Joon Studio & Café หนีกรุง กลับบ้าน ธุรกิจเล็กๆ ของสาวนักปั้น







      บนถนนสายเพชรเกษม เลยจากตัวเมืองนครปฐมไปทางราชบุรี ผ่าน Global House ไป 2 กิโลเมตร จะเห็นร้านคาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมทาง ตัวร้านสร้างขึ้นจากปูนเปลือยตกแต่งด้วยกระจกใสบานใหญ่ เมื่อเดินเข้ามาภายในร้านจะพบกับความร่มรื่นของแมกไม้นานาพันธุ์ ด้านในยังเป็นสตูดิโอเซรามิก สำหรับจัดกิจกรรม work shop เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่น่าสนใจในจังหวัดนครปฐม
      
      ‘Joon Studio & Café’ คือ ชื่อของสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ อรวรรณ ระวังภัย หรือ ‘จูน’ หญิงสาวจากรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เอกประติมากรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มุ่งมั่นอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดมากกว่าในเมืองหลวง แต่กว่าจะเห็นธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อะไร คือ สิ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจเลือกกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ต้องพบเจอกับปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ถ้าอยากหนีกรุง กลับมาบ้านบ้างต้องทำอย่างไร คำตอบมีรออยู่ด้านล่างนี้





      “ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าถ้าเรียนจบแล้ว จะกลับมาหาอะไรทำที่บ้านอยู่กับแม่ เพราะพ่อจูนเสียไปตั้งแต่เด็กๆ แม่อยู่บ้านคนเดียว พี่สาวก็อยู่ญี่ปุ่น ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่เผอิญตอนเรียนเคยรับงานฟรีแลนด์และทำของแฮนด์เมดขายอยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะลองกลับมาทำที่บ้านได้ ช่วงแรกก็ทดลองปลูกผักไปด้วย เผอิญที่บ้านทำฟาร์มหมูมาก่อน เลยมีพื้นที่ให้ทำเกษตร แต่สุดท้ายก็อยากลองทำงานที่ได้เรียนมา เลยไปลองขอฝึกงานทำเซรามิกที่เถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี ฝึกเสร็จเขาให้แสดงงาน ขายงานได้ก็เอาไปบวกกับเงินเก็บที่มี และไปเรียนเซรามิกเพิ่มที่ญี่ปุ่นเป็นสตูดิโอเล็กๆ ในเมืองนาโกย่า 2-3 เดือน ก็เกิดความคิดว่าขนาดไปไกลถึงอย่างนั้น ยังมีคนดันด้นไป เลยอยากเอากลับมาทำที่บ้านของตัวเองบ้าง





      พอกลับมาก็ลองทำเล็กๆ อยู่ในบ้านก่อน ลองซื้อดินมาทำ เช่าเตามาเผา เอางานไปขายตามตลาดนัดศิลปะ จนเก็บเงินซื้อเตาของตัวเองได้ พอคนเริ่มรู้จักเยอะขึ้นเยอะเลยตัดสินใจทำสตูดิโอขึ้นมา เพื่อให้คนมาหาเราได้ มาเรียนทำ work shop พร้อมกับเปิดคาเฟ่ไปด้วย ตอนแรกแม่ก็ไม่ได้สนับสนุนมาก เขากังวลว่าทำแบบนี้จะเลี้ยงตัวเองได้ไหม เราก็พยายามพูดให้เขาฟังเรื่อยๆ ลองเปิดรูปให้เขาดู ทำให้เขาเห็นไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอไม่หยุด จนคนเริ่มมาหาเราเยอะขึ้น ชื่นชมเรา แม่ก็เริ่มเข้าใจ ตอนหลังก็หันมาช่วยเราทำด้วย จูนตั้งใจไว้ว่าถ้าเราเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้อายุ 24-25 ปี อีก 10 ปีข้างหน้าเราอายุ 35 ปี ถ้าประสบความสำเร็จมันก็ยังเป็นอายุน้อยสำหรับคนๆ หนึ่ง ในขณะที่หลายคนยังทำงานบริษัทอยู่ ซึ่งตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น”    





      โดยจูนได้ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่อยากกลับมาหาอะไรทำที่บ้านเกิดไว้ดังนี้

      1.รักในพื้นที่ของตัวเอง

      ก่อนที่จะกลับไปทำอะไรที่บ้าน เราต้องรักและเห็นคุณค่าในพื้นที่ก่อน พอเรารู้และเข้าใจ เราจะมองเห็นเองว่าพื้นที่นี้สามารถสร้างประโยชน์อะไรให้กับเราได้บ้าง ไม่ได้หมายถึงแค่ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ แต่หมายถึงสังคม ชุมชนที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีจุดเด่นของตัวเอง และทำให้ทุกคนที่อยากกลับมาอยู่บ้าน ไม่ได้แข่งขันกัน ถึงจะทำโฮมเสตย์เหมือนกัน แต่เราไม่ได้แข่งกันเลย เพราะทุกคนมีพื้นที่ที่แตกต่างกัน มีธรรมชาติของตัวเองที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจึงอาจกลายเป็นการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนคุยกันมากกว่า





      2.ทำอย่างต่อเนื่องอย่าหยุดพัฒนา

      
ปัญหามีอยู่แล้วทุกที่ อยู่แค่ว่าเราจะสามารถก้าวพ้นมันไปได้ไหม จูนเองก็เคยเจอมากับตัว เคยมีช่วงที่อยากเลิกทำเหมือนกัน กลับไปทำงานบริษัทอย่างเพื่อนๆ ดีไหม ตอนนั้นมีปัญหาเพราะลูกน้องลาออก เราต้องทำทุกอย่างคนเดียว แต่สิ่งที่ทำให้จูนยังทำไปต่อ คือ เราคิดว่าเรายังไม่เห็นผลของมันเลยว่าสรุปแล้วมันดีหรือไม่ดียังไง จนมาปีที่แล้ว ผ่านประมาณสองปีหลังจากเปิดร้าน เราก็เริ่มรู้ว่ามันไปได้ คนเริ่มรู้จักมากขึ้น หลายอย่างเริ่มเห็นผลชัดขึ้น จากตอนแรกที่ไม่เคยให้เงินแม่เลย เพราะต้องเอามาลงทุน แต่ตอนนี้จูนให้เงินแม่ได้แล้ว ทำให้จูนคิดได้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา ต้องอดทนรอ ค่อยๆ ปลูก แล้ววันหนึ่งเราก็จะได้ผลมากินเองในภายหลัง ตอนนี้เราเดินมาได้กว่า 40 % ที่เหลือ คือ จนอยากทำฟาร์มและโฮมสเตย์ ยังมีพื้นที่ของฟาร์มหมูเก่าให้เราพัฒนาปรับปรุงอีก








      3.วางแผนจัดการเงินทุน
 
      
ก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่าอยากทำอะไร และหากจะไปถึงจุดที่เราอยากทำได้ เราต้องเริ่มทำอะไรก่อน โดยจริงๆ เราสามารถเริ่มจากเล็กๆ ไปก่อนได้ เอาสิ่งที่เรามีอยู่มาประยุกต์ปรับใช้ อย่างจูนเองก็ไม่ได้มีทุนอะไรมากมาย จูนใช้สิ่งที่มีทุกอย่าง เอาเศษเหล็กมาลองทำ พยายามเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่เรามีอยู่ ซึ่งข้อดีของการกลับมาอยู่บ้าน คือ เราได้อยู่กับครอบครัว ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้เพื่อนเพิ่มจากชุมชน ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องดิ้นรน ได้มีความสุขทุกวัน เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง และถ้าวันหนึ่งเราเจอสิ่งที่เราทำได้ เราก็สามารถดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้


Facebook : Joonclaycraftstudio


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​