​เปิด 2 กลยุทธ์ ชิงเม็ดเงินตรุษจีน 1.3 หมื่นล้าน







     ดูเหมือนว่ากำลังซื้อช่วงตรุษจีนปี 2561 ภาพรวมจะคึกคักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเพฯ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 13,440 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มในส่วนของเม็ดเงินแต๊ะเอียและเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยว/ทำบุญ ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซ่นไหว้ให้ภาพที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน





     สำหรับค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซ่นไหว้  ผลจากความเคร่งครัดในประเพณีที่เริ่มคลายลงจากคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการปรับปริมาณเครื่องเซ่นไหว้ให้สอดคล้องกับสมาชิกในครอบครัวที่ลดลง จากการแยกครอบครัวของลูกหลาน ทำให้คนบางกลุ่มตัดสินใจที่จะประหยัดและควบคุมค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับปีก่อน


     พฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกเครื่องเซ่นไหว้ มีการใช้กลยุทธ์การตลาดโดยปรับลดปริมาณหรือขนาดเครื่องเซ่นไหว้และตรึงราคาสินค้าให้อยู่ในระดับเดิม ขณะเดียวกัน ระยะหลังพฤติกรรมการซื้อจะมีก่อนเทศกาลหลายวัน (จากเดิมกระจุกในช่วงประมาณไม่เกิน 3 วันก่อนเทศกาลมาเป็นการทยอยซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ 4 วันขึ้นไปจนถึงมากกว่า 1 สัปดาห์) อาทิ กระดาษเงินกระดาษทอง/ธูปเทียน ผักผลไม้หรือเนื้อสัตว์บางประเภทที่สามารถเก็บแช่เย็นไว้ได้นาน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงราคาสินค้าที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในช่วงใกล้วันเทศกาล หรือการได้สินค้าที่มีคุณภาพลดลงเนื่องจากมีคนซื้อในช่วงเดียวกันจำนวนมาก รวมถึงปัญหาจราจรติดขัดหากมีการกระจุกตัวซื้อสินค้าพร้อมกัน


     ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเซ่นไหว้ จำเป็นต้องวางแผนจัดเตรียมสต็อกสินค้า เพื่อรับคำสั่งซื้อที่อาจจะเร็วขึ้นกว่าปีก่อนๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจที่เตรียมพร้อมได้ถูกจังหวะก่อนใคร โดยคาดว่าเม็ดเงินค่าเครื่องเซ่นไหว้ในปีนี้ของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ประมาณ 5,970 ล้านบาททรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน
 




     ในส่วนของเงินแต๊ะเอีย ถือเป็นการให้กับญาติผู้ใหญ่ ลูกหลาน คนงาน ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ ทำให้คนที่ให้ก็ยังให้อยู่ และกลุ่มคนที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของธุรกิจก็อาจกลับมาแจกแต๊ะเอียมากขึ้น ทั้งในส่วนของเงินสดและทองคำ  ซึ่งเม็ดเงินในส่วนนี้ คาดว่าจะถูกส่งผ่านไปยังธุรกิจต่างๆ อาทิ ร้านทอง การจับจ่ายซื้อสินค้าและรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าภายนอก รวมถึงการท่องเที่ยว/ทำบุญ ทั้งนี้คาดว่าเม็ดเงินส่วนนี้ในปี 2561 จะมีประมาณ 3,930 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 (YoY)





     ขณะที่ค่าท่องเที่ยว/ทำบุญ  ถือเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่อีกส่วนหนึ่งที่กระจายไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใด เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็จะมีการขอพรและเสริมสิริมงคลให้กับครอบครัวและธุรกิจการค้า สำหรับในปีนี้ไม่มีเหตุการณ์พิเศษเช่นปีก่อน ทำให้เม็ดเงินส่วนนี้มีประมาณ 3,540 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 (YoY)





     อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านเทศกาลตรุษจีนจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้ความเคร่งครัดในประเพณีถูกลดทอนลง ถือเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว พร้อมทั้งต้องคิดวางกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการตลาดที่อาจเปลี่ยนไป โดยกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ได้ นั่นคือ


1.กลยุทธ์การเข้าถึงสินค้าที่ง่าย

     สามารถซื้อสินค้าได้ในที่เดียว จากเดิมที่บางส่วนต้องไปหลายๆ แห่งจึงจะได้ของครบ หรือการนำเสนอสินค้าที่ปรุงสำเร็จมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอน ซึ่งนอกจากตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้ว ยังสามารถตอบโจทย์คนรุ่นก่อนที่มีอายุและไม่สะดวกที่จะปรุงเครื่องเซ่นไหว้เอง (แต่ของต้องเน้นคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่คนให้ความสำคัญมาก) รวมถึงมีบริการโทรสั่งและจัดส่งเพื่ออำนวยความสะดวกหากไม่ตรงกับวันหยุด รวมถึงธุรกิจต้องสามารถเตรียมชุดเซ่นไหว้ในระยะเวลาไม่นานเกินไปภายหลังการสั่งซื้อ เนื่องจากบางครั้งคนรุ่นใหม่อาจเปลี่ยนใจจัดพิธีไหว้โดยไม่ได้วางแผนล่วงหน้า


2.กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง 

     จากการที่ไม่เคร่งครัดทางด้านประเพณีสูงเท่าคนรุ่นก่อน กลุ่มนี้จึงมองหาวัตถุดิบเครื่องเซ่นไหว้ให้เข้ากับสถานการณ์หรือรสนิยมของตนเอง อาทิ การปรับเปลี่ยนเครื่องเซ่นไหว้ให้เหมาะกับสุขภาพมากขึ้น อาทิ เพิ่มอาหารทะเลจากเดิมที่เน้นเป็ด ไก่ หมูหรือการใช้ขนมรูปแบบที่ชอบแทนขนมเทียน/ขนมเข่ง หรือขนมถ้วยฟูแบบเดิม นอกจากนี้อาจมีการปรับลดจำนวนการเผากระดาษเงินกระดาษทองที่เป็นมลพิษลงด้วย ดังนั้นการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้อาจนำเสนอชุดเซ่นไหว้เล็กๆ แต่มีการเพิ่มสินค้าทดแทนเครื่องเซ่นไหว้ดั้งเดิม ตามรสนิยมของแต่ละคน ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้ชุดเล็กยังอาจเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่พักอาศัยอยู่ตามคอนโดมิเนียมที่สามารถนำไปไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ได้อันเป็นการลดข้อจำกัดด้านที่พักไม่อำนวยได้





     นอกจากนี้ ในการดึงเม็ดเงินในช่วงเทศกาลตรุษจีนให้ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากเครื่องเซ่นไหว้นั้น นับเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาเม็ดเงินส่วนเดียว โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ น่าจะมีโอกาสสูง เนื่องจากสามารถตอบสนองกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนได้หลากหลายมากกว่าการจำหน่ายเครื่องเซ่นไหว้ที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว โดยกิจกรรมที่ทำกันเป็นครอบครัว อาทิ การรับประทานอาหาร ชมภาพยนตร์ ช้อปปิ้ง
 

     ดังนั้น การวางแผนกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนมาใช้บริการ จึงต้องเป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างสำหรับดึงคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ให้มาใช้บริการ อาทิ กิจกรรมเสริมดวงเสริมมงคล แก้เคราะห์ต่างๆ รวมถึงการแสดงวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเทศกาลที่เหมาะกับคนรุ่นก่อน และการจัดกิจกรรมที่เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ควบคู่กัน อาทิ การลดราคาสินค้าแผนกอื่นๆ การจัดซุ้มหรือเวทีเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของประเพณี หรือความรู้ด้านการจัดชุดเซ่นไหว้รวมถึงการทำขั้นตอนการพิธีที่ถูกต้อง เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถบันทึกรายละเอียด และสามารถนำไปใช้ในปีต่อๆไปได้ รวมถึงมีกิจกรรมตอบคำถามเพื่อแจกรางวัลต่างๆ ซึ่งจะช่วยดึงเม็ดเงินต่างๆช่วงเทศกาลตรุษจีนให้กระจายสู่ธุรกิจอื่นๆได้มากขึ้น


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​