KhunJack ปรับลุคผ้าทอไทย ลุยตลาดอินเตอร์






เรื่อง : เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    หากเอ่ยถึงผ้าทอไทย กลิ่นอายความเชยไม่ตามยุคตามสมัย ดูเหมือนจะติดในความทรงจำทำให้กลุ่มผู้ใส่ผ้าทอไทยส่วนใหญ่จำกัดเฉพาะกลุ่มคุณลุงคุณป้าในวัย 40 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็กลุ่มชาวต่างชาติผู้หลงใหลความประณีตของผ้าทอมือ แต่ครั้นเมื่อได้เห็นคอลเลกชั่นผ้าทอมือไทย ภายใต้แบรนด์ KnunJack ความคิดในข้างต้นถูกแทนที่ด้วยความคิดใหม่ เนื่องจากผ้าทอไทยถูกปรับลุคให้ดูโมเดิร์นเข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

    แบรนด์ KhunJack ของ พจน์ พรรณเชษฐ์ เริ่มต้นจากการเป็น OEM รับผลิตผ้าผืน ผ้าทอมือ รวมถึงเป็นโรงงานตัดเย็บ โดยในช่วงแรกจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าบริเวณเชียงใหม่เท่านั้น หลังจากรับตัดเย็บเสื้อผ้ามาระยะหนึ่งเริ่มคุ้นเคยกับสไตล์การใส่เสื้อผ้าของกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นและออสเตรเลีย จึงเบนเข็มจากการรับผลิตเพียงอย่างเดียวมาปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา

 


“จากการที่เราผลิตเสื้อให้ชาวญี่ปุ่น เมื่อมีสินค้าเหลือจากออร์เดอร์ เราก็จะลองออกขายตามงานต่างๆ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างที่จะดี มีลูกค้าถามว่าทำไมไม่ทำแบรนด์เป็นของตัวเองไปเลย นั่นคือจุดที่ทำให้เราคิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง” 

    แม้ผ้าฝ้ายทอมือจะนุ่มสบายไม่บาดผิว แต่ด้วยเนื้อผ้าที่หนากว่าผ้าปกติ ทำให้ไม่เหมาะกับสภาพอากาศโซนเอเชีย ซึ่งอุณหภูมิสูง แบรนด์ KhunJack เล็งเห็นจุดอ่อนในข้อนี้ของผ้าฝ้าย จึงมีการปรับเนื้อผ้าให้บางลง พร้อมกับระบายความร้อนได้มากขึ้น เมื่อปรับคุณภาพผ้าจนตอบโจทย์ด้านประโยชน์ใช้สอยแล้ว มาถึงคราวที่แบรนด์ KhunJack ทำการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ให้ทันสมัยขึ้นควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

    อย่างไรก็ดี ในการปรับลุคผ้าฝ้ายเพื่อให้ดีไซน์ของเสื้อผ้าดูทันสมัยขึ้นนั้น พจน์ยอมที่จะลงทุนจ้างดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นมาออกแบบเสื้อผ้าร่วมกับดีไซเนอร์ไทย ซึ่งเป็นผู้ที่คลุกคลีกับวงการผ้าทอไทย ซึ่งเหตุผลของการจ้างดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น เนื่องจากการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นนิยมความเรียบง่าย แต่ซ่อนความเก๋ ซึ่งดีไซน์ลักษณะนี้ผสมผสานกับเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายได้อย่างลงตัวนั่นเอง        

 



    “จุดเด่นที่เราต่างจากคนอื่น คือ ผ้าเราดีไซน์เองได้ เนื้อที่บางกว่าเหมาะกับคนเอเชีย ไม่เหมือนผ้าทอมือจากที่อื่นทั่วไป เราพัฒนาผ้าทอให้สามารถจับกลุ่มคนไทยหรือชาวเอเชียได้ คือ ต้องบางลงหน่อย ส่วนจุดเด่นอีกด้านหนึ่งของเราคือ ดีไซน์ ซึ่งเรามั่นใจว่าเสื้อผ้าของเราไม่ดูเฉิ่มเชย”

    นอกจากดีไซน์ผ้าทอมือไทยให้โฉบเฉี่ยวขึ้นแล้ว แบรนด์ KhunJack ยังนำเสนอคอลเลกชั่นเสื้อผ้าผ่านแฟชั่นเซตสุดโมเดิร์น ทั้งการคัดเลือกนางแบบอินเตอร์ ท่าทางการโพสต์สุดมั่น รวมถึงการจัดองค์ประกอบไฟ ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ดูล้ำสมัย

    จากการผสมผสานเอกลัษณ์ของผ้าฝ้ายทอมือเข้ากับดีไซน์สมัยใหม่ทำให้ แบรนด์ KhunJack แตะตาต้องใจกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้ไม่ยาก ลูกค้ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น การทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ แบรนด์ KhunJack เลือกตระเวนออกบู๊ธตามงานแฟร์ต่างๆ เพื่อพบปะกับลูกค้าโดยตรงและค่อยๆ ดึงกลุ่มลูกค้าสู่ช่องทางการซื้อขายออนไลน์

 



    “สัดส่วนการขายในประเทศกับส่งออกแบ่งเป็นในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์และส่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ เราออกงานแสดงสินค้าบ่อยขึ้น โดยที่เราจะดึงลูกค้าภายในงานไปซื้อต่อในออนไลน์ ตอนนี้สินค้าแบรนด์ของเราได้วางขายที่เซี่ยงไฮ้ผ่านทางตัวแทน ซึ่งถือว่าแบรนด์เราได้ก้าวขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง สำหรับแผนในอนาคตเราตั้งใจจะขยายฐานลูกค้าออนไลน์”

    หลังจากปรับลุคผ้าทอไทยลุยตลาดเมืองนอกจนลูกค้าต่างชาติติดใจในสไตล์เรียบง่ายใส่สบายแล้ว พจน์เริ่มหันกลับมาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น เพราะพจน์เชื่อว่าเสื้อผ้าสไตล์ KhunJack สามารถโดนใจคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก ก้าวแรกของการเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทย แบรนด์ KhunJack เริ่มประชาสัมพันธ์แบรนด์ด้วยการออกงานแฟร์ต่างๆ เช่น งาน Gift Fair ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแพตเทิร์นเก๋และคุณภาพงานตัดเย็บดี ทำให้เป็นที่สนใจของลูกค้าไม่น้อย นอกจากนี้แบรนด์ KhunJack ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปวางขายบนห้างดังอย่าง Central Embassy โซน OTOP Heritage และวางขายที่ King Power ซึ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างได้มากขึ้น

 


    “ทุกการเติบโตของแบรนด์ย่อมมีอุปสรรค กว่าที่เราจะตีตลาดต่างประเทศและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักได้ไม่ง่ายเลย แรกๆ คนไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำและคิดว่าเราอาจทำลายเอกลักษณ์ของผ้าทอมือ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่และผมก็เลือกมองโลกในแง่บวก ช่วงเวลาที่เหนื่อยผมก็คิดว่า ชีวิตมันสั้นเกินกว่าเอาเวลามาโกรธ อีกไม่กี่ปีก็ตายละ อยากทำอะไรก็รีบทำให้เต็มที่ เพราะคิดแบบนี้อุปสรรคอะไรก็ฉุดรั้งเราไม่ได้”

    ล่าสุดแบรนด์ KhunJack ได้รับรางวัล PM Award หรือ Prime Minister’s Business Enterprise Award สาขา Best OTOP Export Recognition ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ถือเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพชั้นยอดของแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทยที่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ผ้าทอมือไทยแบบเดิมๆ จนเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติได้ 

    จากจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้รับจ้างผลิตผ้า จนขยับขยายก่อร่างสร้างแบรนด์ผ้าทอมือไทย ภายใต้ชื่อ KhunJackได้สำเร็จ พจน์ต้องดึงพลังความกล้ามาใช้ในการทำธุรกิจมากมายด้วยกัน ทั้งความกล้าที่จะปรับลุคผ้าฝ้ายทอมือให้แตกต่างทั้งด้านดีไซน์และเนื้อผ้า ความกล้าที่จะส่งเสื้อผ้าฝีมือคนไทยเพื่อออกไปแข่งกับแบรนด์ดังต่างประเทศ และสุดท้ายความกล้าที่จะเปลี่ยนความเชื่อของคนไทยด้วยกันเองที่มีต่อผ้าทอมือไทยแบบดั้งเดิมนั่นเอง 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​