เบื้องหลังความสำเร็จกับการสร้างแบรนด์ Foto Hotel

Text : กองบรรณาธิการ



     จากที่ดินบนเขาห่างจากทะเล ทำเลที่ทุกคนต่างส่ายหัวว่าจะเอาไปทำอะไรได้ วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของภูเก็ต กลับนำมาสร้างเป็นโรงแรมแนว Lifestyle Hotel พร้อมกับกางตำราเดินหน้าสร้างแบรนด์แบบครบทฤษฎี เพียงไม่นาน Foto Hotel โรงแรมสำหรับคนรักการถ่ายภาพก็เป็นที่รู้จัก ภาพทุกซอกมุมของโรงแรมถูกนำไปแชร์กันสนั่นบนโลกโซเชียล ชักชวนให้คนทั่วประเทศหลั่งไหลมาเข้าพักไม่ขาดสาย



 
Cr : Foto Hotel





     ความสำเร็จนี้ วีระชัยบอกว่ามาจากพลังของการสร้างแบรนด์ ที่ย้อนมาสร้างชื่อให้เขาดังไกลยิ่งกว่าตอนทำธุรกิจอสังหาฯ ที่สร้างรายได้หลักพันล้านเสียอีก เขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มจากทำบ้านให้ชาวต่างชาติเช่าระยะยาวนาน 30 ปี ในราคาพอๆ กับซื้อ ซึ่งสามารถขายได้หมดภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังสร้างเสร็จ หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยเบ็ดเสร็จ ปัจจุบันทำมาแล้วร่วม 20 กว่าโครงการ มูลค่าบริษัทเป็นพันล้านบาท ช่วงพีคสุดของธุรกิจ บริษัทมียอดขายพุ่งไปถึง 700 ล้านบาท




Cr : Foto Hotel



     ทว่าในปีเดียวกันนั้นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์โผล่พรวดเข้ามาขย่มขวัญเขากับหุ้นส่วนจนเกือบตัดสินใจปิดบริษัท นั่นเป็นที่มาของความคิดที่อยากจะแตกไลน์มาทำธุรกิจโรงแรมเพื่อเป็นแหล่งรายได้สำรองหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาอีก แต่ด้วยว่าที่ดินที่มีอยู่ในมือส่วนใหญ่เป็นทำเลที่อยู่ห่างไกลชุมชน ไม่ติดถนน ไม่ติดทะเล เพราะเดิมทีซื้อมาเพื่อใช้ในการสร้างบ้านให้ชาวต่างชาติอยู่ ซึ่งโดยมากมักชอบความสันโดษ เมื่อนำมาสร้างโรงแรมจึงไม่ตอบโจทย์ของนักท่องเที่ยว และเป็นประเด็นที่ทุกคนทักจนเขาต้องคิดหนักเพื่อสร้างจุดขาย




Cr : Foto Hotel



     นี่เองที่ทำให้วีระชัยต้องสร้างโรงแรมที่มีคอนเซ็ปต์ชัดและแตกต่าง เขาบอกว่า Foto Hotel ถือเป็นธุรกิจแรกที่เขาทำแบรนด์ดิ้งอย่างเต็มรูปแบบ โดยศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่จะเป็นสปาแอนด์รีสอร์ทเหมือนกันหมด เขาต้องการสร้างความต่างให้กับโรงแรมของตัวเอง จึงเลือกที่จะสร้าง Foto Hotel ให้เป็นโรงแรมแห่งการถ่ายรูป มี Personal branding คือ ต้องสร้างสรรค์ มีความเป็นภูเก็ต และต้องถ่ายรูปสวย โดยใช้โทนสีขาว-ดำ สร้างเอกลักษณ์ในการตกแต่ง ใช้เรื่องราวการถ่ายภาพบอกตัวตนแบรนด์ และนำเอาจุดด้อยของทำเลมาสร้างจุดเด่นที่กลายเป็นจุดขาย เช่น การนำเอาอ่างอาบน้ำไว้บนระเบียงด้านนอกซึ่งแขกสามารถนอนแช่น้ำชมวิวได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องกลัวใครแอบมอง 




Cr : Foto Hotel



     ด้วยองค์ประกอบที่ลงตัวเหล่านี้เมื่อประกอบเข้ากับจังหวะที่หลังเปิดโรงแรมได้ไม่นาน กระแสโซเชียลเน็ตเวิร์คก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพล ทำให้ Foto Hotel แจ้งเกิดอย่างรวดเร็ว วีระชัยวิเคราะห์ความสำเร็จของตัวเองว่าเป็นเพราะ Foto Hotel ใช้แบรนด์ดิ้งได้ค่อนข้างครบตามทฤษฎี เขามี Brand Manual ตั้งแต่วันแรกที่เปิด มีองค์ประกอบตั้งแต่ Brand Essence ที่กำหนดให้ทำทุกอย่างเพื่อสร้างความทรงจำที่แตกต่างให้กับลูกค้า มี Brand Personality กำหนดให้พนักงานทุกคนรู้ว่าต้องมีคาแรตเตอร์อย่างไร รู้ว่าลูกค้าเป็นใครและคิดอะไร มี Brand Attribute ทุกอย่างถูกเซ็ตไว้หมด ขณะที่ Brand Representative  ใช้แมสคอทหมีเป็นทูตสัมพันธ์ที่สร้างความจดจำให้กับแบรนด์ 




Cr : Foto Hotel



     อีกหนึ่งเหตุผลในความสำเร็จ ที่ทำให้ Foto Hotel เป็นแบรนด์เล็กพิชิตแบรนด์ใหญ่ แถมเป็นความสำเร็จจากฝีมือบริหารของคนท้องถิ่น ขณะที่โรงแรมใหญ่ๆในภูเก็ตส่วนใหญ่จะเป็นคนจากที่อื่นมานั้น วีระชัยบอกว่าเป็นเพราะการใส่วิชั่นเข้าไปในแบรนด์ ซึ่งหากวิชั่นชัด และวัดผลได้ จะทำอีกกี่แบรนด์ก็สำเร็จ  โดยผู้บริหารหนุ่มได้นำเอาสูตรสำเร็จที่ได้จาก Foto Hotel มาสร้าง Blue Monkey ในคอนเซ็ปต์และกลุ่มเป้าหมายที่ต่างออกไป โดยกำหนดให้เป็น City Hotel ที่เหมาะกับการขยายสาขา รูปแบบการสร้างแบรนด์ของ Blue Monkey จึงเน้นสร้างผลกำไรเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการที่อยากมีโรงแรมแบบนี้ แต่ไม่มีโนว์ฮาวมาร่วมลงทุนในลักษณะของการซื้อเชนโรงแรมจากเขาไป เป็นวิธีคิดที่ทำให้วีระชัยยังคงขยายธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนเลย



 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​