มองโอกาสธุรกิจ ผ่านคนคั่วกาแฟ “มนัสชัย คงด่าน”

Text : ขวัญดวง แซ่เตีย
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย




 
     เมื่อธุรกิจร้านกาแฟเป็นที่นิยมจนมีคนเข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในตลาดที่นับวันการแข่งขันก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ หลายคนเปิดมาแล้วก็ต้องปิดไป ขณะที่อีกหลายคนหาเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนที่แตกต่าง เพื่อสร้างความอยู่รอดให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน มนัสชัย คงด่าน คือหนึ่งในผู้เลือกจะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของตัวเอง หากแต่เส้นทางเดินพาเขาถลำลึกสู่อีกหนึ่งมิติของการทำธุรกิจ ที่หลอมรวมงานกับชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 
     Coffeebark Homeroaster โรงคั่วเล็กๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดแรกที่ต้องการเปิดร้านกาแฟ โดยตั้งใจจะจับกลุ่มคนเลี้ยงหมาเป็นหลัก แต่เมื่อลงมือศึกษาความรู้ ทุกแง่มุมของการทำธุรกิจร้านกาแฟ ทำให้เขารู้ว่าโรงคั่วกาแฟ คือต้นทางความสำเร็จของร้านกาแฟ ซึ่งโรงคั่วดีๆ หนึ่งแห่งสามารถอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านกาแฟหลายต่อหลายแบรนด์ นี่เองที่ทำให้ความคิดของเขาเบี่ยงเส้นทางมาสู่ธุรกิจโรงคั่วแทน ที่สำคัญงานนี้ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่นอกเมืองได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ 




    แผนธุรกิจโรงคั่วของมนัสชัย ไม่ได้บอกตัวเลขกำไร บอกแต่เพียงว่าจะใช้กาแฟกี่โล ขณะที่แผนการตลาดคือไม่ทำการตลาด แต่สุดท้ายทุกอย่างคือมาร์เก็ตติ้งในแบบของเขา ที่เน้นสื่อสารให้คนที่รักและชอบแบบเดียวกับเขาได้มาพบปะพูดคุยกันฉันมิตร กลายเป็นลูกค้าและเพื่อนในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ งานดูแลลูกค้าสัมพันธ์คือการเข้าร่วมกิจกรรมสนุกๆ ในวันสบายๆ กับลูกค้าซึ่งชอบอะไรเหมือนๆ กัน เช่นเดียวกับรสนิยมในเรื่องการชงและดื่มกาแฟ

 
     ช่วงแรกของการทำตลาด มนัสชัยก็เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่อาศัยข้อดีของสื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการนำตัวตนของ Coffeebark Homeroaster ไปแนะนำให้คนรู้จัก โดยใช้เนื้อหาที่สื่อออกไปเป็นกระบวนการในการกลั่นกรองให้ได้ลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ แล้วใช้ลูกค้าเดิมขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ผลิตภัณฑ์ของเขามีเพียง 2 ขนาดคือ 250 กรัม และ 500 กรัม โดยไม่ได้วางขายที่ไหนเลย ทุกคนต้องโทรสั่งก่อนล่วงหน้า 1 วัน โดยเขามีกำหนดส่งของให้ลูกค้าในช่วงวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ซึ่งปัจจุบันโรงคั่วของเขามีกำลังการผลิตได้สูงสุด 300 กิโลกรัมต่อวัน




     แม้วันนี้ธุรกิจโรงคั่วจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะเครื่องคั่วมีราคาถูกลง อีกทั้งยังมีเครื่องคั่วขนาดเล็กสำหรับร้านกาแฟโดยเฉพาะ กระนั้น มนัสชัย ก็ยังเชื่อมั่นว่าเขาจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคงด้วยแนวคิดที่ต้องการโตแบบเล็กเม็ดพริกขี้หนู ที่สำคัญเขาเชื่อว่าการเติบโตของโรงคั่วจะน้อยกว่าการเติบโตของร้านกาแฟ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสการเติบโตของโรงคั่วยังมีสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ในส่วนของร้านกาแฟเอง มนัสชัยก็เชื่อว่ายังมีศักยภาพที่จะโตได้อีกมาก ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่คิดจะเปิดร้านกาแฟอยู่ที่การเลือกตำแหน่งยืนที่เหมาะกับตัวเอง

 
     มนัสชัยมองว่าความเสี่ยงของธุรกิจกาแฟ ไม่ใช่การที่มีผู้เล่นโดดเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่ หากแต่เป็นการประเมินค่าความยาก-ง่ายของธุรกิจนี้ต่ำเกินไป คนส่วนใหญ่ติดภาพหรู ในฐานะลูกค้าร้านกาแฟเก๋ๆ จนคิดว่าการเปิดร้านกาแฟเป็นเรื่องง่าย มีเงินก็ทำได้ แต่ความจริงแล้วทุกธุรกิจล้วนมีความเสี่ยง การลดความเสี่ยงคือการศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้ทั้งโอกาส และอุปสรรค เหตุนี้เขาจึงเปิดคลาสสอนร่วมด้วย ซึ่งแม้จะเป็นคลาสสอนศิลปะการชงกาแฟ หากแต่เขาก็พยายามสอดแทรกเบื้องลึก-เบื้องหลังของธุรกิจร้านกาแฟไปด้วย เพื่อให้ผู้เรียนมีทางหนีทีรอดสำหรับธุรกิจที่เป็นความหวังและความฝันของตัวเอง




     โดยมนัสชัยเชื่อว่าผู้ที่มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับธุรกิจย่อมมีทางรอดเสมอ เช่นเดียวกับเขาที่เริ่มต้นจากความคิดอยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟ แต่ท้ายสุดกลับมายั่งยืนอยู่บนเส้นทางของคนคั่วกาแฟแทน ซึ่งเขาบอกว่าไม่คิดอยากให้โรงคั่วของตัวเองโตไปมากกว่านี้ เพราะรู้สึกว่าธุรกิจขนาดที่กำลังเป็นอยู่มีความลงตัว และสร้างความสุขให้กับเขาได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการแล้ว หากใครอยากรู้รายละเอียด เพื่อเดินตามรอยเส้นทางสู่ความสุขอย่างมั่นคงในงานที่รัก ลองหาหนังสือ “แก้วกาแฟในเย็นวันศุกร์ที่เปลี่ยนชีวิตเรา” มาอ่าน แล้วคุณจะรู้ว่า “ทุกอย่างที่คุณคิดเป็นจริงได้ แค่กล้าที่จะทำ”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​