กสอ.เดินหน้าพัฒนาการผลิต OTOP คัด 30 ต้นแบบพร้อมแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมสีเขียว




    กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นำร่องคัด 30 ผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบ จากทั่วประเทศ ที่มีศักยภาพด้านระบบการผลิต พร้อมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อรองรับการแข่งขันระดับสากล  พร้อมมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้ประกอบการต้นแบบ ณ ศูนย์การแสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี

     นายเพทาย ล่อใจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงในอนาคต ด้วยนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น วิสาหกิจขนาดใหญ่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถือเป็นกลไกหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว ทั้งการเพิ่มรายได้ของประเทศ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาทักษะของบุคลากร รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับสูง 

     และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนา ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ด้านทักษะการผลิต ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ OTOP ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากขาดความรู้ในการลดของเสียในกระบวนการผลิตและกระบวนการนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ใหม่ จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2560” ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการแข่งขันและเข้าถึงและได้ประโยชน์จากกลไกตลาดสีเขียวมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน 

     โครงการพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดย กสอ. ได้ลงพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กับผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 500 ราย คัดเลือกเหลือ 200 ราย และลงพื้นที่ดูกระบวนการผลิต พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกครั้ง จนได้เป็นผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบ 30 รายในวันนี้ โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ อาหาร, เครื่องดื่ม, ผ้าและเครื่องแต่งกาย, ของใช้ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก, สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 

     สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP นั้นจะต้องผ่านเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5 ตัวชี้วัด คือ (1.) การดำเนินการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, (2.) การจัดทำแผนด้านสิ่งแวดล้อม,  (3.) การนำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล, (4.) การติดตามประเมินผล และ (5.) การทบทวนและรักษาระบบ โดยผู้ประกอบการจะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจาก กสอ. ดังนี้

     รางวัลผู้ประกอบการดีเด่นด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท จำนวน 5 รางวัล ดังนี้
-ประเภทอาหาร : วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินดินแดง จังหวัดชลบุรี
-ประเภทเครื่องดื่ม : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารและน้ำผลไม้ท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี
-ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย : กลุ่มผ้าบาติกตำบลวัดสุวรรณ จังหวัดชลบุรี
-ประเภทของใช้ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก : จักสานไม้ไผ่กลุ่มโรงเรียนวังหลังวิทยาคม จังหวัดสระแก้ว
-ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร : อนัญญามะพร้าว จังหวัดตราด

     รางวัลผู้ประกอบการดีมากด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ประเภทละ 2 รางวัล รวมจำนวน 10 รางวัล

     รางวัลผู้ประกอบการดีด้านการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท ประเภทละ 3 รางวัล รวมจำนวน 15 รางวัล  

     นอกจากรางวัลดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการ OTOP ทั้ง 30 รายนี้ ยังมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ การฝึกอบรม สัมมนา การให้คำปรึกษา แนะนำเชิงลึก และยังได้สิทธิพิเศษในการออกบูธ แสดงสินค้าร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย

     อย่างไรก็ดี สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ยังจะเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ซึ่งมีมากกว่า 40,000 รายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็ง และยังต้องสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีคุณภาพในภูมิภาคต่างๆ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นแนวนโยบายมุ่งเน้นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรร และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกอุตสาหกรรมจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล โดยปรับตัวเป็น "อุตสาหกรรมสีเขียว" (Green Industry) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) สอดคล้องกับการลงทุนในปัจจุบัน คือต้องเป็น "การลงทุนสีเขียว" (Green Investment) 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​