โจอี้ เตียงตื่นตัว ผู้ช่วยแนวใหม่ผู้สูงวัย







       เมื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวกเป็นอีกโจทย์ที่ต้องมีคำตอบ JOEY- Active Bed หรือ โจอี้ เตียงตื่นตัว เตียงนอนแบบมีกลไกช่วยผู้สูงอายุในการลุกนั่งและลุกขึ้นยืน จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้โดยตรง

       สำหรับเรื่องนี้ ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยเราจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ หรือคือการที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนประชากรวัยทำงาน ดังนั้นจึงเกิดคำถามที่ว่าเราจะดูแลคนเหล่านี้ให้มีสุขภาพที่ดีไปนานๆได้อย่างไรและจะมีอุปกรณ์อะไรบ้างที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนกลุ่มนี้ได้

       “เราได้รับโจทย์มาจากทั้งผู้ดูแลผู้สูงอายุ ตัวผู้สูงอายุเองและโรงพยาบาลว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงเยอะมากในประเทศไทย เวลาจะลุกจากที่นั่งหรือนั่งขึ้นมาก็ยากทำให้มีโอกาสที่จะล้มบ่อย ทางเราจึงทำการคิดค้น Active Bed หรือ โจอี้ เตียงตื่นตัว ขึ้นมาได้ประมาณ 1 ปี เพื่อเป็นตัวช่วยในการลุกนั่งและลุกขึ้นยืน โดยจะมีฟังก์ชั่นพิเศษคือสามารถหมุนออกมาได้ในลักษณะ 90 องศาซึ่งจะเป็นท่าที่เหมือนเรานั่งเก้าอี้ ทำให้เวลาจะลุกก็ลุกขึ้นได้อย่างปลอดภัย นั่งก็นั่งได้อย่างสะดวกต่างจากในภาวะปกติที่ต้องมีการพลิกตัวก่อนจะนั่งหรือยืนที่ทำให้มีโอกาสล้มสูง”





       โดย “เตียงตื่นตัว” นั้นได้รับการออกแบบจากมุมมองของผู้ใช้ในด้านต่างๆ หรือที่เรียกว่า “Human-centric design” ซึ่งจะคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ใช้คือ ช่วยเหลือในการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว ใช้งานอุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง มีความปลอดภัยในการใช้งาน ลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม มีความเหมาะสมในด้านการยศาสตร์และด้านราคาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและเข้าถึงได้กับผู้สูงอายุและผู้ดูแลในสังคมไทยในวงกว้าง

       “เตียงนี้เหมาะสำหรับการนำไปใช้ทั้งที่บ้าน สถานดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลเพื่อช่วยในเรื่องของความปลอดภัยและสร้างความสะดวกสบายให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงซึ่งคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้สูงอายุในบ้านเราทั้งหมด หรือตีเป็น 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่จะติดบ้านติดเตียงคิดเป็นจำนวนประมาณ 1 – 1.5 ล้านคน”

       จุดเด่นของ โจอี้ เตียงตื่นตัว คือ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ไม่ติดเตียงให้เกิดการลุก – ยืน – เดิน สร้างความมั่นใจให้ผู้สูงอายุเพราะมีกลไกหลักสำหรับการปรับเปลี่ยนจาก “ท่านอน” เป็น “ท่านั่ง” ในลักษณะ “พร้อมลุกขึ้นยืน” ที่ได้รับการออกแบบมาให้มีความแข็งแรงและปลอดภัยต่อการใช้งานสูงที่ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง ลดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม รวมถึงเป็นผู้ช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ หรืออุปกรณ์ช่วยเฝ้าระวังการลุกออกจากเตียงของผู้สูงอายุ มีปัญญาประดิษฐ์ช่วยวิเคราะห์ศึกษาพฤติกรรมการนอน การลุกจากเตียง เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้านสุขภาวะ ป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพและการนอนติดเตียงของผู้สูงอายุได้





       นอกจากจะเป็นเตียงที่หมุนออกมาได้กระตุ้นให้ผู้ใช้ไม่ติดเตียงแล้ว ตัวรีโมทที่ทำการควบคุมยังได้รับการออกแบบมาให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุให้ใช้งานได้ง่ายและปลอดภัย โดยมีปุ่มกดขนาดใหญ่ มีภาพอธิบายให้เข้าใจง่ายและใช้สีสันที่ดูง่าย

       “เราให้ความสำคัญมากกับการออกแบบปุ่มกดบนรีโมทที่ต้องใช้ง่ายสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง เช่น ถ้าจะนอนก็สามารถกดปุ่มที่ภาพนอนได้ โดยปุ่มจะมีขนาดใหญ่และมีสีสันที่ชัดเจน เป็นฟังก์ชั่นที่ใช้งานง่ายแค่เพียงกดค้างไว้และปล่อยโดยผู้ใช้ไม่ต้องตกใจเหมือนอย่างเตียงในโรงพยาบาลที่ไม่แน่ใจว่าจะต้องกดปุ่มไหน ทำให้ผู้ใช้สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องรบกวนผู้ดูแล”

       และเพราะยังไม่มีผู้เล่นไหนในตลาดที่ใช้ฟังก์ชั่นแบบเดียวกัน จึงปูทางให้ โจอี้ เตียงตื่นตัว ยืนอยู่ในแถวหน้าของการเข้ามาเป็นผู้ช่วยที่มีศักยภาพที่สามารถครอบคลุมไปถึงตลาดใกล้เคียงนอกเหนือจากกลุ่มผู้สูงวัยได้

       “เรามองเห็นช่องวางของตลาดเลยผลิตโปรดักต์นี้ออกมาโดยเราถือเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่เตียงสามารถหมุนออกมาได้ ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลตนเอง ไม่ต้องการติดบ้านและติดเตียงแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการเคลื่อนที่ เช่น โรคอัมพฤกษ์ รวมถึงลูกหลานที่ต้องการดูแลบุพพารีให้ได้รับความสะดวกและมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย”





       มาถึงตรงนี้ ดร. ศราวุธ บอกว่า เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในสถานะต้นแบบและใช้ทุนในการพัฒนาสูง ทำให้ราคาของเตียงตื่นตัวจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนกว่าบาท แต่ราคาสามารถลดลงได้หากมีการถ่ายทอดสิทธิ์โดยเอกชนมาซื้อไปจำหน่ายซึ่งต้องดูว่าเขาจะสามารถลดต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าได้ราคาที่ต่ำกว่าแสนบาทจะเปิดโอกาสทางการตลาดให้มีมากขึ้น เพราะหากไปเทียบกับของต่างประเทศจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 200,000 – 400,000 บาท

       “จำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี แต่เรามองหาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ค่อยเจอ การทำเตียงตื่นตัวพร้อมฟังก์ชั่นพิเศษแบบนี้ขึ้นมาจะช่วยให้ผู้ใช้มีความแอคทีฟมากขึ้น เคลื่อนไหวสะดวกและลดอาการเมื่อยล้า การที่เตียงหมุนออกมาได้นั้นอย่างน้อยจะช่วยให้ผู้ใช้ลุกนั่งได้มากขึ้น เช่น หลังการทานอาหารก็จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น หรือช่วยพยุงให้พวกเขาลุกขึ้นยืนได้แม้เป็นการยืนอยู่เฉยๆก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยโอกาสที่จะล้มมากที่สุดก็คือการนั่งลงไปบนเตียงซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้เตียงแบบธรรมดา”   



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี​

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​