Maison Craft แบรนด์ที่นักออกแบบจับมือกับชุมชน สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก

 





     เสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศไทยคืองานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ใช้สองมือในการรังสรรค์วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่มีชิ้นเดียวในโลก แต่ด้วยวันและเวลาที่ผ่านไป ทำให้งานหัตถกรรมไทยค่อยๆ จางหายไปตามเวลา เป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยถ้างานหัตถกรรมเหล่านี้จะไม่มีอีกต่อไปแต่ 1 ในแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมไทยคือ Maison Craft ที่ใช้การออกแบบดีไซน์ในสไตล์คนรุ่นใหม่เข้าไปปลุกงานหัตถกรรมไทยในชุมชนมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
               

     เมย์ - เมทินี รัตนไชย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Maison Craft ได้บอกว่าตัวเธอเองมีความสนใจในงานหัตถกรรมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเธอมีโอกาสได้คลุกคลีกับงานหัตถกรรมมากขึ้นเมื่อตอนที่เธอได้ทำงานด้าน Interior Design พร้อมกับเธอได้รู้จักชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจในจังหวัดจันทบุรีผ่านเพื่อนของเธอที่เป็นนักเดินทาง ทำให้เธอได้ลงพื้นที่ไปดูและเห็นว่ามีวัสดุที่มีคุณค่าของไทยนั่นคือ ปอ
               

     “ปอ คือวัสดุที่มีคุณค่าของไทยเรา จะขึ้นในน้ำ เจริญเติบโตได้ดีในแถบชายฝั่งทะเลเพราะปอจะชอบน้ำกร่อย เป็นข้อดีของปอคือจะมีเกลืออยู่ในเนื้อ ทำให้ปลวก มด ราอะไรพวกนี้จะไม่ขึ้น ซึ่งการทำหัตถกรรมจากปอเป็นรายได้เสริมของชุมชน ไม่ทำก็ได้ เพราะอย่างที่รู้ว่าจันทบุรีเป็นแหล่งปลูกทุเรียนและผลไม้ที่ดังมาก แต่ว่าการที่ชุมชนเขาอยู่ได้เพราะเขารักในสิ่งที่เขาทำ พอเมย์เข้ามาเห็นตรงนี้ เราก็รู้สึกว่าอยากให้ปอมันไปได้ไกลกว่านี้ เพราะถ้าเขายังทำในรูปแบบเดิม เหมือน 10-20 ปีที่ผ่านมา สักวันมันก็จะหมดไป”
 




ดีไซน์เนอร์ผู้พางานหัตถกรรมไทยไปไกลสู่ต่างประเทศ
               

     หลังจากที่เมย์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนฐานะนักออกแบบและผู้ที่จะพางานหัตถกรรมไปไกลสู่ต่างประเทศ เธอได้ก็นำทักษะต่างๆ ที่เธอมีผสานเข้ารวมกับภูมิปัญญาของชาวบ้านออกมาเป็นผลงานหัตถกรรมไทยที่ดูยกระดับมากขึ้น เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
               

     “ตัวเราเป็นนักออกแบบ เราก็พยายามที่จะพัฒนาออกมาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีลวดลายมากขึ้น มีสีสันที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ตอนนี้จะมีพวกที่รองจาน ที่รองแก้ว หลายไซส์ มีพวก Table Runner เสื่อ และกำลังจะทำโคมไฟในคอลเลคชั่นหน้า เราเข้าไปร่วมกับชุมชน ทำเป็นแบรนด์ขึ้นมา ชุมชนไม่ได้มีความกังวลใจใดๆ ที่เมย์เข้าไปสร้างเป็นแบรนด์เมย์ แทนที่จะสร้างในแบรนด์ชุมชน เขารู้สึกว่าเขายินดี อยากที่จะสนับสนุนเมย์ เพราะเราทำให้สินค้าที่เป็นความภาคภูมิใจของเขาไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ลูกค้าแฮปปี้ กลับมาซื้อซ้ำ เขาก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเรา เราเอาสิ่งที่เรามีบวกสิ่งที่เขามีรวมกันให้กลายเป็นสินค้าที่ถูกยกระดับมากขึ้น”
 




ไม่ใช่แค่ที่รองจาน แต่คือวิถีชุมชนที่มีคุณค่า
               

     คุณค่าของแบรนด์ Maison Craft คือกระบวนการผลิตที่ถูกถักทอทำออกมาด้วยใจของคนในชุมชน ซึ่งคุณค่าตรงนี้นี่แหละที่ทำให้แบรนด์ Maison Craft เป็นที่ถูกใจลูกค้าต่างประเทศ
               

     “เดิมทีชุมชนเขาก็นำปอมาทำเป็นเสื่อ ด้วยความใช้เวลาค่อนข้างนาน ปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เพราะปอมันทำได้ครั้งหนึ่ง เก็บได้ครั้งหนึ่ง จากนั้นเก็บมาต้องฉีกเป็นเส้น ฉีกเปลือกมันออกมาให้เป็นเส้นเล็กลง ตากแดดให้แห้ง พอได้ที่ก็จะเอาไปปั่น จนได้เส้นต่อเส้นที่ยาวต่อกันเป็นหนึ่งม้วนที่พร้อมจะนำไปสาน กว่าจะผ่านมาถึงตรงนี้ต้องผ่านคนในหมู่บ้านหลายคนช่วยกัน แต่ละคนก็ทำหน้าที่คนละอย่าง เขาก็เป็นชุมชนที่ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ตอนนี้ตลาดที่ต้องการก็มีจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส คือเขารู้ว่ามันเป็นสินค้าธรรมชาติและเป็นสินค้าทำมือ ซึ่งทางบ้านเขาไม่มีแบบนี้แล้วทั้งตัววัสดุเองและกระบวนการทำมือด้วย มันเป็นข้อดีในข้อเสียที่บ้านเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้าถึงชุมชนขนาดนั้น ลูกค้าเขาเข้าใจในสิ่งที่สื่อสารออกไปมันไม่ใช่แค่ที่รองจาน แต่มันคือวิถีชุมชน คือ Community ของผู้ผลิตที่มีใจรักในงานหัตถกรรมตรงนี้”
 




ใช้งานดีไซน์เข้าไปสร้างรายได้ให้ชุมชน
               

     หลังจากที่แบรนด์ Maison Craft เข้าไปทำงานกับชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดคือการอนุรักษ์งานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่านี้ไว้และยังทำให้คนอีกมากมายได้มีโอกาสรู้จักความสวยงามของการสานด้วยใบปอ สิ่งที่รองลงคือการที่ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
               

     “แน่นอนว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน พอผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ในแต่ละปีคนในชุมชนก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไปหาตลาดที่อื่น เพราะเรามีลูกค้ามารองรับ ต่อคิวเลย แต่ถือว่ากำลังการผลิตยังน้อยมาก น้อยกว่าความต้องการ ก็อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้การทำแบบนี้ ลูกหลานของแต่ละบ้านถ้าเขาเริ่มสานต่อ เราก็จะใจชื้นขึ้นว่าภูมิปัญญาตรงนี้จะไม่หายไปแน่นอน”
 



               
     นี่คือตัวอย่างของการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ การดีไซน์ไปหลอมรวมกับภูมิปัญหาไทยที่หลายคนอาจหลงลืมจนกลายเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มีกลิ่นอายของชุมชน อย่างแบรนด์ Maison Craft ที่ทำให้งานหัตถกรรมไทยๆ ไปสู่ต่างประเทศได้ด้วยงานดีไซน์และภูมิปัญญาไทยที่แตกต่าง



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​