​เปิดเพลงให้ข้าวฟัง สร้างตำนาน...ข้าวเพลงรัก





 
     เพราะเชื่อจากผลวิจัยว่า คลื่นเสียงที่อ่อนหวานจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแบบเดิมๆ ใส่เรื่องราวของความรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแปลงนา ด้วยการเปิดเพลงให้ต้นข้าวฟัง เป็นที่มาของ “ข้าวเพลงรัก” ที่ผู้ชายคนนี้ทั้งทะนุถนอมและใส่ใจในการปลูกเป็นอย่างดี เน้นการปลูกแบบอินทรีย์และยังสร้างเครือข่ายชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ตลอดทั้งเปลี่ยนกฎเกณฑ์การตั้งราคาข้าวที่ให้ชาวนาเป็นคนกำหนด จึงทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภค เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องราคาอีกต่อไป


     เกริกกฤษณ์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ทำงานธนาคารมาก่อน ไม่เคยมีความรู้เรื่องการทำนามาก่อน แต่ด้วยความสงสัยว่า ทำไมชาวนาถึงลำบากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งๆ ที่คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก จึงเป็นที่มาของการศึกษาเรียนรู้การปลูกข้าวเพื่อหาทางออกให้ชาวนา





     “ผมเริ่มจากไปเรียนทำนาที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อนำองค์ความรู้มาทำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากที่เรียนก็ค้นพบว่า การทำนาอินทรีย์จะเป็นทางออกของชาวนา เลยคิดว่าถ้าเราสามารถจูงใจให้ชาวนาหันมาทำนาอินทรีย์ได้ก็คงดี แต่เราทำนาไม่เป็น ดังนั้น ก็ต้องเริ่มจากทำนาก่อน เรียนเสร็จผมเลยหาที่ทำนาโดยไปขอเช่าที่ใน จ.นนทบุรี เพื่อพิสูจน์สิ่งที่อาจารย์สอน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของข้าวเพลงรัก ผมถอนหญ้าเอง เพราะไม่ได้ใช้ยาฉีดคลุมหญ้า ก็เลยเปิดเพลงฟังไปด้วย”





     “ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบฟังเพลงเวลาทำงาน เลยจุดประกายขึ้นมาว่า ถ้าเราเปิดเป็นจริงเป็นจัง ต้นข้าวจะรู้สึกเหมือนเราไหม จึงไปค้นหางานวิจัยระหว่างเสียงเพลงกับความสัมพันธ์ของพืช พบว่า มันมีงานวิจัยรองรับเยอะมาก โดยสรุปคือ พืชโตได้ดีขึ้นเมื่อมีคลื่นเสียง โดยเฉพาะงานวิจัยของ ดร.มาซารุ อิโมโต ชาวญี่ปุ่น เขาวิจัยว่า คำพูดเชิงบวกมีผลกับน้ำสามารถเปลี่ยนเป็นผลึกที่สวยงามได้ ผมว่ามันก็สอดคล้องกัน ก็เลยเชื่อมโยงเรื่องนี้กับเรื่องของเสียงเพลง โดยเลือกที่จะเปิดเพลงรักเพราะส่วนตัวผมเองก็ค่อนข้างจะโรแมนติก เลยคิดถึงพี่บอย โกสิยพงษ์ ผมมองว่าเวลาเขาแต่งเพลงเขาแต่งมาจากข้างใน จากแรงบันดาลใจ แต่งเพื่อให้ภรรยาและลูก แต่งให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต พอมีไอเดียนี้ก็เลยไปขอพี่บอย บอกว่าอยากจะเปิดเพลงของพี่ในนาข้าวเป็นการให้เกียรติ พี่เขาก็โอเค พอปี 2558 ก็เลยได้เริ่มข้าวเพลงรัก”

               



     จากการทดลอง ลงมือทำ และเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ เขาจึงเริ่มหาเช่าที่นาเพิ่มขึ้นจาก 1 ไร่ เป็น 17 ไร่ ใน จ. สุพรรณบุรี และยื่นขอใบรับรองพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นมาตรฐานสากล เพราะวางแผนการทำตลาดส่งออกด้วย




     “เราทำนาและทำการตลาดไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารให้คนรู้จักเรา ถ่ายรูปโพสต์กิจกรรมตั้งแต่ปลูกข้าว ดูแล จนกระทั่งเก็บเกี่ยวได้ผลผลิต ทำให้เขามีความเชื่อมั่นในข้าวเพลงรัก บวกกับพี่บอยได้บอกผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองด้วยว่า เรากำลังทำอะไร ก็ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น ผมว่าการทำตลาดมีส่วนนำการผลิต เพราะผมคิดว่า ถ้าจะไปให้ถึงจุดที่จะต้องช่วยชาวนาให้ทำเกษตรอินทรีย์ได้ เราก็จะต้องมีตลาดรองรับ ซึ่งในปี 2558 เราขายข้าวหมดภายใน 20 วัน แค่ขายผ่านไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กก็หมดแล้ว ต่อมาก็เริ่มวางตามร้านค้าเพื่อสุขภาพ และร้านอาหาร โดยร้านค้าจะหุงข้าวเพลงรักให้ลูกค้าได้รับประทาน เหมือนเป็นการทำ CSR ไปในตัว ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่า ได้กินข้าวที่ถูกดูแลด้วยเสียงเพลง และเป็นเพลงรัก อิ่มทั้งกาย และยังได้อิ่มใจที่ได้ช่วยชาวนาอีกด้วย”





     ข้าวเพลงรักโดดเด่นทั้งกระบวนการ ตั้งแต่มีแนวคิดที่ต้องการให้ชาวนาพ้นจากความยากจน ต้องการให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคห่างไกลจากสารเคมี ได้กินข้าวที่มีคุณภาพ และต้องการให้ตัวเขาเองมีธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบสังคม เพราะเชื่อว่า ธุรกิจที่ดีต้องทำให้ทุกคนอยู่ได้





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​