“คำไทย” คุกกี้พยัญชนะ ของฝากแบบไทยแท้ๆ







     เห็นสินค้าที่นำอัตลักษณ์ของไทยมาใช้ก็มากมาย แต่น้อยรายนักที่จะนำตัวอักษรของไทยมาใช้ ทั้งที่ไทยเองเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้ กมลเนตร ริมชัยสิทธิ์ หญิงสาวที่หลงรักในเสน่ห์ของอักขระไทย จึงได้คิดค้น “คำไทย” คุกกี้ของฝากรูปร่างพยัญชนะไทยและตัวเลขไทยออกมา เป็นงานศิลปะแฮนด์เมดอีกแบบหนึ่งที่ทำออกมาในรูปแบบของอาหารไม่ซ้ำกันเลยทั้ง 44 ชิ้น และ 10 ชิ้นในกล่องเดียวกัน
     


          

     “เริ่มต้นมาจากความสนใจส่วนตัว คือ เรามองว่าเวลานักท่องเที่ยวมาบ้านเราสิ่งที่เขาชอบ ก็คืออะไรที่แตกต่างที่บ้านเขาไม่มี ซึ่งของฝากที่เห็นโดยมากมักนำเสนอออกมาในรูปแบบของวัดวาอาราม ช้าง มวยไทย อาหารไทย ฯลฯ แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงภาษาไทย ทั้งที่เราเองก็เป็นเพียงประเทศไม่กี่แห่งบนโลกที่มีภาษาและตัวอักษรเป็นของตัวเอง เลยคิดว่าจะทำยังไงให้สามารถหยิบจับและสื่อสารเข้าใจได้ง่ายๆ จึงทำออกมาในรูปแบบของคุกกี้รสเนยให้เขาสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝาก เป็นขนมกินเล่นง่ายๆ และได้เรียนรู้ตัวอักษรของไทยไปด้วย ซึ่งหากทำเป็นรูปแบบอื่นที่ยากกว่านี้อาจจะไม่สนุกก็ได้”





     โดยรูปแบบของคุกกี้คำไทยนั้นมีให้เลือก 2 อย่าง คือ 1.คุกกี้พยัญชนะไทย 44 ตัว และ2.ตัวเลขไทย 10 ตัว นอกจากขนมแต่ละชิ้นที่ไม่ซ้ำกันแล้ว ในแต่ละกล่องยังมีแผนภูมิอธิบายตัวอักษรและตัวเลขไทยแต่ละตัว และการอ่านออกเสียง 3 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ให้สามารถเอากลับไปเล่นไปทายกันได้ด้วยเป็นกิมมิกเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ สำหรับราคาขายนั้นหากเป็นคำไทยคุกกี้พยัญชนะไทยจะอยู่ที่ราคาประมาณ 320 บาท และตัวเลขไทย 220 บาท โดยวางจำหน่ายที่โมเดิร์นเทรดและซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างชั้นนำ อาทิ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ สยามพารากอน เทอมินัลทเวนตี้วัน
 
  
         
    
     แม้จะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของขนม แต่จริงๆ แล้ว คุกกี้คำไทย คือ การทำงานศิลปะอย่างหนึ่งที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การคิดค้นรูปแบบการนำเสนอ ความประณีตในการผลิต เป็นงานแฮนด์เมดที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรในการขึ้นรูป
               

     “การทำคุกกี้ออกมา 1 กล่องให้รูปแบบออกมาไม่ซ้ำกันเลย ไม่ใช่เรื่องง่าย คุกกี้ของเราไม่เหมือนระบบอุตสาหกรรมที่กล่องหนึ่งทำออกมารูปแบบเดียวซ้ำกันเยอะๆ ของเราทุกอย่างเป็นแฮนด์เมด ต้องใช้แม่พิมพ์และปั้มมือ เพราะเครื่องจักรไม่สามารถขึ้นรูปแบบนี้ได้ เพราะอักษรไทยมีรายละเอียดของส่วนเว้า ส่วนโค้งค่อนข้างมาก ฉะนั้นกว่าจะได้มาแต่ละกล่องไม่ใช่เรื่องง่าย ราคาคุกกี้ของเราจึงค่อนข้างสูงกว่าคุกกี้อื่นๆ ถึงแม้จะเป็นขนมเหมือนกัน แต่เราตั้งใจวางตำแหน่งสินค้าไว้ที่กลุ่มของฝากและงานศิลปะมากกว่า”  
               




     นอกจากประณีตละเอียด ทำขึ้นมาทีละชิ้นในเชิงงานศิลปะ พิถีพิถันแล้ว คุณภาพของตัวคุกกี้เองก็ไม่แพ้กัน ไม่มีการใส่วัตถุกันเสีย แต่ละชิ้นจะถูกแยกใส่ซองพลาสติกต่างหาก และค่อยบรรจุลงในถาด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา โดยไม่ใช้สารเคมีให้มากที่สุด
               

     “นอกจากงานดีไซน์ เรายังให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าด้วย เรามองว่าต่อให้ขยายธุรกิจออกไปมากกว่านี้ เราก็ยังคงจะยึดคอนเซปต์นี้ คือ ความสวยงาม ประณีต มีคุณภาพ และปลอดภัย เพียงแต่อาจหาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้สามารถผลิตได้เยอะขึ้น เพราะทุกวันนี้มีผู้ประกอบการจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาหาเราเยอะมาก อยากเป็นตัวแทนจำหน่าย แต่กำลังการผลิตเรายังไม่พร้อม รวมถึงเรื่อง shelf life เนื่องจากเราทำแบบแฮนด์เมด วัตถุกันเสียก็ไม่ใส่ จึงทำได้ในปริมาณที่ยังไม่เยอะ อายุการเก็บรักษาได้ไม่นานแค่ 6 เดือน ไม่เพียงพอต่อการทำส่งออก แต่เรามีความคิดที่จะพัฒนาไปถึงจุดนั้น เพราะมีความต้องการของตลาดรองรับอยู่แล้ว”





     กมลเนตรเล่าว่าวัตถุประสงค์จริงๆ ของการทำขึ้นมา นอกจากเป็นของฝาก เผยแพร่คุณค่าตัวอักษรไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เพื่ออยากให้คนไทยได้หันกลับมามองว่า นี่คือ อีกหนึ่งคุณค่าของไทยที่ไม่เหมือนใคร เพราะคงมีเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่จะมีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเอง


     “ความจริงเราอยู่ในตลาดมาจะ 4 ปีแล้ว แต่คนไทยอาจจะเห็นน้อย เพราะวางขายอยู่ในโซนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่วันหนึ่งเราก็ฝันว่าอยากพัฒนาสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ราคาหยิบจับได้ง่ายขึ้น ซึ่งยังมีหลายอย่างของไทยที่เราอยากนำเสนอออกไป อาจเป็นเรื่องของรสชาติที่เพิ่มขึ้น หรือรูปแบบของขนมที่เปลี่ยนไปไม่ใช่เพียงแค่คุกกี้ แต่ที่ยังคงอยู่คือพยัญชนะไทยและตัวเลขไทย แต่จะออกมาเป็นรูปแบบไหนนั้น รอติดตามชมได้ภายในสิ้นปีนี้”กมลเนตรกล่าวทิ้งท้าย


Facebook : Kum Thai by Sweet Words



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ