ทำแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นไม่ยาก Oh-My-Dress รับจัดให้!

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย







     ถ้าพูดถึงธุรกิจออนไลน์ที่มีคนนิยมทำกัน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นติดโผมาเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน ซึ่งแม้จะมีคู่แข่งอยู่มากมาย แต่ตลาดก็ยังคงไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะยังไงแฟชั่นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจอยู่ทุกยุคทุกสมัย และการเริ่มต้นธุรกิจในปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยาก จากรูปแบบบริการรับตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อสร้างแบรนด์ที่มีให้เลือกมากมาย หนึ่งในนั้นมีชื่อของ Oh-My-Dress ร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่นครบวงจรรวมอยู่ด้วย


    




     Oh-My-Dress แจ้งเกิดมาได้ปีกว่าๆ จากแนวคิดของ กานต์ธิดา ประณีต หรือ แจง สาวน้อยวัย 23 ปีที่อยากขยายแตกไลน์ธุรกิจร้านรับออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้า “รพีพร” ของคุณแม่รพีพรรณ ประณีต ซึ่งเปิดดำเนินการมา 30 กว่าปี ให้เป็นธุรกิจรับผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น เพื่อสร้างแบรนด์แบบครบวงจร โดยมองเห็นแนวโน้มตลาดที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่หันมาสนใจผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ของตัวเองกันมากขึ้น
    






    “เห็นแม่มีประสบการณ์ทำงานด้านออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้ามานาน มีฝีมือดีระดับหนึ่ง จึงอยากช่วยหางานมาให้เพิ่ม และเดี๋ยวนี้คนก็หันมาทำแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นตัวเองเยอะขึ้น จึงมองว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เลยลองคุยกับแม่และสร้างเพจขึ้นมา โดยแจงเป็นคนรับงาน ทำการตลาด และบริหารจัดการ ส่วนงานผลิตมอบให้เป็นหน้าที่ของแม่”


    




    โดยบริการของ Oh-My-Dress เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษารับออกแบบแพทเทิร์น ขึ้นตัวอย่าง จนถึงกระบวนการผลิต ค่าบริการออกแบบแพทเทิร์นและขึ้นตัวอย่างจริง เริ่มต้นที่ 1,000 – 2,500 บาท แล้วแต่ความยากง่ายของแบบ จากนั้นจึงมาสู่ขั้นตอนการผลิต โดยแบ่งค่าบริการตัดเย็บตามเกรดความยากง่ายของงานและจำนวนการผลิตเช่นกัน ได้แก่ งานเกรด A 1,000 บาทขึ้นไป (ชุดเดรส ชุดทำงาน +งานละเอียดเหมือนงานวัดตัวตัด รับผลิต 10 ตัวขึ้นไป) เกรด B 500-800 บาท (ชุดลำลอง ชุดเดรส รับผลิต 30 ตัวขึ้นไป) และเกรด C หรืองานเหมาโหลประตูน้ำ 30 กว่าบาทจนถึงร้อยกว่าบาท (เสื้อยืด+ชุดลำลอง เน้นขายถูก เย็บเร็ว รับผลิต 300 ตัวขึ้นไป)


    




    “จุดเด่นของ  Oh-My-Dress คือ รับผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นครบวงจร เราสามารถทำงานได้ทุกระดับ ตั้งแต่งานเนี้ยบมากๆ อย่างเกรดเอขายขึ้นห้าง ไปจนถึงเสื้อผ้าประตูน้ำที่ผลิตจำนวนเยอะๆ ทำให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกระดับ เรามีทั้งส่วนที่รับผลิตเองในงานเกรดเอและบี ส่วนงานเกรดซีเราจะหาช่างผลิตให้ แต่จะควบคุมคุณภาพ เช็คงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งความจริงแล้วหน้าที่หลักของธุรกิจรับผลิตเสื้อผ้า คือ การบริหารจัดการงานให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ โดยหาช่างที่ถนัดในงานแต่ละแบบมาผลิตให้กับลูกค้า ลูกค้าบางคนไม่เข้าใจ คิดว่ามีแบบแล้ว ไปหาช่างเย็บเองน่าจะถูกกว่า แต่ความจริงแล้วเขาต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง เพราะมีรายละเอียดจุกจิก ตั้งแต่การไปเลือกซื้อผ้า การทำแพทเทิร์น การคำนวณผ้าก่อนตัดออกมาเป็นไซส์ต่างๆ เอางานไปส่งให้ช่างเย็บ ไปรับงาน ตรวจงาน จนถึงแพ็กใส่ถุง ซึ่งสิ่งที่เราได้ ก็คิดเพียงแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น แต่ที่เรารับ เพราะอยากช่วยลูกค้าที่เพิ่งเริ่มต้น อีกอย่างการใช้ผู้มีประสบการณ์มาคุยงานกับช่างทำให้ได้งานมากกว่า คุยแล้วจบ ไม่ต้องทำความเข้าใจกันนาน”


    




    แม้จะรับจ้างทำธุรกิจผลิตเสื้อผ้า แต่สิ่งหนึ่งที่แจงและแม่คอยเตือนลูกค้าอยู่เสมอ คือ ความพร้อมในการทำธุรกิจ ทั้งเงินทุน และตลาดที่รองรับ


     “ทำธุรกิจตรงนี้ มีคนมาจ้างให้ทำงานก็ดี แต่บางทีเราก็ต้องช่วยให้คำแนะนำเขาด้วย อย่างบางคนเข้ามาอยากทำเสื้อยืดหลายร้อยตัวเลย แต่เงินทุนก็ไม่ได้มีมาก ตลาดก็ยังไม่รู้จัก เราจะแนะนำให้เขาลองเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อน อย่างเสื้อผ้าประตูน้ำซื้อ 3 ตัวเขาก็ให้ราคาส่งแล้ว ลองไปดูก่อน ถ้าไปได้ดี มีตลาดแล้วค่อยมาสั่งผลิตกับเรา ทุนจะได้ไม่จมด้วย ดีกว่ารับทำให้ 300 กว่าตัว แล้วตลาดไม่ชอบ เหลือแล้วจะทำยังไง เงินเราก็อยากได้นะ แต่ก็ต้องช่วยดูความเป็นไปได้ให้กับเขาด้วย”

 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ