเริ่มแรกจึงเป็นลักษณะของ NGO แต่หลังจากทำไปสักระยะหนึ่งก็พบกับปัญหา เพราะนำไปติดตั้งเสร็จแล้วก็จบกัน บางทีเกิดเสียขึ้นมา ก็ไม่ได้มีการเข้าไปซ่อมแซมให้ เพราะเงินทุนที่เราได้มาก็หมดไปแล้ว มาในช่วงหลังเมื่อแผงโซลาเซลล์มีราคาถูกลงจากหลักหมื่นเหลือเพียง 2,000 – 3,000 บาท เราจึงเริ่มคิดถึงรูปแบบการให้บริการใหม่ โดยจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา ทำเป็นธุรกิจเพื่อให้เกิดรายได้ และนำรายได้ตรงนั้นกลับไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าจ้างช่างให้คอยดูแลรักษาในพื้นที่ต่างๆ ได้” เธอเล่า





     โดยโมเดลรูปแบบการทำธุรกิจของ Sunsawang ก็คือ เบื้องต้นจะลงทุนอุปกรณ์ในการติดตั้งให้ก่อน หลักๆ แล้วจะประกอบด้วยแผงโซลาเซลล์และแบตเตอรี่เพื่อไว้ใช้เก็บพลังงานไฟ ซึ่งชุดจะสามารถให้ไฟได้ คือ หลอดไฟ 3 ดวง ปลั๊กพ่วง เพื่อไว้ใช้ไฟเล็กๆ น้อยๆ หรือดูโทรทัศน์เครื่องเล็กๆ ได้ โดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ต่อชุด ซึ่งแผงโซลาเซลล์ 1 แผงจะมีอายุการใช้งานเทียบเท่ากับหลังคาทั่วไป คือ ประมาณ 25 ปี แบตเตอรี่ 3 ปี โดยชาวบ้านสามารถผ่อนจ่ายได้ภายในระยะเวลา 5 ปี เฉลี่ยแล้วตกปีละประมาณ 6,000 บาท ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่อนจ่าย หากมีปัญหาขัดข้องในการใช้งานจะมีช่างเข้าไปซ่อมแซมดูแลรักษาให้ โดยช่างดังกล่าวก็มาจากภายในหมู่บ้านแต่ละแห่งที่บริษัทได้ทำการฝึกฝนและอบรมเพื่อให้สามารถซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แถมยังให้บริการได้สะดวกรวดเร็วอย่างทันท่วงทีอีกด้วย





     โดยปัจจุบันพื้นที่ให้บริการที่ Sunsawang เลือกเข้าไปดำเนินการ คือ ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลเดือดร้อนจากการไม่มีไฟฟ้าใช้งาน


     “ทุกวันนี้เราจะให้บริการกับชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไปที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง โดยปัจจุบันดำเนินการอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน นอกจากการติดตั้งแผงโซลาเซลล์แล้วปัจจุบันเรายังมีการทำหลอดไฟและโคมไฟที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ขายด้วย เป็นสินค้าราคาย่อมเยาที่ขายขาดไปเลย สำหรับคนที่ต้องการเพิ่มจุดแสงสว่างหรือผู้ที่ยังมีทุนทรัพย์น้อยก็สามารถทดลองซื้อเพื่อนำไปใช้งานเบื้องต้นก่อนได้”





     รวมระยะเวลาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา Sunsawang สามารถให้บริการบ้านเรือนต่างๆ ไปแล้วหลายพันหลังคาเรือน โดยแบ่งเป็นการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ประมาณ 400 หลังคาเรือน หลอดไฟและโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์อีกกว่า 2,000 หลังคาเรือน ช่วยให้ชุมชนต่างๆ มีแสงสว่างไว้ใช้งานเอง เพิ่มความสะดวกสบาย รู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนการศึกษาทำให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้นได้จากการมีไฟฟ้าไว้ใช้งานอ่านหนังสือ ทำการบ้านได้ด้วย





     มองในแง่ของการทำธุรกิจเพื่อสังคม ในส่วนความมั่นคงของตัวธุรกิจเอง สาลินีกล่าวว่า ถึงแม้จะดำเนินการธุรกิจมานานหลายปีแล้ว แต่ยังคงมีพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้งานอยู่อีกจำนวนมากในเมืองไทย ซึ่งทำให้บริษัทเองยังสามารถดำเนินกิจการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้คนเหล่านั้นต่อไปได้เรื่อยๆ และหากถามว่าจะคิดปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อนำมาใช้งานกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในเมืองบ้างหรือไม่ สาลินีกล่าวว่า อาจจะไม่ค่อยมีความเหมาะสมนัก เนื่องจากบ้านแต่ละหลังในเมืองมีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก การลงทุนติดตั้งแผงโซลาเซลล์จึงอาจยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เนื่องจากต้องมีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างสมมติมีการใช้ไฟอยู่ที่เดือนละ 300 - 400 บาท แต่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งถึงกว่า 1000,000 – 150,000 บาทเลยทีเดียว จึงจะสามารถใช้ไฟฟ้าในปริมาณนั้นได้





     “วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมา เราไม่ได้มองที่เม็ดเงินหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว ความตั้งใจของเรา คือเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ ที่เดือดร้อนจากการไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งยังมีอยู่อีกจำนวนมากในเมืองไทย แม้เทคโนโลยีต่างๆ จะเติบโตเจริญก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้นหากจะให้หันมาทำกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยภายในเมืองอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เราตั้งใจไว้ มันคนละตลาดด้วย เหมือนกับคนทำรถเบนซ์ขายอยู่ดีๆ เขาก็คงไม่คิดที่จะไปผลิตรถสามล้อขาย ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่าหรือไม่ดี แต่เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกันเท่านั้นเอง ซึ่งของเราไม่ใช่แค่เงินเพียงอย่างเดียว แต่เรายังสนใจเรื่องผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย อีกอย่างไม่คุ้มที่จะลงทุน เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการในการใช้ไฟของบ้านในเมือง”


     เมื่อถามว่าทำธุรกิจรูปแบบนี้มีความเสี่ยงไหม เธอบอกว่า หลายคนอาจคิดว่ากว่าจะได้เงินมาอาจต้องใช้เวลานาน แถมอาจเกิดความเสี่ยงเก็บเงินไม่ได้อีก แต่เธอบอกว่าในการเลือกทำงานในพื้นที่ตรงนี้ ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่เป็นสังคมใหญ่ อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และทุกคนแทบจะรู้จักกันหมด มีความซื่อสัตย์ต่อกัน จึงทำให้เป็นเกราะป้องกันและช่วยตรวจสอบให้กับพวกเธอไปด้วยในตัว เพราะหากทำอะไรไม่ดี เพื่อนบ้านทุกคนก็จะรู้หมด





     และนี่คือ อีกหนึ่งรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อช่วยโลกช่วยชุมชนได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งแต่ละธุรกิจมักมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายหากสามารถหาวิธีปรับใช้เพื่อให้อยู่รอดร่วมกันได้ ตัวธุรกิจเองก็ดำเนินต่อไปได้ ขณะที่ความตั้งใจดีก็จะยังคงอยู่ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ดีไม่น้อย SME ท่านใดจะลองนำไปปรับใช้กับธุรกิจดูบ้างก็ได้
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน