​“เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก” ทางรอด SME ยุคใหม่





 

     ความเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีที่ดูจะก้าวล้ำมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และแน่นอนแม้จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้มากขึ้นเพียงใด แต่ในทางกลับกันช่องทางดังกล่าวก็เป็นเสมือนประตูให้คู่แข่งเข้ามาจากทุกมุมโลกได้เช่นกัน
 

     ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ SME ต้องรับรู้ การเติบโตของโลกออนไลน์ดังกล่าวส่งผลอะไรบ้าง ผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO แห่ง Nasket บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่รวมบริการต่างๆ เพื่อช่วยให้คนอยู่อาศัยในบ้านและคอนโดมิเนียมสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกและง่ายขึ้น และผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce ได้กล่าวถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตขึ้นของโลกออนไลน์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวรับมือดังนี้
 

     “โดยทั่วไปแล้วธุรกิจ SME แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1.ขายสินค้า 2.บริการทั่วไป และ 3.บริการให้ความรู้ เช่น การฝึกอบรมต่างๆ สิ่งที่ผมเห็น ณ ตอนนี้ คือ ทั้งธุรกิจที่เป็นสินค้าและบริการ จะถูก Disrupt หรือคุกคามจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยแฝงเข้ามาทางช่องทางออนไลน์และเทคโนโลยี นั่นหมายความว่าต่อให้ลูกค้าในบ้านเราซื้อสินค้าจากต่างประเทศไม่เป็น ผู้ประกอบการต่างประเทศเขาก็พร้อมที่จะเข้ามาหาเอง และพยายามทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้น เช่น เปิดขายผ่านเฟซบุ๊กได้ง่ายๆ เหมือนที่พ่อค้าแม่ค้าไทยทำกันอยู่ กระทั่งการจ่ายเงิน การขนส่ง ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการซื้อของในไทยทุกอย่าง โดยรูปแบบจะผิดไปจากการสั่งซื้อสินค้าผ่าน e-Commerce สมัยก่อน ที่อยากจะได้สินค้าสักชิ้น ก็ต้องเข้าเว็บไซต์ต่างประเทศ อ่านภาษาอังกฤษ เพื่อไปค้นหา หรือต้องหาวิธีสั่ง วิธีชำระเงินที่ยุ่งยาก
 




     “ล่าสุดอีกตัวอย่างที่ผมเพิ่งไปเห็นมาคือ การปลอมตัวของเว็บไซต์เว็บหนึ่ง ซึ่งความจริงเป็นเว็บไซต์ที่มาจากจีน แต่กลับปลอมตัวว่าเป็นเว็บไซต์จากเยอรมนี โดยทำทุกอย่างขึ้นมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถ้าคนไม่สังเกตดีๆ ก็คิดว่าน่าจะใช่ แต่พอลองอ่านจริงๆ แล้วจะรู้ว่าไม่รู้เรื่อง เพราะใช้ Google Translate แปลมา จากนั้นก็มาทำโฆษณาแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เวลาลูกค้าเซิร์ชหาข้อมูลจะได้เจอเขา พอลูกค้าสนใจลองกดเข้าไปดูที่เว็บไซต์เห็นว่าเป็นหน้าเว็บภาษาอังกฤษ็น็ปำมาจากเยอรมนี ก็เกิดความเชื่อถือ นี่คือหนึ่งในลักษณะของการแทรกซึมเข้ามาของผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยก่อนหน้าที่จะมีออนไลน์การค้าขายส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เกือบทั้งหมด พอออนไลน์เริ่มเข้ามา ผู้ประกอบการรายเล็กก็เริ่มเข้ามาแบ่งพื้นที่ตลาด โดยสามารถเข้าไปสั่งสินค้ามาขายได้เหมือนที่รายใหญ่ทำ แต่ในวันนี้ผู้ประกอบการรายเล็กของไทยกลับโดนรายเล็กจากจีนไล่กินอีกทอดหนึ่ง กลายเป็นจากแต่ก่อนเราไปขอแบ่งซื้อสินค้าจากเขามาขาย แต่ตอนนี้เขากลับเป็นผู้กระโดดเข้ามาขายให้กับลูกค้าของเราโดยตรง”
 

     สำหรับในด้านธุรกิจบริการนั้น โดยส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และเขตแดน เป็นตัวช่วยป้องกันการคุกคามจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามา แต่ในที่นี่หมายถึงเฉพาะบริการที่ต้องมีการเดินทาง มีการพบปะหน้าลูกค้า เพื่อให้บริการเท่านั้น แต่สำหรับบริการที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างสามารถรับงาน-ส่งงานกันได้ทันที โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยคือ รูปแบบธุรกิจที่ค่อนข้างจะได้รับผลกระทบมากและถูกคุกคามจากผู้เล่นในต่างประเทศ
 

     “ธุรกิจบริการที่จะถูกคุกคามในอนาคต ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้คือ รูปแบบบริการที่สามารถทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ไม่ต้องมีการเดินทางไปหา และไม่ต้องยึดติดกับภาษา ยกตัวอย่างเช่น บริการรีทัชภาพ บริการเขียนโปรแกรม บริการวิเคราะห์ข้อมูล เกือบทุกชนิดผู้จ้างงานและผู้รับงานไม่ต้องเดินทางไปหากันก็ได้ เพียงแค่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการส่งงาน ซึ่งบริการเหล่านี้เองที่จะถูกผู้ประกอบการต่างชาติค่อยๆ แทรกซึมเข้ามา ฉะนั้นเห็นได้ชัดว่าบางครั้งมันไม่ใช่แค่การคุกคามอย่างเดียว แต่เป็นเพราะดีมานด์หรือความต้องการของลูกค้าในเมืองไทยเองที่วิ่งไปหาตลาดต่างประเทศด้วย ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างที่ดีกว่า พูดง่ายๆ ว่า ต่อไปอะไรที่สามารถปรับให้อยู่ในรูปดิจิทัลและส่งไฟล์ด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เดี๋ยวอีกสักพัก ไม่นานก็จะโดนทำอะไรบางอย่างเหมือนกัน”
 


 

   จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต ผรินทร์แนะวิธีที่ SME จะใช้รับมือและสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องคือ การแสวงหาตลาด หรือผู้บริโภคตัวจริงของแบรนด์ให้เจอ
 

     “เมื่อฐานคู่แข่งเปิดกว้างมากขึ้น วิธีการที่จะทำให้ SME รายเล็กๆ อยู่รอดได้ โดยไม่ต้องไปแข่งกับคนหมู่มาก ก็คือหาบ่อเล็กของตัวเองให้เจอ และเป็นปลาใหญ่ให้ได้ หาบ่อที่ไม่มีใครมายุ่ง และเราเป็นปลาใหญ่ที่กินทุกตัวในบ่อนั้น จากนั้นก็ค่อยปรับตัวไปเรื่อยๆ หมั่นดูแลรักษาบ่อเล็กของตัวเองให้ดี ดูสิบ่อจะแห้งไหม มีกบเขียดไหลเข้ามาไหม พยายามหากลุ่มลูกค้าที่รักเรา และอยู่ในพื้นที่ของเรา การสร้างเอกลักษณ์ก็อาจเป็นวิธีหนึ่ง แต่ต้องดูด้วยว่าเอกลักษณ์ที่มีนั้น ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือเปล่า ไม่ใช่มีเพื่อให้ต่างจากคนอื่นอย่างเดียว สำคัญที่สุดคือ ต้องหาลูกค้าให้เจอ และเอาสิ่งที่เขาต้องการไปให้เขา”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​