“ศิลปะ – ผู้สูงอายุรุ่นใหม่” กับความลงตัวในแบบ JAI CRAFT DESIGN





Cr: Jai CRAFT DESIGN 

 
     อะไรคือคุณค่าของผ้าพันคอสักผืนที่คุณนึกถึง?
               
     แน่นอนว่าต้องมากกว่า ดีไซน์สวย เนื้อผ้าดี เช่นเดียวกับที่แบรนด์น้องใหม่อย่าง Jai CRAFT DESIGN (ใจคราฟท์ ดีไซน์) ที่สามารถแจ้งเกิดขึ้นมาได้ท่ามกลางแบรนด์ผ้าพันคอมากมาย ด้วยการสร้างคุณค่าใหม่ที่มากไปกว่านั้น จากการทำงานร่วมกันระหว่างคู่พ่อลูก 2 วัยต่างเจเนอเรชัน ชูศิษฐ์ และ ณภัทร เขียวชะอุ่ม จนก่อเกิดเป็นงานศิลปะสวมใส่ได้ที่สร้างคุณค่าให้กับทั้งนักออกแบบและผู้ใช้ไปพร้อมกัน
      

     แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN มีที่มาจากคำว่า ใจ ในภาษาไทย ซึ่งสื่อความหมายถึงหัวจิตหัวใจที่รักในงานศิลปะที่กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนงานดีไซน์สิ่งทอสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สูงอายุ
               

    การได้เห็นพ่อที่เกษียณอายุราชการ ขะมักเขม้นกับการนั่งวาดภาพสีน้ำ หลังจากเลิกจับพู่กันมานาน เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจที่ทำให้ณภัทร ผู้ก่อตั้ง Jai CRAFT DESIGN เริ่มทดลองทำโปรเจกต์ผ้าพันคอลายศิลป์ร่วมสมัยกับผู้เป็นพ่อดู
  
   
Cr: Jai CRAFT DESIGN 


     “ตอนนั้นเราทำงานโฆษณาอยู่ พ่อเข้ามาถามว่า มีงานให้พ่อทำบ้างไหม เพราะเห็นเราจ้างเด็กๆ วาดรูป แต่ในใจเราคิดว่าพ่อคงไม่ทันรุ่นเด็กๆ หรอก” อดีตโปรดิวเซอร์โฆษณาอย่างณภัทร เล่าถึงความคิดเดิมที่เคยมีช่องว่างระหว่างวัยเป็นตัวกั้น จนกระทั่งยังคงเห็นพ่อตั้งอกตั้งใจวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ Passion ในการทำงานศิลปะของพ่อ ทำให้เขาเกิดความคิดอยากนำผลงานของพ่อมาทำให้มีคุณค่าและสร้างความภาคภูมิใจอีกครั้ง โปรเจกต์เล็กๆ ในครอบครัวจึงเริ่มต้นขึ้นจากการออกแบบผ้าพันคอขาย ด้วยทุนตั้งต้นหลักหมื่น มีช่องทางการทำตลาดผ่านออนไลน์และออกบู๊ธตามที่ต่างๆ
               

     “หลายคนเดินเข้ามาที่บู๊ธ เพราะเห็นงานผ้าพันคอของเราแล้วชอบ แต่พอได้รู้จักเรื่องราวของแบรนด์ ยิ่งทำให้เขารู้สึกชื่นชม จนอยากซื้อฝากคนอื่นด้วย เพราะรู้สึกว่ามันมีคุณค่า มีเรื่องราวที่สามารถเล่าต่อได้” ณภัทรเล่า

       
Cr: Jai CRAFT DESIGN 


     แนวคิดการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ยังทำให้แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN ได้รับการโปรโมตผ่านสื่อช่องทางต่างๆ รวมถึงได้เข้าร่วมโครงการของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นหนึ่งในโชว์เคสธุรกิจงานดีไซน์กับการรับมือกระแสโลกเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 ที่ผ่านมา
               

     ณภัทรบอกว่า แนวคิดหลักของแบรนด์ Jai CRAFT DESIGN คือ ผลิตงานศิลปะที่สวมใส่ได้จากการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุรุ่นใหม่ ความตั้งใจของเขาคือ อยากสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสธุรกิจให้กับกลุ่มผู้สูงอายุรุ่นใหม่ได้นำเสนอและพัฒนาความสามารถของตนเองในยุคที่โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัว
               

     “จุดยืนของเราไม่ต้องการใช้คำว่า ผู้สูงอายุมาดึงให้คนเข้ามาสนใจผลงาน มาซื้อเพราะความรู้สึกสงสารว่าคนแก่วาดนะ ช่วยซื้อหน่อยเถอะ แต่เราอยากให้คนที่เดินมาที่บู๊ธเราเพราะสะดุดตาว่าผลงานมันสวย ใช้โปรดักต์เป็นตัวนำ พอเดินเข้ามาแล้วสัมผัสถึงรู้ว่าเป็นผลงานที่ออกแบบโดยผู้สูงอายุ”
  

  Cr: Jai CRAFT DESIGN 
           

     ณภัทรย้ำว่า แนวคิดของแบรนด์ Jai CRAFT DESIGN พยายามใช้คำว่าผู้สูงอายุรุ่นใหม่ เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มผู้สูงอายุแบบนี้ในเมืองไทยอีกเยอะ คือเป็นกลุ่มคนที่ยังมีไฟ พร้อมที่จะเรียนรู้และใช้ความสามารถที่ตัวเองมีในการสร้างสรรค์ผลงาน เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถมากนัก โดยปัจจุบันนอกจากชูศิษฐ์ ผู้เป็นพ่อวัย 65 ปีแล้ว ยังมีเพื่อนคุณแม่ที่มีใจรักในงานศิลปะมาร่วมเป็นศิลปินให้กับแบรนด์อีกด้วย โดยมีณภัทรทำหน้าที่วางคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน พร้อมทั้งดูแลการบริหารจัดการธุรกิจ
               

     ก้าวสู่ปีที่ 2 แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการออกสินค้าคอลเลกชันใหม่ที่สร้างคุณค่าเพิ่ม ด้วยการนำ Story ของแบรนด์ศิลปินผู้สูงอายุรุ่นใหม่ มาบวกกับ Story ของวัตถุดิบใหม่อย่างไหมอีรี่ (Eri Silk)
               

     “ไหมอีรี่เป็นเส้นใยที่มี Story น่าสนใจมาก เพราะเป็นเส้นไหมที่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรในภาคอีสาน โดยเรารับรังไหมที่ชาวบ้านเลี้ยงมาทอผสมกับไหมชนิดอื่นเพื่อให้เกิดความเงานิดๆ จนได้เป็นผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของเราเอง”
 

  Cr: Jai CRAFT DESIGN 
     
       
       เรื่องราววงจรชีวิตของไหมอีรี่ ยังกลายมาเป็นคอนเซปต์ในการสร้างสรรค์ผลงานแนว Abstract ที่ใช้ชื่อว่า เส้นใยแห่งชีวิต (Threads of Life) แฝงความหมายและปรัชญาชีวิตบนลวดลายผ้า 3 ผืน 3 โทนสี ทั้งโทนสีสันสดใสไปจนถึงโทนสีน้ำตาล ที่สะท้อนถึงวัฏจักรชีวิตตั้งแต่ช่วงเกิด เติบโต จนกลายเป็นผีเสื้อที่เลือกทางเดินของตัวเอง
               

     นอกจากสินค้าเดิมที่ขายดีอย่างผ้าพันคอแล้ว สินค้าในคอลเลกชันใหม่ยังแตกไลน์มาสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ และของตกแต่งบ้านมากขึ้น อย่าง กระเป๋า และปลอกหมอน โดยวางตำแหน่งธุรกิจเป็นบริษัทดีไซน์ออกแบบลวดลายผ้าพิมพ์ สินค้าไลฟ์สไตล์ และของตกแต่งบ้านจากสิ่งทอ พร้อมทั้งขยับสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังแตกไลน์ธุรกิจมาทำเวิร์กช็อปในรูปแบบ Art Therapy ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันซึ่งกำลังจะเริ่มต้นในปีนี้อีกด้วย
              

 Cr: Jai CRAFT DESIGN 


     “เราอยากทำให้แบรนด์ Jai CRAFT DESIGN เป็นเหมือนชุมชนของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่มีคำว่าอายุมาเป็นข้อจำกัด สิ่งที่เราได้รับจากการทำธุรกิจนี้คือ สัมผัสได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้น เริ่มจากตัวคุณพ่อที่เห็นเลยว่า ทำแล้วมันดีต่อใจเขา และส่งความสุขต่อมาที่ผลงาน ส่งต่อไปยังลูกค้า และความสุขนั้นก็ส่งกลับมาถึงตัวเราด้วยในที่สุด”
           

     และนี่คือคุณค่าของ Jai CRAFT DESIGN ธุรกิจสร้างสรรค์ที่ดีต่อใจทั้งคนออกแบบ คนซื้อ และคนทำธุรกิจอย่างพวกเขา





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​