One Young Come โมเดลใหม่...ร้านทางเลือกสินค้าสุขภาพ





 

     ด้วยพฤติกรรมของผู้คนยุคนี้ที่ต่างหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอก ทำให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เป็นอีกหมวดสินค้าที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในท้องตลาด ด้วยองค์ความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือที่หาได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มีแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยเกิดขึ้นมากมาย สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการแข่งขันก็สูงขึ้นตามไปด้วย รวมไปถึงช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ ที่นับวันราคาจะถีบตัวสูงมากขึ้นทุกที
 




     ด้วยเหตุนี้ จุลพงษ์ ทองธนรักษ์ ชายหนุ่มผู้สนใจการดูแลสุขภาพ จึงได้คิดรูปแบบโมเดลร้านค้าทางเลือกรับฝากวางจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามขึ้นมา เพื่อเวทีเล็กๆ ให้กับผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจ เปิดตัว ทดลองตลาดได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนสูงมากนัก ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าดีมีคุณภาพในราคาที่ไม่แพงด้วย โดยใช้ชื่อว่า One Young Come (วันยังค่ำ)


 

     “วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งร้านนี้ขึ้นมา คือ เรามองเห็นถึงความต้องการของผู้ประกอบการที่จะนำสินค้าไปฝากวางขายในโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ นั้นค่อนข้างต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและมีรายละเอียดมากมาย เราจึงอยากช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ถูกลง แบรนด์ใหม่ๆ แบรนด์เล็กๆ ก็สามารถทดลองเปิดตัวทำตลาดดูได้ เพื่อเขาจะได้นำค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่เหลือไปใช้พัฒนาสินค้าของตนเอง ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีมาขายให้กับผู้บริโภคด้วย โดยเป็นเสมือนพื้นที่รวบรวมหลายแบรนด์เข้าไว้ด้วยกัน ผู้บริโภคสามารถมาเลือกหาได้ตามต้องการได้ครบในที่เดียว”
 




     เนื่องจากเป็นโมเดลธุรกิจที่คิดขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กและเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ทำเลที่ตั้งที่จุลพงษ์เลือกในการตั้งร้านของเขานั้น คือ เจาะกลุ่มลูกค้าในมหาวิทยาลัย ด้วยราคาพื้นที่เช่าร้านไม่สูงมากเกินไปนัก ทำให้สามารถทำตอบโจทย์คอนเซปต์ร้านที่เขาวางไว้ได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชุมชนทำให้มีฐานลูกค้าประจำอยู่ในระดับหนึ่ง ทั้งบุคลากรในมหาวิทยาลัย ผู้มาติดต่อทำธุระ หรือแม้แต่ตัวนักศึกษาเอง โดยตัวร้าน One Young Come นั้นตั้งอยู่ที่ชั้น G อาคารจอดรถ 14 ชั้นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 




     “บังเอิญผมเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ด้วย เห็นว่ามีพื้นที่ว่าง จึงมองเห็นโอกาส เราเลือกเปิดตัวในมหาวิทยาลัย เพราะเนื่องจากค่าเช่าที่ไม่แพง เป็นสถานที่ๆ มีผู้คนแวะเวียนเข้ามามากจำนวนหนึ่ง หากไปเปิดตามห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่ภายนอกที่อาจจะมีคนพลุกพล่านกว่านี้ ต้นทุนการเช่าพื้นที่ การบริหารจัดการร้าน ก็จะไม่ใช่ราคานี้ เราก็ไม่สามารถทำตามคอนเซปต์ที่วางไว้ได้”
 




     โดยรูปแบบสินค้าที่นำมาวางจำหน่ายในร้านนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.สินค้าเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ของกิน อาหารเสริม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และ2.สินค้าเพื่อความงาม ได้แก่ เครื่องสำอางต่างๆ ที่ผลิตจากธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยภายในร้านจะมีการจัดแบ่งโซนต่างๆ ให้สามารถเลือกซื้อได้ง่ายเหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป นอกจากนี้ยังมีอาหารสดและขนมเพื่อสุขภาพที่ทำสดใหม่ทุกวัน เป็นตัวเรียกลูกค้าได้ชั้นดี แถมเป็นสินค้าขายดียอดนิยมของลูกค้า จนกลายเป็นขาประจำด้วย
 

     การจะนำสินค้าเข้ามาวางขายในร้านมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ 1.เช่าพื้นที่ขาย โดยคิดราคาที่ 1,000 บาทต่อเดือน เจ้าของแบรนด์สามารถนำสินค้ามาวางได้ไม่จำกัดชนิดสินค้าและจำนวนชิ้น ในพื้นที่ชั้นวางขนาด 30 x 50 เซนติเมตร ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าที่เลือกวิธีนี้จะเป็นสินค้าที่มีกำไรต่อชิ้นค่อนข้างสูง เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่มต่างๆ
 




     2.ใช้ระบบ GP (Gross Profit) หรือ กำไรขั้นต้นเหมือนกับการฝากขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยคิดสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์  หักจากยอดขายที่ขายได้จริง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมอีก เพราะทางร้านรับผิดชอบดูแลให้หมด ซึ่งรวมๆ แล้วถูกกว่าค่าใช้จ่ายในการฝากวางในห้างสรรพสินค้า โดยกลุ่มสินค้าที่นิยมใช้วิธีนี้มักเป็นสินค้าที่มี Shelf Life หรืออายุการเก็บรักษาค่อนข้างนาน กำไรต่อชิ้นอาจไม่ได้เยอะมาก ได้แก่ ขนมคบเขี้ยว อาหารแห้งต่างๆ
 




     ทั้งนี้ การจะนำสินค้ามาฝากวางขายได้นั้น ต้องผ่านการคัดสรรจากทางร้านก่อน โดยเจ้าของแบรนด์จะต้องส่งตัวอย่างสินค้ามาให้พิจารณาก่อน โดยมีเกณฑ์อยู่ 2 ข้อ คือ คุณภาพและราคาต้องสมเหตุสมผลกัน ไม่ขายแพงจนเกินไป ซึ่งเจ้าของสินค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ คือ แบรนด์ใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มเปิดตัวทดลองตลาด เพราะด้วยราคาค่าเช่าพื้นที่ที่ไม่แพง


 

     ผ่านมาแล้วกว่า 9 เดือนที่เปิดกิจการมา จุลพงษ์ยอมรับว่ามีทั้งแบรนด์ที่หดหายไปและแบรนด์ใหม่ที่เข้ามา ทยอยหมุนเวียนเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในร้านแล้วกว่า 70 – 80 แบรนด์ กว่า 800 รายการ  ซึ่งนอกจากหน้าร้านแล้ว เขายังมีช่องทางเฟซบุ๊ก ช่วยโปรโมตสินค้าต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเขาวางเป้าหมายอนาคตไว้ว่า หากมีโอกาสขยายกิจการ ก็ยังเลือกที่จะทำโมเดลนี้และขยายต่อไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้เวลา สร้างพื้นฐาน ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีเสียก่อน
 

     “อย่างที่บอกไว้ ความตั้งใจของเรา คือ อยากเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ในหมวดสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งเรามองว่ามีประโยชน์ และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคยุคนี้ วันหน้าหากมีโอกาสได้ขยับขยายกิจการ ก็ยังคงใช้โมเดลนี้ต่อไป”
 
 



Facebook : oneyoungcomestore



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​