ชีววิทยา ร้านน้ำชา กับความสุข Double Dogs

 

 
เรื่อง รัชตวดี จิตดี
ภาพ กฤษฎา ศิลปไชย
 
 
          จากความหลงใหลในการดื่มชาทำให้ดอกเตอร์ทางด้านชีววิทยาโมเลกุลอย่าง “จงรักษ์ กิตติวรการ” ตัดสินใจหันหลังให้แวดวงวิชาการ มาเปิดกิจการร้านน้ำชา…ที่ไม่ใช่เพียงแค่ร้านน้ำชาธรรมดา แต่ “Double Dogs” ยังเป็นสถานที่พบปะของคนที่ชื่นชอบหนังสือ ศิลปะ และบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพ
 
 
        “เริ่มจากการคุยกันกับเพื่อนว่าในย่านเยาวราชไม่มีที่นั่งพักเลย เราก็เลยเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ร้านให้เป็นที่นั่งพักผ่อนของคนที่มาเยาวราช หรือเป็นจุดนัดพบที่สามารถนั่งพักดื่มชาแบบสบายๆ ได้ เราจึงเริ่มดีไซน์ร้านใหม่ให้ออกมาในสไตล์แบบเรียบง่าย เย็นสบาย สว่าง และสะอาด”
 
 
         เมื่อวางคอนเซ็ปต์เป็นร้านน้ำชาแล้ว จงรักษ์จึงคัดสรรชาพันธุ์ดีจากทั่วทั้งทวีปเอเชีย ทั้งชาจีน ชาญี่ปุ่นและชาศรีลังกามาให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะชาญี่ปุ่นที่มาจากแหล่งผลิตชาชั้นดีอย่าง “ชาเขียวเซนฉะ” จากแหล่งชาเมืองยาเมะ ที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขาสูงของฟุกุโอกะ และไฮไลท์อย่างชาเขียว “มัตฉะ” ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการชงเป็นแบบดั้งเดิมแท้ๆ โดยเจ้าของร้านอย่างจงรักษ์จะเป็นผู้ลงมือชงเสิร์ฟแก่ลูกค้าทีละถ้วยด้วยตนเอง
 
 
           “ส่วนใหญ่คนขายชาก็ต้องบอกว่าชาของตัวเองดีทั้งนั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คือว่าเราจูนรสนิยมของเราให้ตรงกับลูกค้าหรือเปล่า เพราะชาแต่ละตัวจะมีบุคลิกแตกต่างกัน ถ้าคิดว่าชาเป็นสี ศิลปินบางคนใช้สีน้ำเงิน แม้ศิลปินคนอื่นๆ ใช้สีน้ำเงินก็จะออกมาไม่เหมือนกัน ผมจึงเลือกชาตัวที่มีบุคลิกโดดเด่นมานำเสนอ อย่างเช่น ชาจีนที่เสิร์ฟในป้านชาดินเผาและถ้วยชาใบเล็กๆ แบบดั้งเดิม เพราะชาประเภทนี้รสชาติค่อนข้างเข้มข้น ผลิตในเขตแต้จิ๋วหรือว่าฮกเกี้ยน จึงต้องจิบทีละนิด ส่วนชาจีนอีกแบบหนึ่งรสจะบางกว่า จึงต้องเปลี่ยนภาชนะเสิร์ฟเป็นชามฝาแบบดื่มคนเดียว”
 
 
     จุดเด่นของร้านนอกจาก “น้ำชา” ที่เป็นพระเอกแล้ว ยังมีขนมเค้กและขนมไหว้พระจันทร์แบบโฮมเมดเสิร์ฟควบคู่กันไปกับเมนูชา กาแฟ และเครื่องดื่มอื่นๆ ด้วย
 
        “ขนมในร้านมีทั้งที่เราทำเองและเพื่อนๆ ทำมาวางด้วย เรามีคอนเซ็ปต์ว่าทำของที่เราอยากกินก่อน แล้วค่อยนำของนั้นออกมาขาย เพราะของดีๆ ส่วนใหญ่เรามักจะทำกินกันเองอยู่ในบ้าน เราไม่ค่อยเจอออกมาอยู่ในตลาด โดยเฉพาะของที่เป็น mass production อย่างขนมไหว้พระจันทร์ที่ผมสังเกตเห็นว่าระยะหลังมานี้มักจะมีแต่แบบที่แข็งและเปลือกบางลงเรื่อยๆ เราจึงทำเปลือกขนมให้หนาสมดุลกันกับไส้ และออกแบบให้มีขนาดเล็กลงแบบเป็นชิ้นพอดีคำ ซึ่งเหมาะกับการกินคู่กับน้ำชา”
 
 
         กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านน้ำชา Double Dogs นั้น จงรักษ์บอกว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชาวเยอรมันและฝรั่งเศส ในขณะที่ลูกค้าชาวไทยมีจำนวนน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าคนไทยนิยมดื่มกาแฟมากกว่าชา แม้ที่ร้านจะเสริมเมนูกาแฟเพิ่มเข้ามา แต่ก็มีหลายเสียงบอกว่ากาแฟที่ร้านของเขา ‘อ่อนหวาน’ ไปหน่อย
 
 
    “ผมรู้สึกว่าเครื่องดื่มรสหวานในเมืองไทยมีเยอะแล้ว” จงรักษ์เล่าด้วยรอยยิ้ม ก่อนตอบคำถามว่าทำไมอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างเขาถึงเลือกที่จะลาออกมาเปิดร้านน้ำชา
 
 
        “อยากลองดู เพราะเราทำอะไรไม่เป็น (หัวเราะ) ตอนแรกก็นึกว่ามันง่าย แต่สเกลที่เราทำกินเอง กับสเกลที่เป็นร้านน้ำชาจริงๆ รูปแบบมันไม่เหมือนกัน ในเมืองไทยหรือแม้แต่ในต่างประเทศเองไม่มีรูปแบบธุรกิจที่ผมสามารถหยิบมาใช้ได้แบบสำเร็จรูป จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ อย่างอุปกรณ์ที่ใช้ชงชา อยู่บ้านเราจะใช้อุปกรณ์ดีๆ หรูๆ ยังไงก็ได้ แต่อยู่ที่ร้านเราต้องทำใจว่ามันอาจจะแตกได้ ซึ่งพวกนี้เป็น cost ที่สูงมาก ปัญหาก็คืออุปกรณ์บางชิ้นหากแตกไปแล้วหามาทดแทนในตลาดเมืองไทยยากมาก จึงต้องบาลานซ์ให้ดี” จงรักษ์เล่าบทเรียนที่ได้จากการทำร้านน้ำชาให้ฟัง
 
 
      แม้จะออกตัวว่าเขายังใหม่กับการเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ แต่ดอกเตอร์ด้านชีววิทยาระดับโมเลกุลผู้นี้ยังคงมีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่เขาหลงใหลอย่างการชงชา พูดคุยกับลูกค้า และเสิร์ฟความสุขผ่านถ้วยชาทุกใบ...
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​