สมใจ ต่อยอดอีคอมเมิร์ซ ชูคอมมูนิตี้คนรักเครื่องเขียน

Text : กองบรรณาธิการ


     ถ้าเอ่ยถึงร้านเครื่องเขียนในตำนาน เชื่อว่าชื่อ “สมใจ” แบรนด์ร้านเครื่องเขียนเก่าแก่ของไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกต้นๆ ที่คนมักจะนึกถึง เพราะด้วยความผูกพันที่มีต่อแบรนด์อย่างเหนี่ยวแน่นมาตลอด 60 กว่าปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตลาดไม่เหมือนเดิม  ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีชีวิตประจำวันผูกติดกับโลกโซเซียลมีเดียมากขึ้น การที่ธุรกิจจะอยู่แบบเดิมๆ ก็คงยาก จำเป็นที่ต้องขบคิดและตีโจทย์ให้แตกว่าจะอยู่ต่อไปแบบไหนถึงจะตอบสนองความต้องการลูกค้ายุคใหม่





     ในเรื่องนี้ นพนารี พัวรัตนอรุณกร หนึ่งในสามผู้บริหารเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของร้านสมใจเครื่องเขียน ได้เล่าเรื่องราวการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลว่า เดิมทีในอดีตนั้นสมใจเน้นทำธุรกิจโดยการขยายสาขา โดยยุคแรกเป็นการขยายสาขาในหมู่เครือญาติสนิท และตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เนื่องจากยังไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบ ต่อมาเมื่อถึงยุคที่สองเมื่อมีการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการสินค้ามากขึ้น รูปแบบการขยายสาขาจึงสามารถกระจายตัวออกไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งมาถึงยุคที่สามในรุ่นของพวกเธอได้มีการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการคิดที่จะนำอีคอมเมิร์ซ หรือการค้าขายออนไลน์เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ แต่เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อนที่เริ่มเข้ามาการค้าขายแบบออนไลน์ยังไม่เติบโตเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวไทยมากนักเหมือนเช่นในยุคนี้ จึงทำให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดพักไป และกลับมารื้อฟื้นขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว


     “ความจริงเราสนใจที่จะนำอีคอมเมิร์ซมาใช้ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว แต่ตอนนั้นในประเทศไทยยังไม่ค่อยเชื่อมั่นการซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซ จึงคิดว่ายังไม่ใช่เวลา กระทั่งปีที่แล้ว ผู้บริโภคในไทยมีการซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นโอกาสเหมาะที่จะทำอีคอมเมิร์ซ เราจึงได้คิดพัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งในช่วงเริ่มต้นระหว่างรอที่จะสร้างระบบเราได้มีการทดลองขายผ่านเฟซบุ๊กก่อน จากช่วงแรกมีประมาณ 200 กว่าไลก์ จากนั้นก็ทดลองอัพเดตข้อมูลสินค้าเรื่อยๆ จนผ่านมาหนึ่งปีเรามียอดกดถูกใจเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 กว่าคน โดยที่เราไม่ได้ซื้อโฆษณาอะไรเลย เป็นการยืนยันได้ว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ลูกค้าสะดวกมากขึ้น เราเองก็ได้ขยายช่องทางการจำหน่ายด้วย ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นที่จะเปิดเว็บอีคอมเมิร์ซ”





     นพนารีเล่าว่าลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าออนไลน์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.กลุ่มที่ซื้อสินค้าประจำ 2.กลุ่มที่ชอบหาข้อมูลเอง ไม่ชอบไปถามหน้าร้าน และ3.กลุ่มที่สั่งซื้อตอนร้านปิดและต้องรีบใช้ด่วน ซึ่งทางร้านสามารถส่งด่วนให้ได้ในตอนเช้า ส่วนลูกค้าที่หน้าร้าน คือ กลุ่มที่ชอบมาเลือกดูสินค้าด้วยตัวเอง หรือบางคนก็ผ่านมาพอดีเลยแวะเข้ามาซื้อ โดยสินค้าที่นำมาลงขายในออนไลน์ปัจจุบันมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทั้งหมด หรือประมาณ 5,000 SKU (stock keeping unit) โดยอนาคตตั้งเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มขึ้นให้ถึง 40,000 SKU


     นอกเหนือจาก ช่องทางการซื้อสินค้าที่มีให้เลือกหลากหลาย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกสิ่งที่ผู้บริหารเจนเนอเรชั่นที่สามมองว่าเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ คือ การชอบแสวงหากิจกรรม งานอดิเรกทำ จึงมีการจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปด้านศิลปะเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน


     “เราพยายามศึกษาพฤติกรรมลูกค้า ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าค่อนข้างเชื่อใจเราอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เรานำเข้ามาเป็นของคุณภาพดี เราก็อยากจะรักษาตรงนั้นไว้ และในขณะเดียวกันเราก็อยากจะเพิ่มด้านอื่นให้กับเขา ซึ่งคนปัจจุบันนี้มีกิจกรรมมากขึ้น ปั่นจักรยาน ชงกาแฟ เราจึงอยากทำตรงนี้ขึ้นมาให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมนั้นๆ อีกด้านหนึ่งเรารู้สึกว่าสังคมศิลปะในบ้านเรายังเติบโตไม่เต็มที่ พื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมด้านศิลปะยังมีน้อยอยู่ ซึ่งเราอยากพัฒนาคอมมูนิตี้นี้ให้โตขึ้นเหมือนประเทศอื่น คนไทยเรายังมักติดว่าศิลปะเข้าถึงยาก แต่เราต้องการทำให้เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวยถึงจะอยู่ในอาร์ตคอมมูนิตี้ได้ อยากให้เขาคิดว่านี่คืองานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งที่ทำแล้วสนุก ซึ่งผู้บริโภคปัจจุบันนี้รับข่าวสารรวดเร็วมาก ลูกค้าคนหนึ่งได้รับสื่อมากมายเป็นล้านๆ อย่าง ดังนั้นเขาจะตั้งระบบออโต้ในการเลือกสื่อไว้ ทุกวันนี้โลกกว้างขึ้นเขารู้พอๆ กับเรารู้ ถ้าเราเอาของที่ไม่ดีไปให้เขาดู ก็จะสร้างความเสียหาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องมี คือ 1.จริงใจ 2.ถูกต้อง 3.มีประโยชน์ นี่คือ สิ่งที่เราพยายามบอกกับทีมมาร์เก็ตติ้งของเราเสมอ ซึ่งสิ่งที่ร้านสมใจพยายามยึดถือมาโดยตลอด คือ การขายสินค้าคุณภาพดี ในราคามิตรภาพให้กับลูกค้า เพื่อช่วยส่งเสริมการศึกษาของไทย”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ