“แม่เหาะ” จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนท่องเที่ยวไฮเทค ที่ใช้เทคโนโลยี VR มาพลิกโฉมธุรกิจท่องเที่ยว

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
รวมสุดยอดความไฮเทคสไตล์ท่องเที่ยวชุมชน “แม่เหาะ”
 
 
  • ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชน
 
  • ใช้เทคโนโลยี VR มาทำแพลตฟอร์มท่องเที่ยวชุมชนเสมือนจริง ในแบบ 360 องศา
 
  • ใช้เทคโนโลยี AR นำเสนอภาพเสมือนจริงช่วยให้นักท่องเที่ยวสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวแบบใกล้ชิด
 
  • แค่สแกน QR CODE บนแผนที่ท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ก็ทราบที่มาที่ไปได้ครบ
               


 
 
     หลังโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ก็กลับมาเป็นยุคทองของธุรกิจท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ซ่อนตัวอยู่ทั่วประเทศ
               

     แต่การทำท่องเที่ยวชุมชนในวันนี้แตกต่างไปจากยุคก่อน เพราะเราอยู่ในโลกที่มีเทคโนโลยี และเครื่องมือเครื่องไม้มากมายให้หยิบจับมาใช้ แม้ชุมชนจะทำเรื่องพวกนี้เองไม่ได้ แต่ก็มีผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจับมือกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน พลิกโฉมการท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรม  

                
     SME Thailand ชวนมารู้จักกับชุมชนเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา ที่ชื่อ “แม่เหาะ” ซึ่งวันนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นที่เรียบร้อย แถมยังเป็นชุมชนในโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ของ NIA ที่พลิกโฉมตัวเองได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย   

 


 
จากชุมชนนอกสายตา สู่หมุดหมายใหม่ของสายเที่ยว
               

     “ชุมชนแม่เหาะ” เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีประชากรกว่า 8,000 คน เป็นชาวปกาเกอะญอมากถึงร้อยละ 80 มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำมาแปรรูปได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามการที่ชุมชนจะลุกมาทำธุรกิจท่องเที่ยวด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก แต่การได้เจอกับกูรูเที่ยวชุมชนอย่าง Local Alike  ทำให้แม่เหาะมีจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยว ใต้คอนเซ็ปต์ “Green route Good life” เที่ยวแม่เหาะ ลัดเลาะชมวิถีกะเหรี่ยง โดยการจัดเส้นทางท่องเที่ยวที่ผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  


     โดย Local Alike ได้ช่วยทั้งการประชาสัมพันธ์ พัฒนาแพลตเฟอร์มเพื่อเป็นตัวกลางประสานระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชัน นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจของชุมชนที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโมเดลการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชน ซึ่งในอนาคตคนในหมู่บ้านสามารถนำโมเดลเหล่านี้ไปเป็นแผนธุรกิจ สามารถบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ และออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวได้ด้วยตนเองอีกด้วย



 
เปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดอันซีน


     หลายชุมชนอาจรู้สึกว่า สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาหาร วัฒนธรรม กระทั่งวิวทิวทัศน์ในชุมชนล้วนเป็นของธรรมดา แต่สำหรับสายตาของนักท่องเที่ยวจากภายนอกแล้ว นั่นคือเสน่ห์สุดอันซีนที่ดึงดูดให้ใครหลายคนอยากไปเยี่ยมเยือนหา เช่นเดียวกับที่แม่เหาะ ที่ได้มีการจัดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มลองรสชาติอาหารฝีมือชาวบ้านที่นำเสนอผ่านเรื่องราวและความคิดสร้างสรรค์ ผสานกับการนำวัตถุดิบโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในชุมชน อย่าง ข้าวดอย ฟักทอง กาแฟ รวมถึงพืชผักเมืองหนาว รังสรรค์ออกมาเป็นเมนูจานเด็ดที่นักท่องเที่ยวไม่เคยได้ลิ้มรสที่ไหนมาก่อน


     นอกจากนี้ยังมีการพาชมวิวทิวทัศน์บนยอดดอยสิงห์ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร ซึ่งทำให้เห็นทั้งวิวทิวทัศน์ และทรัพยากรของชุมชน และยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มี อาทิ การทำสบู่จากกาแฟ การคั่วกาแฟจากวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างการปลูกป่า เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ให้กับคนที่จะมาเที่ยวที่แห่งนี้ในอนาคตอีกด้วย




 
“แม่เหาะ 360 องศา” เทคโนโลยี VR เปลี่ยนการท่องเที่ยวให้ว้าว


     การจัดเส้นทางท่องเที่ยวแบบอันซีนยังเป็นเรื่องพื้นๆ ถ้าได้รู้จักกับ “แม่เหาะ 360 องศา” แพลตฟอร์มท่องเที่ยวชุมชนแม่เหาะเสมือนจริง ที่ใช้เทคโนโลยี VR มานำเสนอแม่เหาะให้ทุกคนรู้จักในรูปแบบภาพและวิดีโอ 360 องศา ซึ่งครอบคลุมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพวิวทิวทัศน์ รวมถึงคำแนะนำด้านการเดินทางท่องเที่ยว


     นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับ VR Glasses หรือแว่นรับชมระบบ 3 มิติ ที่เพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือมาเชื่อมต่อกับแว่นดังกล่าว ก็จะได้สัมผัสกับเนื้อหาที่เป็นมุมมองที่ต่างออกไป โดยเฉพาะทัศนียภาพ เช่น การชมวิวจากที่สูงในกรณีที่ฟ้าฝนหรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ การสัมผัสกับทรัพยากรธรรมชาติอย่าง ดอกบัวตอง หรือพรรณไม้ต่างๆ ในกรณีที่เป็นการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กับการท่องเที่ยวทางไกลสำหรับคนที่ไม่สามารถเดินทางมายังสถานที่จริงได้อีกด้วย รวมถึงยังเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจก่อนเดินทางมาเยือนแม่เหาะได้นั่นเอง



 
               
Sanuk@แม่เหาะ” ท่องเที่ยวสุดฟินกับเทคโนโลยี AR


     มี VR ว่าเด็ดแล้ว ที่แม่เหาะยังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับการท่องเที่ยวให้ทันสมัย และตื่นตาตื่นใจขึ้น นั่นคือ “Sanuk@แม่เหาะ” แอ่วเมืองสามหมอกด้วย Sanuk AR ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality : AR) หรือนำเสนอภาพเสมือนจริงมาช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบเรื่องราวที่สำคัญของชุมชนแม่เหาะ รวมถึงสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวแบบใกล้ชิด


     โดยนักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR CODE บนแผนที่ท่องเที่ยวของชุมชน หรือตามจุดต่างๆจากนั้นระบบจะทำการประมวลและแนะนำสถานที่ต้องห้ามพลาดให้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมเรื่องราวบนวิดีโอได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต และยังมี QR CODE บนผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่จะทำให้ได้รับทราบเรื่องราวและที่มาที่ไปของสินค้าชุมชนแต่ละชิ้นได้อีกด้วย
               

     นี่คือตัวอย่างของชุมชนท่องเที่ยวสุดไฮเทค ที่เกิดจากศักยภาพของคนในชุมชนที่พร้อมเรียนรู้ มุ่งมั่นพัฒนา เปิดใจและยอมรับความร่วมมือจากภายนอก เพื่อยกระดับชุมชนให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยว และช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกมากในวันนี้
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน