คนซ่อมหนังสือ ธุรกิจนอกกระแสที่ดีมานด์มากกว่าซัพพลาย







      ในโลกเรานี้ ยังมีอาชีพอยู่อีกมากมายนักที่เราอาจไม่รู้จัก นึกไม่ถึง หรือไม่คิดว่าน่าจะมีเกิดขึ้นมาได้ด้วยซ้ำ อาชีพคนซ่อมหนังสือ อาจไม่ใช่อาชีพแปลกประหลาด แต่ก็ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีคนทำอยู่น้อยมาก น้อยจนไม่อาจเขียนแสดงออกมาเป็นจุดทศนิยมได้ เพราะประเทศไทยทั้งประเทศอาจมีคนทำอยู่ไม่ถึง 10 คนเท่านั้น! แล้วทำไมอาชีพนี้ถึงยังมีอยู่ ใครเป็นคนที่ต้องการพวกเขา พวกเขาทำงานกันอย่างไร สุดท้ายในยุคที่ผู้คนต่างหันมาเสพตัวหนังสือบนโลกออนไลน์กันมากขึ้นอาชีพนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ไปพบคำตอบของคำถามที่ Book Clinic กัน

คำนำ
 
      “เล่มนี้ คือ เล่มที่ผมภูมิใจมาก เก่าสุดเท่าที่เคยทำมาแล้ว พิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ.1688 อายุ 300 กว่าปี เพิ่งได้มาก่อนปีใหม่ไม่นาน ตื่นเต้นมากตอนได้มา นี่เหลือแค่รอให้ลูกค้าเลือกว่าจะติดชื่อเรื่องที่สันปกแบบไหน ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว”ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล ชายหนุ่มเจ้าของร้านซ่อมหนังสือ Book Clinic เอ่ยให้เราฟังถึงผลงานการซ่อมหนังสือชิ้นล่าสุดที่เขากำลังลงมือทำอยู่

      ทาวน์เฮ้าส์สองชั้นขนาดย่อม ย่านบางบัวทอง คือ บ้านและสถานที่ทำงานในเวลาเดียวกันที่เขาใช้เวลาคลุกอยู่เกือบทั้งวันกับงานของเขากับกองหนังสือที่ตั้งอยู่เรียงรายรอจ่อคิวซ่อม เพื่อส่งมอบคืนให้กับเจ้าของ





      ภัทรพลใช้ชีวิตทำงานอยู่กับบ้าน เพื่อซ่อมหนังสือมานานกว่า 20 ปี หากไม่นับในช่วงเริ่มต้นที่ออกไปตั้งโต๊ะอยู่ปีสองปีแรกในห้างสรรพสินค้า เพื่อแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จัก เขาเล่าย้อนให้ฟังว่าชีวิตช่างซ่อมหนังสือของเขานั้น เริ่มต้นขึ้นจากการเป็นพนักงานร้านถ่ายเอกสารแห่งหนึ่งมาก่อน ที่ต้องทำทั้งงานถ่ายเอกสาร งานเข้าเล่ม เมื่อเห็นว่ามีฝีมือดีเข้าเล่มได้สวยงามเรียบร้อย ก็เริ่มมีลูกค้าเอาหนังสือมาให้ลองซ่อม เมื่อเห็นว่าเป็นอาชีพที่แปลก ยังไม่ค่อยมีใครทำ จึงลองศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง จากนั้นชีวิตของเขาก็ก้าวเข้าสู่อาชีพคนซ่อมหนังสือนับแต่นั้นเป็นต้นมา

      “สมัยนั้นไม่มีที่ไหนเปิดสอน ทุกอย่างต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาตลอด หาหนังสือเก่ามาลองทำ พอรื้องานมากๆ เราก็จะค้นพบเองว่าหนังสือแต่ละเล่มนั้นเขาทำกันมายังไง ประกอบยังไง เย็บแบบไหน เหมือนเราอ่านการทำงานของช่างในแต่ละยุคผ่านหนังสือแต่ละเล่มได้ อย่างเล่มนี้ อายุ 300 กว่าปีแล้ว แต่น่าสนใจมากที่เนื้อกระดาษยังอยู่ในสภาพที่ดี ทั้งที่มีความเป็นกรดในเนื้อกระดาษ แต่ไม่กรอบแตกง่ายเหมือนของไทย แสดงว่าต้องมีกรรมวิธีการผลิตกระดาษที่ดีมากๆ”ภัทรพลยกตัวอย่างหนังสือให้ฟัง








ว่าด้วยกระบวนการซ่อมหนังสือ
 
      เมื่อเริ่มแนะนำตัวบอกเล่าที่มาที่ไปคร่าวๆ ให้ฟังแล้ว ภัทรพลได้เล่าถึงกระบวนการซ่อมหนังสือให้ฟังว่า หนังสือที่เขาซ่อมอยู่ทุกวันนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.หนังสือใหม่ 2.หนังสือเก่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมีด้วยกันหลายกลุ่ม ได้แก่ บุคคลทั่วไป ร้านหนังสือเก่า และหน่วยงานต่างๆ โดยหนังสือส่วนใหญ่ที่นำมาซ่อมก็มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน คือ 1.หนังสือที่มีราคาแพง 2.หนังสือหายาก และ3.หนังสือที่มีคุณค่าต่อจิตใจ

      หลังจากได้มีการตกลงทำการซ่อมแล้ว ขั้นตอนแรกของการซ่อมหนังสือ คือ ต้องรื้อหนังสือออกมาก่อน เพื่อแยกในส่วนที่ต้องซ่อมแซมแก้ไข จากนั้นจึงทำการลงมือซ่อมให้ออกมาอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขั้นตอนสุดท้ายจึงจะนำมาทำการประกอบเข้าเล่มใหม่ให้เรียบร้อยเหมือนเช่นเดิม ซึ่งราคาค่าซ่อมแต่ละเล่มก็จะแตกต่างกันออกไป โดยค่าแรงจะคำนวณมาจากชั่วโมงการทำงานที่ต้องใช้และค่าฝีมือ ค่าแรงงาน บวกกับค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย หากเป็นการซ่อมทั่วไป เพื่อให้ใช้งานได้ก็ไม่เท่าไหร่ แต่หากต้องการซ่อมให้ออกมาสวยงาม เช่นทำเป็นปกหนัง ตัวหนังสือดิ้นทอง ก็จะคิดราคาเพิ่มเข้าไปตามนั้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการซ่อมหนังสือแต่ละเล่มนั้น ภัทรพลกล่าวว่าต้องดูที่เจตนา ความต้องการของลูกค้าก่อนว่าต้องการซ่อมเพื่ออะไร





      “ก่อนจะลงมือทำงานทุกครั้ง เราต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าต้องการซ่อม เพื่อนำไปสู่อะไร บางคนอยากได้เหมือนใหม่ทำเป็นปกแข็ง ตัวหนังสือดิ้นทอง ในขณะที่บางคนอาจอยากได้แบบเดิมๆ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่จัดการให้อยู่ในสภาพที่ดีก็พอแล้ว เราต้องแยกลูกค้าให้ได้ว่าเป็นแนวไหน อย่างครั้งหนึ่งตอนที่เริ่มทำแรกๆ ซ่อมเสร็จแล้วผมเคยตัดขอบหนังสือให้กับลูกค้าใหม่ ปรากฏว่าเขาไม่ชอบ เขาอยากได้แบบเก่าๆ เหมือนเดิม ก็จำไว้เป็นบทเรียน”

      โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งวันหากเป็นหนังสือใหม่เขาสามารถทำได้ถึง 10-20 เล่ม ในขณะที่หนังสือเก่าอาจทำได้เพียง 1-2 เล่มต่อวันเท่านั้น เพราะเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ทำยากกว่า มีรายละเอียดมากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วย หากเป็นหนังสือใหม่ราคาค่าซ่อมจะอยู่ที่ประมาณ 60 -500 บาท ส่วนหนังสือเก่านั้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเล่มที่นำมาซ่อม ซึ่งเขาเคยรับซ่อมสูงสุดอยู่ที่ราคา 5,000 บาท โดยนอกจากรับซ่อมหนังสือเก่าแล้ว เขายังรับซ่อมงานเอกสารเก่าต่างๆ ด้วย เฉลี่ยในเดือนๆ หนึ่งแล้วมีงานเข้ามาประมาณ 70 – 100 ชิ้นคละกันไป








บทสรุป เมื่อตัวหนังสือย้ายมาอยู่บนหน้าจอสี่เหลี่ยม
 
      ด้วยอาชีพที่น้อยคนนักจะรู้จักอยู่แล้ว ยิ่งมาในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์กำลังเบ่งบาน อาชีพคนซ่อมหนังสือจะเป็นอย่างไรต่อไป?

      “ตอนยุบร้านแรกที่ซีคอนสแควร์ ตอนนั้นผมตั้งโต๊ะอยู่หน้าร้านหนังสือดวงกมล ต้องเลิกทำเพราะห้างเขาปรับปรุงพื้นที่ใหม่ จำได้เคยไปขอรายชื่อห้องสมุดต่างๆ จากทางร้านมาเก็บไว้ เผื่อวันหนึ่งถ้าไม่มีลูกค้าเราจะได้ลองติดต่อไปของานทำ แต่จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยได้หยิบออกมาใช้เลย งานมีเข้ามาตลอด ถามว่าในยุคนี้ที่ผู้คนหันไปอ่านหนังสือบนออนไลน์กันมากขึ้น น่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อเราไหม กลับกลายเป็นว่าถ้าคนยิ่งอ่านหนังสือเล่มน้อยลง เขาก็จะยิ่งเห็นคุณค่าของหนังสือมากขึ้น ต้องระมัดระวังเก็บรักษาให้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะมันหาได้ยากขึ้นกว่าเดิม”





      นอกจากให้บริการรับซ่อมหนังสือ ในทุกวันนี้ Book Clinic ยังได้จัดคอร์สฝึกอบรมสำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้วิธีการซ่อมหนังสือด้วย แม้ในตอนที่เขาเริ่มต้นนั้นไม่เคยมีที่ไหนเปิดสอนมาก่อน ทุกอย่างต้องศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเอง

      “ผมว่าในยุคนี้เราไม่ควรจะหวงความรู้ไว้ เพราะไม่มีความรู้ที่คุณจะเก็บเอาไว้คนเดียวได้อีกต่อไป แค่ลองเข้ากูเกิ้ลเสิร์ชหาข้อมูลอะไรบางอย่างเข้าไป สักอย่างก็ขึ้นมาให้เลือกดูเพี้ยบแล้ว ยุคนี้เป็นยุคของการแชร์ ถ้าคุณเจ๋งจริง ยังไงก็ต้องมีคนเข้ามาหา ดังนั้นจึงไม่น่าหวง ทุกวันนี้อาชีพคนซ่อมหนังสือยังมีอยู่น้อยมาก เป็นอาชีพที่มีคนทำไม่เยอะ ยังขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ในบ้านเราที่เห็นก็มีในกรุงเทพฯ 3-4 ราย และก็ที่เชียงใหม่เท่านั้น ฉะนั้นเราจึงอยากเปิดกว้างให้มีคนเข้ามาช่วยทำ มีหนังสืออยู่เยอะแยะมากในโลกใบนี้ที่รอให้ไปซ่อมแซม เพียงแต่ลูกค้าไม่รู้ว่าเขาจะไปหาเราได้ที่ไหน มีใครรับทำได้บ้าง ราคาเป็นยังไง เมื่อมีคนมาช่วยทำเยอะขึ้น วันหนึ่งเราจะได้เขยิบไปทำงานที่ยากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราเอาจริงเอาจังกับมัน ก็มีทิศทางให้เดินไปเอง ในงานซ่อมหนังสือสามารถแบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ 1. Book rebinding – การเข้าเล่ม 2. Book repairing – การซ่อมแซม 3. Book conservation – การอนุรักษ์ และ 4. Book restoration – การบูรณะ ฟื้นฟู ซึ่งผมอยากเป็นนักบูรณะมากกว่า ไม่ใช่เพียงแค่อนุรักษ์ แต่ปรับปรุงฟื้นฟูขึ้นมาให้เหมือนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง”



      
      Book Clinic         Facebook : ร้านซ่อมหนังสือ-Book-Clinic
      




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ