เกาะกระแสออเจ้า เวิร์กช้อปขนมไทยกำลังมา!







      จากกระแสละครดังเรื่องบุพเพสันนิวาสที่กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้อะไรๆ ที่เป็นไทยๆ กลับมาได้รับความนิยมกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายด้วยชุดไทย การท่องเที่ยวตามโลเคชั่นการถ่ายทำอย่างเมืองเก่าอยุธยาที่ทำเอารถติดยาวเป็นหางว่าว หรือแม้แต่เหตุการณ์ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ เมื่อคืนที่ผ่านมากับการขึ้นครองแชมป์ติดแฮชแท็กเป็นอันดับ 1 ของโลกในทวิตเตอร์ ฉะนั้นคงไม่ต้องกล่าวแล้วว่าละครเรื่องนี้ส่งผลแรงเกินคาดขนาดไหน และหนึ่งในธุรกิจที่ดูจะได้รับอานิสงส์ตามมาติดๆ ไม่แพ้กัน คือ เวิร์กช้อปสอนขนมไทย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด La Malila (ลา มะลิลา) ก็เป็นหนึ่งในนั้น
 
      La Malila (Thai dessert & studio) คือ เวิร์กช้อปสอนทำขนมไทยเล็กๆ ย่านซอยทองหล่อ 18 ที่เกิดขึ้นมาจากความรักความตั้งใจของ ทัชชา พรจนกาญ หญิงสาวที่มีดีกรีจบเบเกอรี่จากสถาบันชั้นนำ William Angliss Institute ประเทศออสเตรเลีย แต่ด้วยความที่มีใจรักในขนมไทยและชื่นชอบขนมไทยอยู่แล้ว จึงทำให้สนใจศึกษาเรียนรู้การทำขนมไทยควบคู่กันไปด้วยตั้งแต่เรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย เพราะบางอย่างก็ใช้พื้นฐานใกล้เคียงกัน ต่างกันที่วัตถุดิบเท่านั้น กระทั่งได้กลับมาอยู่เมืองไทยจากความตั้งใจแรกที่อยากเปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆ ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง แต่เมื่อมองเห็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ดูจะให้ความสำคัญกับบรรยากาศร้านมากกว่าตัวเบเกอรี่จริงๆ เธอจึงลองเบนเข็มมายังขนมไทยที่ชื่นชอบ และเนื่องด้วยในขณะนั้นตลาดขนมไทยเองก็ยังไม่ได้มีคู่แข่งมากนัก เธอจึงคิดเริ่มต้นทำขนมไทยขายผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบขนมไทยโบราณ ขนมไทยหายากบ้าง จัดเป็นชุดของขวัญมอบในโอกาสพิเศษต่างๆ จนเมื่อได้ลองทำไปเรื่อยๆ มีคนสนใจติดต่อเข้ามาอยากขอเรียนด้วย จึงได้เปิดเวิร์กช้อปสอนทำขนมไทยขึ้นมา และก็ค้นพบว่า นี่คือ สิ่งที่อยากทำมากกว่า จึงได้หันมาเน้นการสอนทำขนมไทยอย่างเต็มตัวมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้





      “การทำขนมขายเราต้องอยู่กับที่ คอยรับออร์เดอร์ จัดส่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราเป็นคนเดินทางเยอะ ชอบเรียนรู้ชอบทำอะไรหลายอย่าง ทำให้บางทีลูกค้าสั่งออร์เดอร์เข้ามาเราก็ไม่เห็น จึงคิดว่าการเปิดเวิร์กช้อปน่าจะเหมาะกับเรามากกว่า รู้สึกสนุกด้วยเวลาได้สอนได้ถ่ายทอดออกไป ทำให้เราได้ไปค้นหาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมเวลานักเรียนถาม บางทีก็ไปหาตำรับขนมเก่าๆ ที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้จักมาสอน ทำให้เราเองก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้นไปด้วย”

      ทัชชาเล่าว่าการเรียนการสอนทำขนมไทยในช่วงนั้น ยังมีอยู่เพียงไม่กี่เจ้า ส่วนใหญ่เป็นสถาบันดั่งเดิมที่เปิดสอนอยู่แล้ว กระทั่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เธอเองเริ่มหันมาเปิดคอร์สสอนทำขนมไทย ก็พบว่ามีการเปิดเวิร์กช้อปทำขนมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างเธอ





      “จะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปีนี้มีการเปิดเวิร์กช้อปสอนทำขนมไทยเกิดขึ้นเยอะมาก คนเริ่มหันกลับมาสนใจอะไรที่เป็นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเหมือนช่วงหนึ่งเราหันไปสนใจเทคโนโลยี วัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามา จนลืมนึกถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ พอมันเริ่มจะหายไปคนเลยหันกลับมาให้ความสนใจมากขึ้น”

      โดยกลุ่มลูกค้าที่สนใจสมัครเข้ามาเรียนนั้นมีหลากหลายด้วยกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย วัยเริ่มต้นทำงาน ไปจนถึงคนที่ทำงานมาแล้วพักหนึ่ง แต่อยากกลับมาค้นหาตัวเอง บางคนก็เรียนเพื่อเป็นงานอดิเรก โดยคอร์สเรียนทำขนมไทยของ La Malila นั้นจะเน้นสอนทั้งรูปแบบขนมไทยโบราณ ขนมไทยหายาก และขนมไทยที่ต้องใช้ฝีมือประดิดประดอยในการทำ เช่น ดาราทอง ทองเอก เสน่ห์จันทร์ ช่อม่วง สัมปันนี ในแต่ละคอร์สจะสอนด้วยกันทั้งหมด 3 อย่าง และเปิดรับครั้งละ 1 - 3 คน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาจากทาง instagram, pinterest และ facebook โดยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ La Malila คือ การเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย เป็นกันเอง รวมถึงรูปภาพที่ดูโดดเด่น สวยแปลกตาจากรูปขนมไทยที่เคยเห็นกันมา





      “ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาจากทาง IG เขาเห็นจากรูปที่เราโพสต์ลงและชอบก็เลยติดต่อเข้ามา เพราะรู้สึกว่าแตกต่างจากภาพของขนมไทยที่เขาเคยเห็นมา ดูมีความทันสมัย มีดีไซน์มากกว่า ซึ่งพอได้มาลองเรียนแล้ว ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราสอนเข้าใจง่าย สนุก และเป็นกันเอง หลายคนลงเรียนคอร์สหนึ่งแล้ว ก็กลับมาเรียนซ้ำคอร์สอื่นอีก ซึ่งเรามองว่าอาจเป็นเพราะตัวเองก็ชอบเรียนเวิร์กช้อปมาแล้วหลายอย่างเหมือนกัน จึงทำให้รู้ว่าคนที่มาเรียนนั้นเขาต้องการอะไรบ้าง ต้องสื่อสารหรือสอนยังไงให้เขาเข้าใจได้ง่าย โดยในการสอนแต่ละครั้งเราจะรับนักเรียนไม่เกิน 3 คน เพื่อจะได้ดูแลทั่วถึง

      นอกจากเรียนทำขนมไทยแล้ว เราพยายามสอดแทรกเรื่องแพ็กเกจจิ้ง การสื่อสารขนมไทยในรูปแบบใหม่ให้เขาไปด้วย โดยพยายามทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างว่า ขนมไทยถ้าอยู่บนแพ็กเกจจิ้งที่ดี ก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้ โดยเมื่อเรียนเสร็จเราจะทำเป็นแพ็กเกจจิ้งดีๆ ให้เขาใส่กลับบ้านไปด้วย หรืออย่างแผ่นชีทที่ใช้สอนเราก็จะปริ้นท์ใส่กระดาษอาร์ตอย่างดี มีรูปที่ถ่ายเอง เขียนบอกประวัติ สูตร และวิธีการทำ ให้เขาได้เอากลับไปอ่านเพิ่มเติมด้วย”





      สุดท้ายเมื่อถามว่ากระแสจากละครดังอย่างบุพเพสันนิวาส ส่งผลอะไรกับการเรียนการสอนขนมไทยบ้างไหม ทัชชากล่าวว่ามีผลแน่นอน นักเรียนที่สมัครเข้ามาเรียนกับเธอหลายคนต่างสนใจและชวนคุย รวมถึงอยากรู้เรื่องการทำขนมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในละครเองก็มีหลายฉากที่พยายามเอาขนมไทยเข้าไปประกอบ รวมถึงเนื้อหาของเรื่องยังได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของขนมไทย นั่นคือ ท้าวทองกีบม้า ซึ่งในเรื่อง คือ แม่มะลิ หรือมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา หญิงสาวเชื้อสายโปรตุเกส ผู้ริเริ่มการนำไข่มาใช้กับขนมไทยด้วยที่รู้จักกันดี ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง

      “ถามว่าละครส่งผลไหม มีนะ ทำให้คนหันมาสนใจอะไรที่เป็นของไทยเพิ่มมากขึ้น นักเรียนที่มาเรียนช่วงนี้ก็พูดถึงเรื่องนี้บ่อย มีความสนใจอยากเรียนรู้ รู้จักเรื่องราวขนมไทยมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ตอนนี้เนื้อเรื่องอาจจะยังไม่ได้พูดถึงขนมไทยมากนัก แต่หลายฉากก็มีการนำขนมไทยเข้าไปประกอบอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย ทำให้หลายอย่างเราต้องไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาตอบ บางอย่างเขาก็มาเล่าให้ฟัง สนุกดีคะ เหมือนได้แลกเปลี่ยนความรู้กันไปด้วย”





      และนี่คือ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสออเจ้าฟีเวอร์!! ของพี่หมื่นเดชและแม่หญิงการะเกด นั่นเอง
 
IG : @la_malila_1st




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​