สสว.หวั่นภัยแล้งกระทบ SMEs แนะใช้โมเดล BCP ฝ่าวิกฤต
Share:

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศที่เริ่มส่งผลกระทบนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักได้คาดการณ์ว่าปี 2557 ประเทศไทยจะประสบวิกฤติภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 10-15 ปี ปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้งแล้วในพื้นที่ทั่วประเทศรวม 29 จังหวัด 192 อำเภอ 8,465 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (OTOP) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการเตรียมการรองรับ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางวิกฤติการณ์ต่างๆ และแนวทางที่ สสว. เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ คือ การจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ BCP
สำหรับการจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (BCP:Business Continuity Planning) เป็นการพัฒนาความสามารถขององค์กรในการกลับมาดำเนินธุรกิจเมื่อประสบภาวะวิกฤติหรือภัยพิบัติ รวมทั้งรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การจัดทำ BCP จะต้องดำเนินการโดยกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจนในการป้องกันการดำเนินธุรกิจจากภัยพิบัติและอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อเป็นเกณฑ์จัดลำดับความสำคัญของสินค้าหรือบริการหลักๆ ขององค์กร รวมถึงกลยุทธ์ การวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ
อีกทั้ง จะต้องกำหนดขอบเขตในการจัดทำ BCP โดยคำนึงถึงความจำเป็นทางธุรกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรม ต้องมีการระบุความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคาม โดยเลือกความเสี่ยงที่มีความสำคัญสูงสุด โดยทำการประเมินระดับความเสียหายและช่วงเวลาที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูกับระยะเวลาเป้าหมายในการฟื้นคืนสภาพ
การฟื้นฟูธุรกิจ ส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของ BCP ซึ่งประกอบด้วย 1.การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติและการบรรเทาผลกระทบ SMEs 2.การรับมืออย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการหยุดชะงักของธุรกิจ 3.กลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยใช้มาตรการสำรองหรือมาตรการชั่วคราว ซึ่งต้องกำหนดและเตรียมทรัพยากรสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกที่จำเป็น และ 4.การเตรียมความพร้อมด้านการเงิน
สำหรับวงจรบริหารคุณภาพ ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง BCP อย่างต่อเนื่อง ด้วยวงจร PDCA คือ การวางแผน (Plan) ดำเนินการ (Do) ตรวจสอบและทบทวน (Check) รักษาไว้และพัฒนา (Act) ซึ่งการตรวจสอบและทบทวน ต้องทำเป็นระยะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ
“เชื่อว่า BCP จะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเตรียมการรับมือกับวิกฤติภัยแล้ง รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบ ด้วยการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายใต้การวางแผนรับมือกับปัญหาได้อย่างเร่งด่วน และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” ผอ.สสว. กล่าว
ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ BCP และการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ สสว. ได้จัดหลักสูตรอบรมความรู้หลากหลายหัวข้อที่เป็นประโยชน์ ซึ่ง SMEs ที่สนใจ สามารถติดตามและลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมได้ที่ www.sme.go.th หรือที่ สสว. Call Center 1301 ทุกวันในเวลาราชการ
Topics:
Share:
Related Articles
ทรู 5G แชร์ประสบการณ์อัจฉริยะขั้นสุด ใน “CAPTURE YOUR EPIC TRUE 5G MOMENT
ทรู 5G ล้ำสุดในไทย จัดเต็มสร้างประสบการณ์อัจฉริยะขั้นสุดกับ ‘CAPTURE YOUR EPIC TRUE 5G MOMENT’ กิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟต้อนรับการเปิดตัว Samsung Galax..
Buzzebees ผนึก Sabuy ทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีก สร้าง Synergy Model ภายใต้ชื่อ บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด
บัซซี่บีส์ และ SABUY ได้จับมือร่วมทุนด้วยสัดส่วน 50:50 โดยได้ร่วมดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ “บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด” เติมเต็มในการสร..
EXIM BANK เติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีจากการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อเป็นผู้นำ ‘องค์กรการเงินเพื่อการส่งออก’ ระดับโลก
แม้ปี 2563 ต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้นำองค์กรการเงินเพ..