หูกระจง คาร์แคร์ บุฟเฟต์ล้างรถ ที่เถ้าแก่ก็ Win ได้





เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย

    “เพียง 1,000 บาท ต่อ 1 เดือน สามารถล้างรถได้ไม่จำกัด พร้อมแถมขัดเคลือบสีฟรีไปเลยอีกหนึ่งครั้ง”  มีหรือที่เหล่าคนรักรถจะไม่หูตาลุกวาว ศุภกิจ กิจประเสริฐชัย เจ้าของหูกระจง คาร์แคร์ ชายผู้พลิกวิธีคิดจากติดลบให้กลายเป็นบวก ที่ใครๆ ต่างก็มองว่าผู้บริโภคสุดแสนจะคุ้ม แต่ในมุมเถ้าแก่ คันละ 1,000 บาทตลอดทั้งเดือน จะไปหวังผลกำไรได้สักเท่าไหร่เชียว

    ส่วนมากเถ้าแก่ที่คิดว่าการทำบุฟเฟต์แล้วไม่คุ้ม เพราะเขาคิดในรูปแบบที่ว่า ล้างรถเก๋ง 1 คัน ราคา 260 บาท พร้อมเคลือบสีอีก 500 บาท เบ็ดเสร็จแล้วต่อครั้งจะได้เงิน 760 บาท แล้วทำไมถึงต้องไปทำบุฟเฟต์คันละ 1,000 บาทตลอดทั้งเดือน ไหนจะค่าน้ำยาเคมี ค่าน้ำ ค่าเช่าร้านจะคุ้มค่าจริงๆ หรือ ซึ่งผมคิดต่างจากตรงนี้มาก

 



    อย่างแรกที่ทำให้ผมคุ้มค่าคือตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผมมีลูกค้าบุฟเฟต์ประจำอย่างน้อย 30-50 คัน แล้วผมใช้ระบบชำระเงินภายในวันที่ 1-10 ของเดือน และทุกคนจะไปสิ้นสุดพร้อมกันตอนหมดเดือน ดังนั้น ผมจะสามารถคอนโทรลรายรับได้ตั้งแต่ต้นเดือน และช่วยให้สภาพคล่องลื่นไหล
 





    ส่วนที่สองคือล้างรถบุฟเฟต์คันละ 1,000 บาท ถ้าสมัครใช้ตลอดทั้งปี เราคิด 10,000 บาท แล้วถ้าหากว่าผมตั้งเป้าให้ผู้จัดการร้าน หาลูกค้าให้ได้ 100 คัน ก็เท่ากับว่าผมได้เงินแน่ๆ แล้ว 1 ล้านบาท ส่วนเถ้าแก่ที่คิดค่าล้างรถเป็นรายครั้ง เขาจะต้องหาลูกค้าให้ได้กี่รายกัน ถึงจะได้ 1 ล้านบาทเท่าผม แค่พลิกวิธีคิดตรงนี้ ก็แตกต่างแล้วนะ
 





    นอกจากนั้น เรายังสามารถควบคุมคุณภาพของงานได้ด้วย เนื่องจากว่าความตั้งใจในการเริ่มต้นทำคาร์แคร์บุฟเฟต์ คือผมต้องการควบคุมแรงงานให้เสถียร ดังนั้น งานที่เราให้เขาทำมันจำเป็นต้องคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ้าง ถ้าไม่มีโปรแกรมบุฟเฟต์ขึ้นมา เวลาลูกค้าจะล้างรถแต่ละครั้งเขาก็ต้องรอให้รถสกปรกถึงที่สุดก่อนกว่าจะมาล้างได้ แน่นอนว่าแรงงานของผมเหนื่อย 

 




    แต่ถ้าหากผมทำโปรแกรมบุฟเฟต์ขึ้นมาตอบโจทย์ ซึ่งจะช่วยสร้างนิสัยให้แก่ลูกค้าไปในตัวด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่รถเขาเปื้อน แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตามเขาก็จะต้องมาล้างรถกับเราทันที แน่นอนว่า แรงงานไม่จำเป็นต้องออกแรงมาก อีกทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพไม่โดนเร่ง ไม่โดนกดดันจากลูกค้า เพราะว่าลูกค้าบุฟเฟต์หากมาวันนี้แล้วคิวเต็ม เขาก็ยอมที่จะสละเวลามาใหม่ในวันถัดไป ไม่ใช่มาเร่งเร้าให้ลูกน้องของผมลัดคิวให้ ผมจึงมองว่าธุรกิจตัวนี้ถ้าเถ้าแก่บริหารเองให้เป็น อย่างไรเสียก็มีแต่ได้กับได้
 





    ไม่น่าเชื่อว่าตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ดำเนินธุรกิจคาร์แคร์บุฟเฟต์ออกมา ศุภกิจจะเผชิญปัญหาเพียงแค่ 3 เดือนแรกเท่านั้น ซึ่งเมื่อเขาสามารถคอนโทรลปัญหาตรงนั้นได้ หูกระจงคาร์แคร์ก็กลายเป็นศูนย์บริการล้างรถที่โดนใจลูกค้าแถบจังหวัดนนทบุรีไปอย่างไม่ยากเย็น 

 



    โดยศุภภกิจเล่าว่า ในช่วง 3 เดือนแรกที่ประสบปัญหา เนื่องจากเจอลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเพียงแค่หวังให้คุ้มค่ากับการบุฟเฟต์ ซึ่งไม่ต่างจากการรับประทานอาหารบุฟเฟต์ ที่ถึงแม้ว่าจะอิ่มหรือทรมานแค่ไหน ก็จะทนอยู่ที่นั่นจนกว่าเวลาจะหมด ถ้าหากถามว่าในวันนั้นที่คุณรับประทานจนคุ้ม วันต่อๆ มาคุณอยากจะกลับไปรับประทานอีกหรือเปล่า เช่นเดียวกันเมื่อลูกค้าที่ไม่ได้มีใจรักในการดูแลรถจริง พอครบกำหนดบุฟเฟต์เขาก็ไม่กลับมาใช้บริการนี้อีก 

 



    จุดนี้ผมใช้เวลาอยู่พอสมควรสำหรับการสร้างนิสัยให้ลูกค้า โดยเทคนิคก็ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ทำให้ลูกค้าเห็นว่า ตัวผม รวมไปถึงคนรอบข้างต่างมีนิสัยชอบล้างรถ และมักจะขับรถที่สะอาดอยู่เสมอ เปรียบได้กับการเป็นต้นแบบให้ลูกค้า เพียงเท่านี้ลูกค้าก็จะซึมซับพฤติกรรมไปได้เอง

 



    จากที่ได้ฟังแนวคิดของผู้ประกอบการทั้งสองท่าน ต่างก็ชี้ให้เห็นว่าใจความสำคัญของงานบริการแบบบุฟเฟต์ ล้วนแล้วมีหัวใจอยู่ที่วิธีคิดและการบริหารเป็นสำคัญ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสร้างกำไรให้สูงแบบก้าวกระโดด แต่ทว่าก็สามารถรักษาฐานลูกค้าเก่า พร้อมดึงฐานลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้บริการได้เรื่อยๆ ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้แก่แบรนด์ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​