THAS นวัตกรรมไม้คอร์ก สู่ของแต่งบ้านร่วมสมัย

Text : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย


     ความโดดเด่นของชิ้นงานโคมไฟ “เสน่หา” (SANEHA) ที่จับเอาวัสดุไม้คอร์กธรรมชาติ มาบิดดัดเป็นรูปทรงพลิ้วไหวได้อย่างน่าทึ่ง สร้างเสน่ห์ชวนค้นหาให้กับแบรนด์ THAS และชื่อของ พุฒิพงศ์ ทัศนมานะ ฉายแววโดดเด่นในวงการนักออกแบบ พร้อมเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดีว่า ไม่จำเป็นต้องร่ำเรียนมาโดยตรงด้านดีไซน์ออกแบบ หรือจบหลักสูตรบริหารธุรกิจจากที่ไหน อดีตมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งก็สามารถสร้างและเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีสไตล์เป็นของตัวเองได้ ขอเพียงมีต้นทุนสำคัญที่เรียกว่า “พรแสวง” และ “ใจรัก”





    พุฒิพงศ์เล่าว่า ระหว่างทำงานประจำนั้น ด้วยใจรักอยากทำธุรกิจ จึงใช้เวลาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ฝึกฝนฝีมือทำสินค้าเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น สมุดโน้ตไปวางขาย ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวไอเดียใหม่ๆ ไปในตัว ได้เดินดูร้านวัสดุต่างๆ ในแต่ละย่าน จนในที่สุดเมื่อถึงจุดอิ่มตัวจากงานประจำ จึงลาออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยเบื้องหลังแรงบันดาลใจในการเลือกนำวัสดุไม้คอร์กมาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการสร้างสรรค์ธุรกิจออกแบบ มีที่มาจากการได้มีโอกาสดูสารคดีต่างประเทศที่เล่าถึงเรื่องราวกรรมวิธีผลิตไม้คอร์ก
               

“ไม้คอร์กเป็นวัสดุที่เราเคยเห็นคุ้นเคยกันทั่วไปอยู่แล้วจากจุกขวดไวน์ หัวลูกขนไก่ แต่พอได้รู้ที่มาที่ไปว่าทำมาจากอะไร ทำให้ผมเริ่มมีความสนใจในวัสดุตัวนี้ ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านเป็นวัสดุหมุนเวียนจากธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ของต้นโอ๊ก โดยลำต้นจะมีวงจรสร้างเปลือกขึ้นมาใหม่ทดแทนได้ภายใน 10 ปี ข้อดีของไม้คอร์กคือ โดนน้ำได้ สามารถแห้งด้วยตัวเอง และไม่มีเชื้อรา”




     ความโดดเด่นของวัสุดไม้คอร์ก ทำให้พุฒิพงศ์มองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนางานออกแบบของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในตลาด โดยใช้เวลาถึง 2 ปี ในการศึกษา ค้นคว้า และทดลองเล่นกับวัสดุตัวนี้ เพื่อเอาชนะก้าวข้ามข้อจำกัดของ “ไม้คอร์ก” พัฒนาโนว์ฮาว เทคนิคการผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง
               

    “ช่วงนั้นไม้คอร์กจะอยู่ในห้องทำงาน อยู่ข้างตัวผมตลอด เดินไปทางไหนก็เห็นแต่ไม้คอร์ก คิดในหัวตลอดว่า จะจับให้บิดให้โค้งยังไง รูปร่างถึงจะไม่คืนตัว หรือฉีกตัว แล้วจะเอามาทดลองกับอะไรได้บ้าง ผสมผสานกับอะไรได้บ้าง”





    เจ้าของไอเดียของแต่งบ้านจากไม้คอร์ก เล่าถึงบรรยากาศการทำงานช่วงนั้นซึ่งเหมือนอยู่ในห้องทดลอง แทบจะหายใจเข้า-ออกเป็นไม้คอร์ก เพื่อคิดค้นพัฒนาโนว์ฮาวก้าวข้ามข้อจำกัดในงานออกแบบ รวมถึงสร้างบทพิสูจน์ในด้านความทนทานเมื่อใช้งานจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยระหว่างนั้นรายได้ทางหนึ่งมาจากทำสินค้าของใช้ชิ้นเล็กๆ จากไม้คอร์ก ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มาก เช่น เคสใส่ไอโฟน และขาตั้งเก็บต่างหู วางขายตามตลาดนัดคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ
               

    ผลจากความพยายามนั้น ทำให้เกิดชิ้นงานดีไซน์เก๋ขึ้นมา อย่างโคมไฟ “เสน่หา” ที่เกิดจากความประทับใจระหว่างการดูงานแฟชั่นที่สายตาสะดุดกับชุดด้านหลังของผู้หญิงที่มีเส้นสายพลิ้วไหว จนนำมาสู่แรงบันดาลใจสร้างสรรค์โคมไฟ 1 ฟอร์ม1 รูปทรงแต่สามารถเลือกปรับใช้ได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หรือผลงานโคมไฟ OMOIDE ซึ่งแปลว่า “ความทรงจำ” เกิดจากแรงบันดาลใจของการได้เดินทางไปเห็นความเป็นเอกลักษณ์ ความโดดเด่นของ Karahafu โครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านประเพณีในญี่ปุ่น ที่พบเจอได้ทั้งตามประตูทางเข้า คานไม้ หลังคาหน้าจั่วของวัด ศาลเจ้า ปราสาทและพระราชวัง เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงนำไอเดียมาประยุกต์สู่งานออกแบบที่สื่อถึงความทรงจำผ่านคำว่า OMOIDE
            

    จะเห็นได้ว่า การนำวัสดุไม้คอร์กมาสร้างสรรค์งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านได้อย่างมีเอกลักษณ์เหล่านี้ เป็นผลลัพธ์จากการคิดค้นเทคนิคเฉพาะตัวในการบิด ดัด โดยอาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ เช่น แรงโน้มถ่วงของโลก มาสร้างรูปทรงของโคมไฟจากไม้คอร์กที่ดูพลิ้วไหวตามธรรมชาติแต่ยังคงรูป โดยพุฒิพงศ์ให้นิยามความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ดีไซน์ไม้คอร์กแบรนด์ THAS ว่า เป็นการนำหลักการของ “วิถี” มาบวกเข้ากับ “วิธี”
       
        

    

    คำว่า “วิถี” หมายถึงเอกลักษณ์ของงานคราฟต์ที่ต้องใช้ทักษะความเป็นช่างฝีมือของคนในชุมชนบ้านเกิดอย่างพิษณุโลกเป็นฐานการผลิต โดยพุฒิพงศ์ใช้วิธีการถ่ายทอดทักษะงานทำมือสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่นที่เป็นคนบ้านเดียวกัน ส่วนคำว่า “วิธี” หมายถึงการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรม เมื่อผสมผสานระหว่างความเป็น “วิธี” กับ “วิถี” จึงกลายเป็นงานคราฟต์ที่มีความร่วมสมัย สร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวที่แตกต่างจากงานดีไซน์ของต่างประเทศที่มีกรรมวิธีเน้นหนักไปทางอินดัสเทรียล
               

    ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ THAS แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ได้แก่ โคมไฟ และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น บอร์ดไม้คอร์ก และที่รองแก้ว ข้อดีของการทำธุรกิจโดยใช้จุดแข็งความแตกต่างของวัสดุด้วยเทคนิคใหม่ๆ พ่วงด้วยจุดขายการเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ใช้กระบวนการ Upcycle มาเพิ่มมูลค่าและคุณสมบัติให้กับวัสดุหมุนเวียนธรรมชาติอย่างไม้คอร์ก ช่วยสร้างโอกาสให้กับแบรนด์น้องใหม่สามารถแทรกตัวเข้าสู่ตลาด
               

     ธุรกิจแบรนด์ THAS ของพุฒิพงศ์เริ่มก้าวกระโดดเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) มาเห็นความโดดเด่น และผลักดันให้ผลงานของแบรนด์ THAS ได้เข้าร่วมอยู่ในทำเนียบห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ Material Connexion ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลวัสดุที่น่าสนใจและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ระดับโลก

               



    “ถ้าทำสินค้าโดยใช้วัสดุเดิมเหมือนในท้องตลาด สิ่งที่ต้องเจอคือการแข่งขันกับโรงงานอื่นที่อาจจะมีทุนมากกว่า แนวทางของผมจึงมุ่งไปที่การใช้วัสดุใหม่ คิดค้นโนว์ฮาวขึ้นมาด้วยตัวเอง ช่วยให้เราไม่ต้องเหนื่อยมากนักกับการแข่งขัน”
               

    ทิศทางต่อไปของแบรนด์ THAS จึงชัดเจนกับการสร้างงานดีไซน์ในแบบฉบับของตัวเอง โดยนอกจากโนว์ฮาวในด้านการบิด การดัด ไม่ให้ฉีกตัวหรือคืนรูปทรง พุฒิพงศ์ยังทดลองต่อยอดเทคนิคการผลิตไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ทั้งการทดลองนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสานกับไม้คอร์ก รวมถึงการย้อมสีไม้คอร์กด้วยสีธรรมชาติให้มีสีสันหลากหลายถึง 8 เฉดสี ช่วยเพิ่มเสน่ห์และความแตกต่างให้กับชิ้นงานและเพิ่มโอกาสการทำตลาดใหม่ๆ ให้กับธุรกิจด้วย
 
             
    เรื่องราวของแบรนด์ THAS นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างของธุรกิจเล็กๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความกล้าทำอะไรแปลกใหม่ ยังคงนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจได้เสมอ 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​