เอกชนย้ำ ปี 56 รัฐหมดเหตุผลตรึงราคาสินค้า

นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300บาทต่อวันทั่วประเทศมีผล 1 ม.ค. 2556 ดังนั้นรัฐบาลก็คงไม่มีเหตุผลที่จะให้เอกชนตรึงราคาสินค้าโดยคาดว่าภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการที่สามารถผลักไปยังราคาสินค้าได้ก็จะเลือกดำเนินการแต่อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดก็ตามซึ่งเฉลี่ยราคาสินค้าปีหน้าจะขยับ5-10%

ห่วงขึ้นค่าแรงทำ SMEs เจ๊งลามเศรษฐกิจไทยพัง

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300บาทต่อวันทั่วประเทศ มีผล 1 ม.ค. 2556 นั้นน เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรตั้งกองทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงิน 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้ง หากไม่สามารถหามาตรการที่ดีพอมาลดผลกระทบให้เอกชน ปี 2556 ก็จะเห็น SMEs ที่มีถึง 90% ของภาคอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการลงคาดว่าจะเห็นผลกลางปีเป็นต้นไป แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ SMEs บางส่วนจะเป็นห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรายใหญ่เช่น สิ่งทอ รองเท้า อาหาร ฯลฯ ผลกระทบอาจจะต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมภาพรวมและนี่อาจจะเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจไทยพังเร็วขึ้นเพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยก็เปราะบางแล้ว

สศก.คาด ปี 55 ค้าชายแดนแม่สอด 3.7 หมื่นล้าน

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เขต 2 พิษณุโลก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า งานเสวนาเรื่อง "เปิดพรมแดนเมืองเศรษฐกิจใหม่ แม่สอด-เมียวดี" เป็นงานที่มุ่งเน้นให้นักธุรกิจไทยและพม่าเข้ามาลงทุนในเขตการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าของพม่า มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ซึ่งในปี 2554 มีมูลค่าการค้าโดยรวมของไทย-พม่า สูงถึง 287,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการค้าชายแดนในจุดผ่านแดนถาวร 4 จุด ทั้งประเทศประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 42 ของมูลค่าการค้าไทย-พม่า ทั้งหมด นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการค้าชายแดนของไทย-พม่า พบว่าเขตการค้าชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก นั้นเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่มีมูลค่าของการค้าชายแดนสูงสุด หรือประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี และในปี 2555 คาดว่า ไทยจะมีมูลค่าการค้ามากกว่า 37,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด

อาเซียน-จีน เพิ่มกลไกแก้ปัญหาการค้า

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ได้ลงนามพิธีสารอาเซียน-จีน 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ พิธีสารเพื่อผนวกข้อบทอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เข้าไปในความตกลงด้านการค้าสินค้า ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือพิธีสาร SPS/TBT และอีกฉบับได้แก่ พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทั้งนี้ พิธีสารทั้งสองฉบับจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2556

อาเซียน+6 เปิดโอกาสการค้า- SMEs ไทย

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงโอกาสทางการค้าของไทยภายใต้การจัดทำความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือเรียกว่า“RCEP”) หรืออาเซียน+6 ว่า เป็นความตกลงที่จะพัฒนาต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีอยู่ 5 ฉบับ กับ 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ให้เป็นความตกลงการค้าเสรีร่วมกันฉบับเดียว โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ครอบคลุมทุกมิติการค้า (สินค้า บริการ ลงทุน มาตรการการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ) หากการเจรจาประสบความสำเร็จ RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนได้มากยิ่งขึ้น

เอกชนจี้รัฐปราบโกงกินเลิกผูกขาดใช้เส้นสาย

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นกล่าวในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2556 กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก หัวข้อ สกัดภัยคอร์รัปชั่นเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจไทย จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ว่า ถ้าปราบคอร์รัปชั่นไม่ได้ การพัฒนาประเทศคงไม่สำเร็จ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ฮ่องกงและสิงคโปร์มีการปราบคอร์รัปชั่นมาก แต่ประชาชนในประเทศของเขากดดันรัฐบาลอย่างจริงจังเพื่อปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งขณะนี้อันดับการคอร์รัปชั่นสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอ การรั่วไหลของงบประมาณมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส.อ.ท.เสนอ 4 มาตรการเยียวยา SMEs

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ประชุมประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้ข้อสรุป 4 ข้อที่จะเสนอให้รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย จัดตั้งกองทุนจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ 2.ลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด โดยลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือฝ่ายละ 2.5% เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งให้สามารถนำค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีได้ 2 เท่า และคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทันที 3 ปี และให้ลดภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ลง 50% เป็นเวลา 3 ปี

ครม.ไฟเขียว 1 ม.ค. 56 ขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วปท.

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2556 เพื่อให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และครม.ยังเห็นชอบให้ขยายการใช้มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเป็นมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการเดิมที่ ครม. เคยเห็นชอบไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2555 ออกไปอีก 1 ปี