ส่องตลาดแอนิเมชัน โลกบันเทิงไร้พรมแดน โตแรงรับดิจิตอลคอนเทนต์







     นอกจากภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์แล้วที่ใช้ตัวละครเป็นคนแสดงจริงแล้ว การ์ตูนแอนิเมชันดูจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการสร้างความบันเทิงให้กับชีวิตของผู้บริโภคยุคดิจิตอล ที่นับวันจะได้รับความนิยมและขยายเพิ่มมากขึ้นทุกที อย่างน้อยๆ ไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปีในตลาดโลก ส่งผลให้ตลาดแอนิเมชันไทยเติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นพ ธรรมวานิช นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย ได้ฉายภาพของตลาดแอนิเมชันไทย ณ ปัจจุบันไว้ดังนี้
 
 
     “จริงๆ ตอนนี้เรียกว่าเป็นช่วงที่วงการแอนิเมชันไทยเติบโตค่อนข้างมากอย่างเห็นได้ชัด แค่ลองสังเกตในฐานะบุคคลทั่วไปก็เห็นได้ชัดว่ามีภาพยนตร์และซีรีย์แอนิเมชันออกมาค่อนข้างมาก สำหรับภาพผู้ประกอบการแอนิเมชันไทยเองก็เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการรับจ้างงานจากต่างประเทศมาทำค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี จีน อเมริกา หลายบริษัทเริ่มโฟกัสที่ตลาดเมืองนอกและพยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานของต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะในตลาดโลกเองก็มีความต้องการแอนิเมชันเพิ่มมากขึ้นด้วย ลองสังเกตได้จากมีการรับชมภาพยนตร์และซีรีย์ของผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น


 
 
     อีกปัจจัยที่ทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น คือ ตลาดจีน เดิมทีประเทศจีนไม่ได้มีความนิยมแอนิเมชันมากเหมือนทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่มีการทำแอนิเมชันคิดเป็นจำนวนนาทีมากที่สุดในโลกแล้ว จากเดิมที่เคยเป็นแหล่งรับผลิตให้กับประเทศอื่น แต่ปัจจุบันแค่ทำคอนเทนต์ป้อนให้ในประเทศก็ยังไม่เพียงพอเลย ฉะนั้นงานจากประเทศต่างๆ ที่เคยป้อนให้กับจีน ก็ต้องกระจายออกไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในทุกปีตลาดแอนิเมชันโลกเติบโตกว่า 10 % เลยทีเดียว เพราะนอกจากแอนิเมชันแล้ว การทำ Visual Effect (การสร้างภาพลักษณะพิเศษ หรือภาพที่ไม่สามารถถ่ายทำได้จริง) ในภาพยนตร์ ละครก็เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย”
 

     โดยเหตุผลที่ทำให้สื่อแอนิเมชันเป็นที่ต้องการและนิยมของผู้บริโภคยุคนี้เพิ่มมากขึ้นนั้น นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันฯ กล่าวว่า เป็นเพราะเสน่ห์ในธรรมชาติของสื่อชนิดนี้ ที่ไม่ได้จำกัดการรับรู้ของผู้คนไม่ว่าอยู่ในวัฒนธรรมหรือภาษาใด ก็สามารถเข้าใจได้เหมือนกัน เป็นภาษาสากลที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
 

 
     “ข้อดีของสื่อแอนิเมชัน คือ ไม่มีพรมแดนด้านวัฒนธรรม เป็นสื่อที่ไม่ได้ใช้ตัวแสดงที่เป็นคนจริง แต่ใช้ตัวละครที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการเป็นผู้ดำเนินเรื่องหรือสื่อสารแทน ซึ่งพอไม่ใช่คนจริงการเสพสื่อหรือมองข้ามวัฒนธรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายกว่า ทำให้งานชิ้นหนึ่งที่สร้างขึ้นมาสามารถไปได้ในหลายประเทศ ไม่มีภาษาหรือวัฒนธรรมมาเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ซึ่งตอนนี้เทรนด์การทำแอนิเมชันก็เป็นแบบนี้ หากไม่ใช่ประเทศที่มีการบริโภคมากจริงๆ เหมือนญี่ปุ่นหรือจีน ก็ไม่ค่อยมีใครทำเพื่อฉายอยู่ในประเทศตัวเองเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นการจับมือร่วมกัน 2-3 ประเทศ ซึ่งผมมองว่าตลาดตอนนี้เปิดกว้างค่อนข้างมาก" 


     "ตลาดดิจิตอลคอนเทนต์มาแรงมากสำหรับโลกในยุคนี้ เป็นสื่อที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ดังนั้นการพยายามปรับตัวเองให้พร้อมกับการทำงานระดับสากลจะทำให้วงการแอนิเมชันของไทยเติบโตขึ้นมากไปอีก สิ่งที่บริษัทต่างประเทศต้องการ คือ 1.การสื่อสารที่ชัดเจน 2.ระบบการทำงานที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ เช่น การเก็บความลับ มั่นใจว่ามาทำงานด้วยแล้วงานจะไม่รั่วไหล ผมว่าเราควรเตรียมตัวเองให้พร้อม ส่วนเรื่องโอกาสยังมีอีกเยอะสำหรับโลกในยุคนี้”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​