​Rukbatik เติมความหอม เพิ่มเสน่ห์ให้ผ้าบาติก






Cr : Rukbatik



     เมื่อความแปลกใหม่ของลวดลาย สีสันและกลิ่นหอมจากธรรมชาติบนผืนผ้า เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่กำลังมองหา แบรนด์ Rukbatik ตัวแทนจากภาคเหนือจึงก้าวเข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่นำความงามของทางล้านนามาผสมผสานกับภูมิปัญญาและการใช้นวัตกรรมสร้างจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร


     สำหรับเรื่องนี้ ดำรงค์ ชุมพานิชวศุตม์ กรรมการผู้จัดการบริษัทจุลณัฐ จำกัดและเจ้าของแบรนด์ Rukbatik บอกว่า แม้จะเริ่มทำแบรนด์มาได้เพียง 3 ปี แต่จากการศึกษาและมีประสบการณ์ในเรื่องของผ้าบาติก ทำให้มองเห็นโอกาสของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆผ่านทางการหยิบยกเอาภูมิปัญญามาสร้างนวัตกรรมและต่อยอดในการทำธุรกิจ



Cr : Rukbatik


     “เดิมเราศึกษามาทางด้านผ้าบาติกโดยใช้สีเคมีประมาณ 10 กว่าปีจึงเห็นว่ามันไม่ปลอดภัยทั้งกับตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม จึงเกิดความคิดใหม่ว่าเราต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นโปรดักต์ปลอดสารเคมีเลยเป็นที่มาของการคิดค้นนวัตกรรมใส่ความหอมจากธรรมชาติลงบนผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอ ถือเป็นการนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการนำกลิ่นของสมุนไพร เช่น มะลิ ตะไคร้ ยูคาลิปตัสหรือลาเวนเดอร์ เข้ามาสร้างความสดชื่นช่วยให้ผู้ใช้มีอารมณ์ดีขึ้น และการใช้สีธรรมชาติ เช่น ฝาง ครั่ง เพกา ลำไย ลิ้นจี่ หรือกาสะลองเข้ามาเพิ่มลวดลายให้กับตัวสินค้า”


     การใส่กลิ่นลงไปในผ้าถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสิ่งทอกลิ่นหอมจากธรรมชาติกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบันเพราะนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์แล้วยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการเรื่องของความปลอดภัยที่ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องของอาหารการกินแต่ยังครอบคลุมถึงสิ่งที่ต้องนำมาสวมใส่บนร่างกายที่ต้องทำมาจากธรรมชาติอีกด้วย





     “นอกจากเรื่องของกลิ่นหอมแล้ว การลงมือวาดลวดลายเองโดยเป็นการผสมผสานระหว่างลวดลายแบบล้านนาและแบบสากลที่เป็นเทรนด์ของโลกทำให้งานแต่ละชิ้นออกมาแตกต่างและไม่ซ้ำกัน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความยูนีคไม่ซ้ำใคร มีชิ้นเดียวในโลกก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นสินค้าที่ขายตัวเองได้ ถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของแบรนด์”


     การเป็นผืนผ้าที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปะ ทำให้สินค้าไม่ได้โดนใจแค่ลูกค้าชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการมากสำหรับลูกค้าชาวญี่ปุ่นเพราะเป็นกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าและเข้าใจในตัวโปรดักต์ โดยทางแบรนด์ยังมองไปถึงลูกค้าในยุโรป เช่น ผู้บริโภคในแถบสแกนดิเนเวียและกลุ่มลูกค้าที่รักสิ่งแวดล้อมในการขยายฐานตลาดออกไปให้กว้างขึ้นอีกด้วย


Cr : Rukbatik


     มาถึงตรงนี้ ดำรงค์ บอกว่า เรื่องของภูมิปัญญาเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรมองข้าม รวมถึงการใช้นวัตกรรมจะเป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยที่สร้างความแตกต่างและจุดแข็งให้กับธุรกิจได้


     “ทุกวันนี้ SME ต้องอาศัยการนำนวัตกรรมมาใช้กับตัวโปรดักต์ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ยากเพราะล้าหลังและไม่ทันคนอื่น ถ้าอยากจะก้าวไปข้างหน้าก็ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่หยุดที่จะคิดและต้องเป็นสิ่งที่สามารถสืบทอดได้ นอกจากนี้ยังมี SME ที่ไม่เข้าใจถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แท้จริงเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการสามารถเข้าใจในเรื่องของภูมิปัญญาและนำมาใช้ให้เป็นจุดแข็งของโปรดักต์บวกกับการใช้นวัตกรรมจะทำให้สินค้าสามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกได้ และถ้าอยากจะตีตลาดให้ได้ SME ต้องคิดให้เป็น ทำให้ถูก เข้าใจกำลังตัวเอง คิดในเชิงยุทธศาสตร์การรุกและต้องเข้าใจในยุทธศาสตร์การรับ”



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี     
  

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​