​ณชา จึงกานต์กุล ปั้นแบรนด์คันนา อาณาจักรธุรกิจเพื่อสุขภาพ

Text : ขวัญดวง แซ่เตีย

 
     ด้วยอิทธิพลจากผู้เป็นพ่อที่มักจะเอาโมเดลความสำเร็จของนักธุรกิจคนนั้นคนนี้มาเป็นหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหารยามเช้า ทำให้ โบ - ณชา จึงกานต์กุล ชอบการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก เธอมีเป้าหมายชัดอยากเป็นนักธุรกิจ กระนั้นเจ้าตัวกลับเลือกเรียนรัฐศาสตร์การฑูตแทนการเรียนด้านการตลาด หรือการบริหารธุรกิจ ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะสุดท้ายแล้วแก่นของการทำธุรกิจคือเรื่องประสบการณ์




                


    ณชาบอกว่าธุรกิจคันนาของเธอมีจุดเริ่มมาจากเมื่อครั้งที่เธอไปฝึกงานสถานฑูตที่ปักกิ่ง แล้วไปตกหลุมรักวัฒนธรรมจีนจนคิดอยากค้าขายกับคนจีน ตอนแรกเธอยังไม่รู้ว่าจะขายอะไร รู้แค่ว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่เล่นกับอารมณ์ ความรู้สึก และกระตุ้นความอยากซื้อของคน กระทั่งมาสังเกตพบว่าทุเรียนไทย ขายในจีนได้ราคาแพงกว่า 10-20 เท่า ซึ่งเธอรู้สึกว่าไทยเรายังมีผลไม้ดีๆ อีกเยอะ น่าเอามาใส่ไอเดียให้กลายเป็นโปรดักส์ใหม่ๆ ที่คนจีนเห็นแล้วต้องว้าว


     หลังกลับมาจากเมืองจีน ณชาใช้เวลา 6 เดือนศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องตลาด ดูว่ามีโปรดักส์ตัวไหนที่ใครทำอะไรออกมาแล้วบ้าง เธอเลือกที่จะทำแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะเชื่อว่าคนเราไม่ว่าร่ำรวยเพียงใด เรียนสูงแค่ไหน ไปท่องเที่ยวมาแล้วกี่ประเทศ สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่เรื่องของตัวเอง คือการดูแลสุขภาพ เพราะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่เราจะยอมจ่ายเพื่อลงทุนกับตัวเอง แบรนด์คันนาจึงออกไปในลักษณะสาวเฮลท์ตี้ รักตัวเอง เข้าใจกับความต้องการของร่างกายตัวเอง




Cr : Kunna Snack


    สาวโบบอกว่าเธอไม่เคยเข้าครอสเรียนด้านการตลาด หรือการสร้างแบรนด์อะไรมาเลย การทำธุรกิจของเธอเอาความรู้สึกของตัวเองล้วนๆ ใส่ลงไปในทุกรายละเอียดของการสร้างแบรนด์ และการผลิตสินค้า โดยมองว่าหากเธอเป็นผู้ซื้อ เธอต้องการซื้อสินค้าแบบไหน สินค้าตัวแรกของคันนาคือลูกเดือยอบกรอบปรุงรส ซึ่งยังไม่มีในตลาดเนื่องจากกลิ่นสาปที่เป็นจุดด้อยของลูกเดือย หากแต่ความเป็นสมุนไพรที่มีวิตามินสูง เหมาะเอามาทำเป็นของกินเล่นเพื่อสุขภาพที่มีรสชาตอร่อย ซึ่งก็ทำให้สินค้าเปิดตัวของเธอดังเปรี้ยงตั้งแต่วินาทีแรก


     ณชาบอกว่าให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้าพอๆ กับการเลือกทำตามความรู้สึกของตัวเอง ความสุขของเธอคือการได้รับฟีดแบคจากผู้บริโภค ได้รู้ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร และเธอสามารถปรับปรุงตรงไหนได้บ้างเพื่อให้ลูกค้าชอบ เหตุนี้เองทำให้สินค้าของเธอเข้าตาโมเดิร์นเทรดกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพรายหนึ่งที่เข้ามาติดต่อ ถือเป็นใบเบิกทางแรกที่ทำให้คันนาได้เข้าไปเรียงรายอยู่ในเชล์ฟสินค้าในห้างดังอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา




Cr : Kunna Snack


    ในด้านการทำตลาด สาวโบเชื่อว่าการบอกปากต่อปากเป็นแนวทางแข็งแกร่งที่สุดสำหรับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งคันนาถือเป็นเจ้าแรกที่ใช้กลยุทธ์นี้จนประสบความสำเร็จ โดยดำเนินการควบคู่กับการออกแบบแพ็คเก็จจิ้งให้ดึงดูดความสนใจ พร้อมกับสื่อชัดตรงกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องเป็นของดีมีคุณภาพจริงตามที่สื่อออกมาบนแพ็คเก็จด้วย นอกจากนี้ยังมีช้อปหน้าร้านที่ห้างเปิดใหม่บนถนนพระรามเก้า เพื่อเป็นสถานที่ให้ลูกค้าเข้ามารู้จักความเป็นตัวตนของคันนาได้มากกว่าเดิม จากที่เคยเห็นผ่านตาในห้าง ซึ่งบางทีก็ถูกตีกรอบด้วยกฎต่างๆ




Cr : Kunna Snack


    เคล็ดลับในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของณชา คือการสร้างระบบที่ดี ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานเดินหน้าโดยมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ทำให้ผู้เป็นเจ้าของทำงานเหนื่อยน้อยลง และมีเวลาพัฒนาอย่างอื่นที่ใช้เครื่องจักรไม่ได้ ใช้ระบบไม่ได้ ต้องใช้สมองและประสบการณ์ของเราเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีค่ากว่ากันเยอะ เช่น การออกไปเจอไปเห็นอะไรใหม่ๆ เพื่ออัพเดทตัวเองอยู่เสมอ







   ณชาฝากทิ้งท้ายไว้ว่าการจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในมุมมองของเธอ นอกจากเลือกทำในสิ่งที่รักแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องมีวิชั่นครอบคลุมด้วย กล่าวคือต้องคิดให้จบ มองให้ไกล เห็นทุกจุดที่เป็นโอกาสและปัญหา ท้ายที่สุดต้องมีทักษะในการคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะแผนที่คิดว่าดีแล้วแค่ไหน ก็อาจมีปัญหาได้เสมอ ทางที่ดีที่สุดคือปิดประตูตายทุกด้าน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ตัวเองมีประตูทางออกเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาขึ้นมาจริงๆ


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​