TINT Bicycle ...City Bike ออกแบบได้ตามสไตล์คุณ





 

     หากอยากจะหาจักรยานสักคันไว้ปั่นเล่น หลายครั้งเราจะพบว่าจักรยานสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายในตลาดมีขนาดหรือสีสันไม่ถูกใจสักเท่าไร และถ้าจะหันไปหาจักรยาน Custom Made ที่ออกแบบตามใจคนปั่นย่อมตามมาด้วยตัวเลขราคาที่สูงลิ่วตามไปด้วยไม่คุ้มกับการใช้งานในชีวิตประจำวันแน่ๆ ถ้าอย่างนั้นลองแวะมาดูที่ร้าน TINT Bicycle หน่อยเป็นไง ที่นี่มีจักรยานให้เลือกทั้งรูปทรง ขนาด (S, M, L) ออปชันและสีสันที่เฟรมจักรยานมากกว่า 22 สี วงล้อ ยางนอก รวมถึงสติกเกอร์หลากสไตล์ให้ตกแต่ง แล้วประกอบร่างออกมาเป็นจักรยานที่มีคันเดียวในโลก
 

     รวิภาส เวชชาภินันท์ 1 ใน 3 หุ้นส่วนร้าน TINT Bicycle บอกเราว่า การออกแบบจักรยานได้เองเป็นจุดขายที่สร้างความต่างให้กับธุรกิจนี้ โดยแนวคิดของเขามาจากร้านจักรยานมือสองของหนึ่งในหุ้นส่วนที่ต้องใช้ทั้งอะไหล่เก่าและอะไหล่ใหม่ปนกันไปแล้วนำมาโมดิฟายกลายเป็นคันใหม่ เอามาพลิกเป็นไอเดียว่าน่าจะทำแบรนด์เอง ออกแบบเอง แล้วสั่งอะไหล่ใหม่ทั้งหมดเข้ามาเพื่อทำจักรยาน และประกอบ 1 คันต่อ 1 ออร์เดอร์ ใช้เวลาประกอบจักรยานประมาณ 3-5 วัน สูงสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์
 




     “เรามีอะไหล่พร้อมประกอบให้อยู่แล้วแต่สีต้องทำใหม่ทั้งหมด เพระตอนแรกเฟรมจะเป็นเฟรมเปล่าแล้วเราก็นำมาทำสีแล้วประกอบขึ้นมาเป็นคัน กระบวนการที่ใช้เวลาทำนานที่สุดคือ ทำสี เพราะส่วนหนึ่งเราผสมเองเพื่อให้ได้สีที่ลูกค้าต้องการ คือเป็นสีผงพอเอาไปพ่นแล้วเอาไปอบแล้วจะละลาย มีผิวสัมผัสที่จะดูรู้ว่าเป็นสีผสม”
 

     จักรยานของ TINT เป็น City Bike ทรงญี่ปุ่น แต่อะไหล่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากไต้หวันเพราะคุณภาพดีกว่าของจีน เป็นข้อสรุปหลังจากศึกษาลองผิดลองถูกประมาณ 1 ปี จากการเดินหาซัพพลายเออร์ที่มีสินค้าตามสเปก และเทียบราคาที่ไม่แพงจนเกินไปเพื่อนำมาบริหารราคาขายที่จับต้องได้ กลายเป็นจักรยานราคากลางๆ แต่คุณภาพดี โดยเฉพาะการเลือกสรรวัสดุที่นำมาทำเฟรม สุดท้ายก็จบลงที่เหล็กคุณภาพดี มีความแข็งแรง คงทน และอะลูมิเนียมอัลลอยที่มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กและไม่ขึ้นสนิม
 




     “เราไม่ได้ตั้งราคาสูงกว่าจักรยานสำเร็จรูปทั่วไปมากด้วยความที่เราไม่ได้อยากขายของแพง งาน Customize ส่วนใหญ่แล้วราคาสูงประมาณ 20,000-30,000 บาท แต่ของเราสเกลจะเล็กลงมาหน่อย เราอยากให้คนเข้าถึงง่ายเพราะลูกค้าเป็นกลุ่มคนใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน เน้นหน้าตาไม่ได้เน้นเพอร์ฟอร์แมนซ์หนักๆ”
 

     ลูกค้าส่วนใหญ่ของ TINT Bicycle เป็นคนอายุ 20-30 ปี จึงเน้นการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อจักรยานซิตี้ไบค์คือ คนเมืองที่มักเล่นโซเชียลเป็นประจำ

 



     “คนที่ต้องการจักรยานจริงๆ ไม่ได้อยู่ดีๆ เดินมาที่ร้านแล้วซื้อเลย เขาจะเซิร์ชกูเกิลเพื่อหาข้อมูล เราก็ต้องมีคีย์เวิร์ด เช่น จักรยานสวยๆ หรือจักรยานปั่นในสวนสาธารณะ มีบทความที่ทำให้เขาเห็นแบรนด์เราเวลาเขาเซิร์ชคำพวกนี้ คนส่วนใหญ่เล่นโซเชียลเราก็ไปทางนั้น ช่วงแรกเราก็มีโปรโมชัน เมื่อลูกค้าซื้อไปเราก็ลงรูปให้เกิดการไลค์การแชร์ให้คนรู้จักมากขึ้น”
 




     เว็บไซต์คือหน้าด่านสำคัญที่ปรับเปลี่ยนมาหลายครั้งในระยะเวลากว่า 3 ปีนับตั้งแต่เปิดร้าน จากตอนแรกที่มีเพียงรูปภาพให้คลิกดู ต่อมาลูกค้าสามารถกดเลือกทุกอย่างได้ตามใจ เลือกของตกแต่งเพิ่มเติมได้ง่ายขึ้นและแสดงราคาทันทีที่เลือกแต่ละออปชัน
 

    “ตอนเราเปิดร้านแรกๆ ยังไม่มีเว็บไซต์ มีแต่เฟซบุ๊ก ลูกค้ามาใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการเลือกว่าจะเอาสีอะไร เซฟรูปในเว็บไซต์เพื่อมาสั่งในเฟซบุ๊กก็มี ตอนนี้เว็บไซต์เราสมบูรณ์แล้วเขาก็ไม่ต้องคุยกับคนก็ได้สามารถเลือกแล้วรอรับจักรยานอยู่ที่บ้านได้เลย สมัยก่อนยังไงก็ต้องคุยกับแอดมินในเฟซบุ๊กก่อนถึงจะสั่งได้ แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังคุยกันอยู่เพราะคนไทยมักจะมั่นใจมากกว่าถ้าได้คุยกับคนก่อนสั่งของ
 




     “โดยสิ่งที่ทำให้ลูกค้าประทับใจเราส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริการที่เขาสามารถเลือกได้ และเราให้คำแนะนำเพราะเขาต้องการความมั่นใจว่าเลือกแล้วจะสวยจริงไหม ประสบการณ์ในการซื้อจะต่างออกไป เขาจะมีความรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการออกแบบจักรยาน 1 คันด้วย”
 

     นับได้ว่า TINT Bicycle สามารถตอบสนองรสนิยมการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงและกำลังมองหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุดนั่นเอง






www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​