Hom Mataba มะตะบะสายพันธ์ุใหม่ กินง่าย ขายดี!

TEXT : Miss.nim
PHOTO : วิภาวดี พิสุทธิ์สิริอภิญญา

 

 
     หากเคยลิ้มลองรสชาติของมะตะบะ แป้งทอดเหนียวนุ่มรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีไส้อยู่ตรงกลาง เวลารับประทานมักตัดแบ่งออกเป็น 6 หรือ 9 ชิ้น แล้วแต่ขนาดความใหญ่ของแป้ง กินคู่กับอาจาดรสเปรี้ยวหวานที่มีหอมแดงและแตงกวาเป็นเครื่องเคียง จะเป็นยังไงหากวันหนึ่งมะตะบะดังกล่าวถูกเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นแป้งทอดชิ้นเล็กๆ ที่หยิบถือเดินกินไปไหนมาไหนได้สะดวก ไส้ไม่ล้นทะลักให้เลอะมือ แต่รสชาติความอร่อยยังคงอยู่เหมือนเช่นเดิม มะตะบะที่เรากล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ คงเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจาก Hom Mataba มะตะบะสายพันธุ์ใหม่ที่พลิกรูปแบบการกินมะตะบะแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่สามารถรับประทานได้ง่าย สะดวกมากยิ่งขึ้น





     “เราอยากทำเบเกอรีหรือของกินเล่นรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงเริ่มมองหาจากสิ่งใกล้ตัวก่อน เราทั้งคู่เป็นมุสลิม อาหารว่างของมุสลิมที่รู้จักกันดีคือ โรตี และมะตะบะ แต่โรตีมีคนทำเยอะแล้ว เราจึงมองไปที่มะตะบะ ทำมาจากแป้งโรตีเหมือนกัน แต่มีไส้ ทำให้มีกิมมิกเอามาเล่นได้เยอะกว่า แต่การจะปรับเปลี่ยนให้เป็นของกินรูปแบบใหม่จริงๆ เราต้องมาคิดวิธีการนำเสนอใหม่ด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนแค่รูปร่าง จึงจะเรียกว่าเปลี่ยนได้อย่างสมบูรณ์ การทำมะตะบะแบบดั้งเดิมคือ เอาแป้งมาฟาดให้เป็นแผ่น จากนั้นนำไปวางบนกระทะ ใส่ไส้ลงไป พับห่อ ตักขึ้นมาตัดแบ่งเป็น 6 ชิ้นหรือ 9 ชิ้น เสิร์ฟให้กินคู่กับอาจาด แต่เราอยากทำเป็นรูปแบบที่ง่ายขึ้น ซื้อแล้วถือเดินไปกินที่ไหนก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องหาวิธีโดยที่ยังคงรักษาคุณค่าของเดิมไว้ให้ครบด้วย” 




 
     โต-สมชาย เกตุสุพจน์ และ นะ-เกศนี วันเอเลาะ สองหนุ่มสาวผู้ให้กำเนิดมะตะบะดังกล่าว เล่าที่มาของธุรกิจให้ฟัง โดยหลังจากที่ได้โจทย์มาแล้ว ก็เริ่มต้นด้วยการหารูปแบบของสินค้า เนื่องจากทำงานอยู่ด้านออกแบบ โตจึงรับอาสาคิดค้นรูปแบบสินค้าและสร้างแบรนด์ ส่วนนะซึ่งเคยทำงานด้านเบเกอรีมาก่อน ก็รับในส่วนของการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามรูปแบบที่คิดไว้




     “ตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนดี จนวันหนึ่งผมบังเอิญไปเห็นวิดีโอทำขนมญี่ปุ่นตัวหนึ่งเป็นรูปปลา ชื่อว่า ไทยากิ เขาใช้เตาอบทำเป็นแม่พิมพ์ขนมขึ้นมา ก็ได้ไอเดียว่าถ้าลองเอามาดัดแปลงทำกับมะตะบะได้ก็น่าจะดี เลยให้นะเป็นคนคิดสูตรแป้งและไส้ออกมา ซึ่งแป้งที่ใช้ทำมะตะบะไม่เหมือนแป้งขนมปังทั่วไป จะค่อนข้างอ่อนตัวไม่คงรูป ต้องทดลองทำกันอยู่นานกว่าจะได้อย่างที่ต้องการ แต่ด้วยวัฒนธรรมการกินมะตะบะคนส่วนใหญ่มักกินคู่กับอาจาด เป็นโจทย์ให้เราต้องคิดอีกว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ยังไง อุตส่าห์ทำตัวแป้งออกมาได้ใหม่แล้ว ถ้าต้องถืออาจาดเดินจิ้มไปด้วยก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าไม่มีก็คงไม่ได้ ไหนๆ เอามาแล้วก็ต้องเอามาให้หมด คิดกันอยู่นานมาก จนสุดท้ายก็มาลงตัวที่การปรุงเป็นซอสและใช้ทาไปที่ตัวแป้ง ให้รสชาติเหมือนอาจาดเหมือนกัน เปิดขายแรกๆ ลูกค้าบางคนก็ถามหาอาจาด เราก็ต้องใจแข็งบอกว่าไม่มี ในเมื่อเราคิดจะเปลี่ยนแล้วก็ต้องทำให้จบ ให้ลูกค้าได้เรียนรู้ไปด้วยว่า นี่คือนวัตกรรมการกินมะตะบะรูปแบบใหม่ เราต้องการทำให้เป็น Very Easy to Eat ที่ง่ายที่สุด”

 
     มะตะบะรูปแบบใหม่ เปิดจำหน่ายครั้งแรกอยู่ในศูนย์อาหารฝั่งตรงข้ามเอเชียทีค เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าใหม่น่าจะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับชุมชนมุสลิมบททดสอบจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ต้องฟังเสียงตอบรับจากลูกค้าตัวจริงด้วย ซึ่งแน่นอนได้รับผลตอบรับที่ดี สร้างความแปลกใหม่ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งและกลุ่มลูกค้าที่ยังคงเป็นกลุ่มเดิมๆ เมื่อเติบโตได้ถึงระดับหนึ่งเลยค่อนข้างคงที่ จึงได้ขยายเพิ่มมาที่ช่างชุ่ย




     ตัวแป้ง Hom Mataba นั้น ถูกออกแบบขึ้นมาในรูปร่างของหัวหอมยิ้ม ตามชื่อแบรนด์ Hom Mataba ซึ่งหมายถึงหอมแดง หนึ่งในวัตถุดิบที่ใช้ทำไส้มะตะบะ และยังเป็นชื่อเล่นที่ทั้งคู่ใช้เรียกกันอีกด้วย โดยมีให้เลือกทั้งหมด 6 ไส้ ได้แก่ ไก่ เนื้อ มัสมั่นไก่ มัสมั่นเนื้อ หวานโบราณ และครีมคัสตาร์ด สนนราคาอยู่ที่ชิ้นละ 40, 50 และ 60 บาท
“หอม เป็นคำพูดล้อเลียนที่เราทั้งคู่มักใช้แทนตัวเอง โตเขาเป็นคนหัวโต ก็จะเรียกว่า หอมใหญ่ ส่วนเราหัวเล็ก ก็จะเรียกว่าหอมเล็ก หรือหอมแดงบ้าง อีกอย่างเป็นคำที่มีความหมายดีเหมาะกับธุรกิจอาหารด้วย คือ กลิ่นหอม เราเลยใช้เป็นชื่อแบรนด์ โลโก้ และเตาแม่พิมพ์ทำมะตะบะ”




 
     ร้าน Hom Mataba ของโตและนะแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงร้านขายมะตะบะรูปแบบใหม่ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม แต่เป็นต้นแบบโมเดลธุรกิจที่ทั้งคู่ตั้งใจสร้างไว้เพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วย

 
    “เรารู้ตั้งแต่แรกว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เพียงผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ แต่คือการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ ฉะนั้นเราวางเส้นทางธุรกิจไว้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง การขยายสาขา ขายแฟรนไชส์ หรือแม้แต่วันหนึ่งอาจกลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปวางขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเรามองว่าเป็นไปได้ สิ่งที่ทำตอนนี้คือ ค่อยๆ ทำตามแผนที่วางไว้ เพราะเราตั้งใจอยากเป็นเจ้าแรกที่ทำสิ่งนี้”
 
 
Hom Mataba
facebook : hommataba



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​