​“กล้าล้ม” กฎเหล็กเปลี่ยนเพื่อรอด! สไตล์ FOOD PASSION







     FOOD PASSION (บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด) วันนี้ หรือ บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด เมื่อ 30 ปีก่อน เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ถูกคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลจนต้องปรับตัวเองให้พ้นภาวะวิกฤตดังกล่าว ด้วยการทรานส์ฟอร์มตัวเองจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) มาสู่องค์กรมืออาชีพ ที่เน้นความชัดเจนทั้งเรื่องโครงสร้างองค์กรและวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ต้องการให้ฟู้ดแพชชั่นเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ และถือว่าคนนั้นคือตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะผันไปในทิศทางใดก็ตาม
 

     ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารเจน 2 ของธุรกิจ เล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของฟู้ดแพชชั่นที่เริ่มพันธกิจเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยการปฏิวัติตัวเองจากภายใน ทั้งในแง่แนวคิดของคนในองค์กร ตลอดจนโครงสร้างการทำงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง
 


Cr: FOOD PASSION


     “กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงของเรา เรียกว่าเปลี่ยนตั้งแต่เชิงกลยุทธ์ โดยเรามองไปในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าว่า ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงเราต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็เริ่มจาก 1.เรามีการแบ่งธุรกิจออกเป็น 80 : 20 โดย 80 เปอร์เซ็นต์จะยังโฟกัสอยู่ที่ธุรกิจหลักของเราในการทำการบริการจัดการร้านบาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซบฮัท และฮอตสตาร์ แต่เราจะมีอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไปศึกษาและมองการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
 

     “โดยจุดที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราที่คอยทำลายล้างเรา (Disruption) มันมีเยอะมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยน ไม่ Disrupt ตัวเอง เราก็จะโดน Disrupt ถ้ามองในมุมหนีตายอาจเป็นเชิงลบหน่อย อย่างเมื่อก่อนเรามีคู่แข่งแค่ 200 ร้าน ตอนนี้แข่งขันกันที่ 2 หมื่น 2 แสน ร้านค้า ใครมีครัวทุกคนสามารถเปิดร้านอาหารได้หมด สั่งผ่านแอปพลิเคชันก็ยังได้เลย แน่นอนว่า ในช่วงที่ผ่านมาเรามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นก็จริง แต่เราก็ถูกตามจี้ด้วยเช่นกัน นั่นคือเหตุผลที่เราจะอยู่เฉยต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ฟู้ดแพชชั่นเราจะไม่มองมุมลบ แต่เรามองมุมบวก มุมบวกของเราก็คือ นี่คือโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมให้เกิดขึ้น”
 

     หัวใจสำคัญที่ทำให้ฟู้ดแพชชั่นประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มตัวเองนอกเหนือจากเรื่องของเทคโนโลยี ชาตยาบอกเราว่า คือเรื่องคน โดยการเติมเต็มความคิด (Mindset) ของพนักงาน ให้เข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่า โลกเปลี่ยนเร็ว ฉะนั้นเราต้องปรับตัวเองให้เร็วด้วย
 
 
     “เราใส่แนวคิดให้คนเข้าใจว่า เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว เราก็ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ล้มเร็ว ล้มไปข้างหน้า และต้องล้มให้ถูก ล้มเสร็จก็ลุกเพื่อไปต่อ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward เป็น Mindset ให้คนของเรากล้าล้ม เราเชื่อว่าไม่มีองค์กรไหนที่ตั้งเป้ามาให้คนทำงานเพื่อล้มเหลวหรอก ส่วนใหญ่ก็ต้องการทำให้สำเร็จทั้งนั้น เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ Mindset แบบ Disruption คือ คุณทำงานล้มเหลวได้เลย แต่คุณต้องล้มแล้วไปข้างหน้านะ ล้มแบบถูกทิศถูกทาง และต้องลุกให้เร็วด้วย แล้วค่อยๆ ไปต่อ เพราะถ้าเราเข้าใจความเป็นจริงของการทำงาน มันเป็นไปไม่ได้ที่ทำแล้วถูกเลย สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรุนแรง (Radical Change) อย่างในปัจจุบันนี้”
 


     

     ทิศทางการทรานส์ฟอร์มของฟู้ดแพชชั่นเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การยอมรับความจริงและลุกขึ้นสู้คือ หนทางเดินไปข้างหน้าบนโลกที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ได้ ฉะนั้นการปรับแนวคิดของคนในองค์กรเพื่อให้เกิดทักษะความสามารถให้ทันกับการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ คือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะต่อสู้ในยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านดิจิทัลนี้ได้อย่างแท้จริง
 

     “ความท้าทายของเราในการทรานส์ฟอร์มองค์กรมีอยู่ 3 ระดับ โดยถ้ามองในมุมระดับคนที่ทำงาน ซึ่งเขาอาจจะไม่คุ้นเคยกับวิธีคิดที่เราสร้างให้เขา เช่น เขาอาจจะคิดว่าล้มเหลวได้ด้วยเหรอ รวมถึงความรู้ด้านดิจิทัลที่เขาจะต้องใช้ แต่เราโชคดีที่องค์กรเรามีคน GEN Y อยู่เยอะพอสมควร ทำให้เขาพอเข้าใจเรื่องของดิจิทัลอยู่บ้าง แต่ยังต้องเติมอีกมาก ส่วนระดับกลาง พอเริ่มมีไอเดีย งานเดิมก็จะมีเยอะขึ้น สิ่งใหม่ก็ต้องทำ ความท้าทายของคนกลุ่มนี้ก็คือ ทรัพยากรที่จำกัด ทั้งเรื่องจำนวนคน จำนวนเงิน งบประมาณ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีเงินมากมาย ก็ต้องมาคิดว่าจะจัดสรรอย่างไร จะเลือกทำอะไรและไม่ทำอะไร ต้องทำอะไรก่อนหลัง"
 

     “ส่วนความท้าทายของระดับบน คือเราอยู่กับความชัดเจนมาตลอดว่า เราทำธุรกิจร้านอาหารเราต้องเติบโตแบบนี้ พอมองภาพชัดว่า ร้านอาหารจะขายอาหารยังไงให้ลูกค้าชื่นชอบ หรือว่าคู่แข่งเราคือใคร แต่พอมาเป็นยุคนี้ คู่แข่งอาจไม่ใช่คู่แข่งคนเดิม แต่อาจจะเป็นคู่แข่งที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ เช่น อาจมาจากธุรกิจพลังงานแต่มาทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งคู่แข่งจากภายในและนอกประเทศ ฉะนั้นอุปสรรคหรือความท้าทายในระดับบน มันจะคลุมเครือมาก ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วที่ทำลงไปถูกต้องหรือเปล่า สิ่งที่ต้องทำคือ การเรียนรู้ที่จะทำงานอยู่บนความคลุมเครือของอนาคตเช่นนี้ให้ได้”





     รูปแบบการทำงานของฟู้ดแพชชั่นเพื่อให้ทันกับโลกยุคใหม่ พวกเขาเน้นการทำงานแบบทีมเล็ก ทำเร็ว โดยได้ตั้งหน่วยงานด้านนวัตกรรม (Innovation) ขึ้นมาในองค์กร ซึ่งนี่คือ 20 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า จะเป็นอนาคตของฟู้ดแพชชั่นขนานแท้ โดยพวกเขาตั้งเป้าให้เป็นไอเดียนวัตกรรมใหม่อย่างสิ้นเชิง (Radical Innovation) เพื่อเป็นเหล่าทัพหน้าในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้ฟู้ดแพชชั่น
 

     “เราวางแผนธุรกิจแบบ Long Term ไว้ที่ 3 ปี โดยแบ่งการทำงานที่เน้น Innovation ออกเป็น 4 เฟส เฟสแรกเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ Innovation ทำความเข้าใจโลกของการถูก Disrupt เฟสที่ 2 เรียกว่า Product Market Fit การนำโปรดักต์ออกสู่ตลาด เฟสที่ 3 คือ Scale Up หรือช่วงของการขยายตัว โดยเป็นการโตแบบ S-Curve เส้นโค้งรูปตัวเอส ที่เริ่มมีผู้ใช้จำนวนมหาศาล และเฟสที่ 4 เป็นเรื่องของ Culture เรื่องของคน ซึ่งปัจจุบัน เราทำเฟส 1 กับ 4 คู่กัน เพราะเราต้องการให้คนตระหนักรู้ถึงคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ซัดเข้ามานี้ว่า เราจะอยู่เฉยๆ ให้คลื่นซัดมาแล้วกลืนหายไป หรือเราจะกระโดดขี่คลื่นนั้น"
 

     “ทุกวันนี้เราก็ทำแล้ว ผ่านหน่วยงานในองค์กรของเรา ขณะเดียวกันเราก็สร้าง Mindset ที่ถูกต้อง ให้ความรู้เขา สร้าง Culture ว่าการล้มเหลวแบบไปข้างหน้าเป็นอย่างไร เพราะอยากให้มีคนกล้าทำ และกล้าล้ม ล้มเร็ว และล้มถูก ดีกว่าทั้งองค์กรไม่มีใครกล้าลงมือทำอะไรเลย”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​