พลิกวิกฤต แก้เกมธุรกิจจากตัน! เป็นโต! ฉบับ NPP Box







      หากพูดถึงกล่องลูกฟูก กล่องพัสดุสำหรับใช้ส่งสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ NPP Box รวมอยู่ด้วยแน่นอน ด้วยการผลิตที่เน้นใส่ใจคุณภาพ พยายามตอบสนองทุกความต้องการให้กับลูกค้า จึงทำให้ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง แต่รู้ไหมว่ากว่าจะมาถึงอย่างทุกวันนี้ได้ NPP Box เองก็เคยก้าวผ่านวิกฤตมาก่อน

      จากโรงงานผลิตกล่องลูกฟูกเล็กๆ ที่วันหนึ่งไม่สามารถเข้าไปแข่งขันฟาดฟันในสงครามราคากับรายใหญ่ได้ จนเกือบจะต้องปิดกิจการไป แต่แล้วสุดท้ายก็สามารถพลิกฟื้นกู้สถานการณ์กลับคืนมาได้ด้วยโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนจากผู้ผลิตให้กับวงการอุตสาหกรรมมาจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น SME เพิ่มมากขึ้น จากทางตันกลับกลายเป็นทางออก เพียงระยะเวลา 5-6 เดือนทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติ กิจการดำเนินต่อไปได้ แถมยังเติบโตเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นแบรนด์กล่องลูกฟูกอันดับต้นๆ ที่ครองใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้อย่างทุกวันนี้ พรรณกร จันทรรุกขา หรือ อูน หญิงสาวผู้สร้างปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมาเผยเคล็ดลับให้ฟัง





กว่าจะมาเป็น NPP Box

      “เดิมทีธุรกิจที่บ้านทำธุรกิจโรงงานรับผลิตกล่องลูกฟูกให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มาก่อนเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เวลาสั่งผลิตแต่ละครั้งจะได้ปริมาณที่เยอะ แต่ได้กำไรน้อย และด้วยความที่เราเป็นโรงงานเล็กๆ บางครั้งก็ไม่สามารถเข้าไปฟาดฟันแข่งขันราคากับโรงงานขนาดใหญ่ได้ เพราะการผลิตแต่ละครั้งจะต้องมีการแข่งขันประมูลราคากัน จนทำให้เกิดผลกระทบขึ้นกับบริษัท จนถึงขั้นต้องปิดกิจการลง ซึ่งก่อนหน้านั้นอูนเองไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจที่บ้านเลย กระทั่งเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงเข้าไปคุยกับคุณแม่ว่าขอลองเอามาทำต่อได้ไหม คุณแม่เห็นความตั้งใจ ท่านก็อนุญาต จากนั้นเราก็ไปหาเงินเพื่อใช้ให้กับธนาคาร และดูแลกิจการเองตั้งแต่มกราคม 2558




      “วิธีการที่อูนลองใช้หลังจากเข้ามาดูแลกิจการเองแล้ว คือ อูนมีความรู้สึกว่าหากเราไม่ได้แข็งแกร่งเรื่องการแข่งขันราคา เราก็แค่เปลี่ยนมาทำฝั่งตรงข้าม จากอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนมาเป็น SME จากแข่งขันราคาก็มาเน้นงานดีไซน์ จากนั้นจึงค่อยแยกออกมาว่า เมื่อตั้งโจทย์ขึ้นมาแบบนี้แล้ว ทิศทางต่อไปในอนาคตเนื้องานน่าจะเป็นแบบไหน มีอะไรที่เราต้องทำบ้าง ซึ่งเราได้ข้อสรุปว่าการมาทำงานกับกลุ่มลูกค้า SME นั้น เราต้องไม่ใช่แค่กล่องลูกฟูกธรรมดาทั่วไป แต่จะต้องเป็นผู้สร้างความประทับใจแรกของสินค้าให้แก่ผู้รับด้วย ใครก็ตามที่เอาสินค้ามาใส่กล่องที่ NPP Box ทำ สินค้าเขาจะต้องมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เราไม่ได้มองกล่องเป็นแค่กล่องใส่สินค้าอีกต่อไป แต่คือแพ็กเกจจิ้งคือหน้าตาของแบรนด์ด้วย ฉะนั้นเราก็มาลงรายละเอียดว่าจะใส่อะไรลงไปบนกล่องบ้าง ไม่ใช่แค่ระวังแตก หรือบอกว่ากล่องนี้บรรจุสินค้าอะไร จะต้องมีเรื่องราวของแบรนด์ มีโลโก้ สโลแกน ช่องทางการติดต่อ ฯลฯ ”





3 ข้อคิด เปลี่ยนโมเดลธุรกิจยังไงให้รุ่ง


      จากที่ได้เล่ามานั้น พรรณกร ได้สรุปเป็นปัจจัยสำคัญ 3 ข้อคิด สำหรับการหาทางออกให้กับธุรกิจเมื่อวันหนึ่งที่ต้องเดินมาถึงทางตัน ด้วยการคิดต่อยอดหรือหาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อนำพาธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตดังนี้

      1.ผู้นำต้องมีแนวคิดชัดเจน – อย่างตอนที่เริ่มต้นอูนก็มีแนวคิดที่ชัดเจนว่าเราจะไม่ทำกล่องที่เน้นแข่งราคา แต่จะทำกล่องให้สวยงามให้เป็นที่ต้องการของลูกค้า พอแนวคิดผู้นำองค์กรชัดเจนเราก็ต้องถ่ายทอดให้คนในองค์กรรับรู้ด้วยว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางไหน พอทุกคนชัดเจนไปด้วยกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ธุรกิจก็สามารถดำเนินต่อไปได้ ที่สำคัญผู้นำต้องมีความเข้มแข็ง อย่าคิดแต่ว่าไม่มีทางออก





      2.คิดบวก – พอเรามีทิศทางที่ชัดเจนแล้วว่าจะปรับเปลี่ยนไปยังไง อีกสิ่งที่ต้องใช้อย่างมาก คือ การสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง เพราะเราต้องเจอปัญหาตลอดทางแน่นอน แนวคิดหนึ่งที่อูนใช้อยู่เสมอ คือ ‘คนแพ้มองแต่ปัญหา คนชนะจะมองหาทางออก’ เพราะฉะนั้นเวลาเจอปัญหาอะไรเราจะไม่มานั่งกังวลให้เสียเวลา แต่จะคิดหาทางออก สมมติมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาเยอะขึ้น ทำกล่องรูปแบบเดียวกันเลย แต่ขายราคาต่ำกว่า ฉะนั้นทางออกของอูน คือ อูนจะไม่โฟกัสคู่แข่งเพราะทำให้มีแต่แง่ลบ แต่จะเปลี่ยนมามองที่ลูกค้าแทนว่ามีอะไรที่เรายังตอบโจทย์เขาไม่ได้บ้าง ซึ่งก็ทำให้เราพัฒนาตัวเองมากขึ้น พอเราตอบสนองตามความต้องการของเขาได้ ลูกค้าก็จะติดเราเอง เป็นการแก้ปัญหาเรื่องคู่แข่งในระยะยาวไปได้





      3.สำรวจทรัพยากรที่มี เพิ่มเติมในส่วนที่ขาด – หลังจากสร้างแนวคิดที่ดีให้กับตัวเองและองค์กรแล้ว สิ่งต่อไปที่ทำ คือ ลองมาสำรวจตัวเองว่ามีอะไรอยู่ในมือบ้างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และต้องมีอะไรเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้สามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ อย่างของ NPP Box เมื่อเปลี่ยนจากการทำกล่องให้กับภาคอุตสาหกรรมมาเป็น SME แน่นอนรายละเอียดต้องเพิ่มขึ้น ทั้งการพิมพ์ที่ต้องเน้นความสวยงาม ชัดเจนมากขึ้น จากรูปแบบกล่องฝาชนธรรมดา ก็ต้องเพิ่มเป็นกล่องที่มีหูหิ้วได้ กล่องฝาครอบ ทำให้เราต้องเพิ่มเครื่องจักรตรงนี้เข้ามา ซึ่งในช่วงแรกที่ยังมีทุนไม่มากนัก เราก็แก้ปัญหาด้วยการส่งงานออกข้างนอกไปก่อน พอสะสมเงินได้มากขึ้น เราจึงค่อยซื้อเครื่องจักรเป็นของตัวเอง ซึ่งอูนมองว่าการทำธุรกิจยุคนี้เป็นยุคของการหาพาร์ทเนอร์ เราไม่จำเป็นต้องทำเองหมดทุกอย่าง มีคนช่วยเราทำงานเยอะขึ้น เราก็ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

Facebook : nppbox


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​