​CHOB HANDICRAFTS ปั้นจากใจ ส่งงานดีไซน์ตีตลาดของจิ๋ว





 
 
     “ต้องดูก่อนเลยว่าเราชอบอะไร แล้วสิ่งที่เราชอบนั้น เราใช้เงินซื้อหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็แปลว่าเราสามารถทำสิ่งนั้นเป็นอาชีพเลี้ยงเราได้”



     นี่คือจุดเริ่มต้นของการนำความชอบในของเล่นวัยเด็ก มาพลิกเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับตัวเองของ รติภาคญา กลิ่นบุญฟุ้ง เจ้าของแบรนด์ CHOB HANDICRAFTS ที่รับปั้นของจิ๋วตามสั่ง รวมไปถึงสรรหาพร็อพต่างๆ ที่สมจริง เพื่อเติมเต็มโลกแห่งจินตนาการของนักเล่นตุ๊กตาและนักสะสมของชิ้นเล็กชิ้นน้อย
 



--- จุดกำเนิดนักปั้น และงานแบบ Made to Order หรือสินค้าแบบสั่งทำ ---


     เพราะอยากตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการของเล่นหรือพร็อพที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด บวกกับการไปจ้างคนอื่นปั้นแล้วเกิดปัญหาการปั้นที่ล่าช้าจนไม่สามารถส่งงานให้ลูกค้าได้ทันกำหนด เราจึงไปเรียนปั้นพร้อมกับพี่สาวและเริ่มรับปั้นงานตามสั่ง หรือ Made to Order ขึ้นมา ซึ่งแม้เราจะไม่มีพื้นฐานด้านการปั้น แต่เวลาปั้นไปมันก็จะเกิดไอเดีย ง่ายๆอย่างกะหรี่ปั๊บ เราก็ต้องคิดแล้วว่าต้องรีดเป็นแผ่นก่อนหรือเปล่า หรือแค่ม้วนยาวๆแล้วค่อยกดให้เป็นคลื่น แม้ตอนแรกจะออกมาไม่สวยงามมากนักแต่ก็สามารถพัฒนาได้ นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นของจิ๋วซึ่งต้องใช้ฝ่ามือในการปั้น เราก็ต้องรู้ว่าส่วนไหนของฝ่ามือเหมาะกับการปั้นอะไร เช่น ส่วนกลางของฝ่ามือเหมาะกับการปั้นดินให้เป็นเส้นยาวๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแต่ละคนจะมีตำแหน่งในการปั้นไม่เหมือนกัน
 
 
--- จุดแข็งและความแตกต่างของแบรนด์คือ งานดีไซน์ที่ Movement ได้ และมีความสมจริง ---

     คอนเซปต์ของเราอยู่ที่งานปั้นทุกชิ้นต้องมี Movement หรือเคลื่อนย้าย หยิบแยกชิ้นได้ ซึ่งเมื่อของสามารถ Movement ได้ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวชิ้นงาน ซึ่งจะแตกต่างจากงานที่รับมาจากที่อื่นหรือที่มีอยู่ในท้องตลาดซึ่งเป็นงานติดกาว ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ในการทำงานของเรา ถ้าลูกค้าอยากได้กะหรี่ปั๊บ เราจะถามว่าเขาอยากได้แบบไหนและให้ส่งรูปที่อยากได้มาให้เราดูก่อน หลังจากได้รูปมาแล้ว เราจะมีการดีไซน์ส่วนอื่นๆ ให้ด้วยอย่างภาชนะจานชามหรือแพ็กเกจจิ้งที่จะนำมาเข้าคู่กัน ในส่วนของตัวกะหรี่ปั๊บนั้น การปั้นของเราจะใส่รายละเอียดหรือมีดีเทลเพิ่มขึ้น เช่น จะมีชิ้นที่แตกเห็นไส้ข้างใน มีแป้งเป็นชั้นๆ มีการจับจีบ เวลาลูกค้าเอาไปวางรวมกันก็จะเห็นว่านี้คือกะหรี่ปั๊บไส้อะไร





     หรืออย่างปาท่องโก๋ เราจะปั้นให้บางชิ้นมีความเกรียม หยิบแยกชิ้นได้ หรือหยิบมาจิ้มนมได้ หรือจะเป็นหมูโสร่ง เราก็จะมีจานให้ลูกค้าเลือกว่าชอบแบบไหน อยากได้จานแบบธรรมดา หรือที่เราดีไซน์ให้แบบทำเป็นใบบัวขึ้นมาเป็นภาชนะ แล้วก็มีน้ำจิ้ม โดยใช้สีที่ตัดกันเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับชิ้นงาน หรือในส่วนของเครื่องดื่มเราก็จะมีการตามเทรนด์ว่าเครื่องดื่มแบบไหนกำลังมา มีการทำให้แก้วสามารถเปิดฝาได้ หรือจะเป็นขนมสายไหมที่บรรจุอยู่ในแก้ว ก็สามารถเปิดฝาแล้วหยิบออกมาเล่น มาวางบนมือตุ๊กตาหรือฟิกเกอร์ได้


     หรืออย่างเซ็ตของส้มตรุษจีน เราก็จะปั้นเอง ดีไซน์เองและลงสีเองทั้งหมด ซึ่งสามารถแกะถุงออกมาและม้วนถุงให้เป็นตะกร้าได้ หรือในส่วนของถ่านก็จะมีการใส่สีให้เหมือนติดไฟ ไฟแดงหรือขี้เถ้าไฟมอด โดยงานทุกชิ้นเราจะเน้นที่การทำทุกอย่างให้เหมือนของจริงมากที่สุด อีกทั้ง ในช่วงเทศกาลทางเราก็จะมีการปั้นงานให้เข้ากับบรรยากาศช่วงนั้นอีกด้วย เช่น ช่วงเทศกาลลอยกระทงก็จะปั้นกระทงจิ๋ว ชุดสังฆภัณฑ์กับดอกไม้เวียนเทียน หรือช่วงสงกรานต์ก็ปั้นดินสอพอง เป็นต้น
 



 
--- วัสดุที่ใช้เป็นดินสูตรพิเศษ ซึ่งร้านของเราจะไม่ใช้ดินเหมือนร้านทั่วไป ---


     ตอนไปเรียนปั้นแรกๆเจอปัญหาว่าดินไทยเริ่มแข็งหรือหนืดทั้งๆที่ยังไม่ทันจะปั้นหรือผสมสี ซึ่งพอดินเริ่มหนืดก็จะปั้นให้เนียนไม่ได้แล้วเพราะดีเทลของงานมันเยอะ มีคนบอกว่าต้องผสมครีมเพิ่ม แต่ก็ไม่ดีขึ้นเพราะดินกับครีมนั้นไม่เข้ากัน ยิ่งปั้นยิ่งหลุดเป็นก้อนและยิ่งมีรอยแตก อีกทั้งยิ่งใส่ครีมเยอะพอแห้งก็จะดูดฝุ่นเข้ามา เราเลยลองหาสูตรดินที่มีความชุ่มชื้นในตัว แห้งช้า แห้งช้าในที่นี้คือขณะปั้นยังมีความยืดหยุ่นอยู่ ถ้าดินเริ่มแข็งหรือเซ็ตตัวเราก็แค่ขยำหรือนวดแล้วดินก็จะกลับมาเหมือนเดิมโดยที่เราไม่ต้องใส่ครีมเพิ่ม เพราะฉะนั้นดินของเราเลยมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าดินที่ขายทั่วไปเล็กน้อย เนื่องจากมีการใส่ส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้มีความใกล้เคียงกับดินญี่ปุ่น เพราะการใช้ดินญี่ปุ่นเพียวๆนั้นมีราคาสูงมากซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อชิ้นงานมีราคาแพง เราเลยทำการพัฒนาดินไทยให้มีสูตรที่ใกล้เคียงกับคุณภาพของดินญี่ปุ่นเพื่อลดต้นทุน
 
 
--- กลุ่มลูกค้าเป็นตลาดเฉพาะที่เรียกได้ว่าเป็น Niche ใน Niche ---


     ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นเรียกได้ว่ามีความพิเศษเฉพาะตัว โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คนที่เล่นตุ๊กตาหรือฟิกเกอร์ ที่จะเอางานของเราไปเป็นพร็อพ กลุ่มคนที่สะสมของจิ๋วอยู่แล้ว และกลุ่มที่มีเพื่อนต่างชาติซึ่งต้องการซื้อไปเป็นของที่ระลึก ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่ม Niche ของ Niche ที่เป็นกลุ่มเล็กแต่ก็มีกำลังซื้อสูง และถึงแม้ตลาดของจิ๋วบ้านเราจะค่อนข้างแคบ แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโต ซึ่งแม้จะมีผู้เล่นมากมายและปั้นงานประเภทเดียวกัน แต่ด้วยสไตล์และความเป็นตัวเองของผู้ปั้นในการสร้างสรรค์ดีไซน์ก็จะทำให้งานที่ออกมานั้นไม่เหมือนกัน
 



 
--- ถ้าเราจะนำเสนอการสร้างธีม สร้างสตอรี่ เพื่อทำการขาย เราต้องนำจินตนาการที่มีถ่ายทอดออกมาให้ลูกค้าได้เห็น ---


     เคยมีลูกค้ามาตามหานาฬิกาเพื่อเอาไปเป็นพร็อพติดฟิกเกอร์ แต่มันหมดแล้ว เราเลยบอกว่าเอาเป็นโค้กลังไปแทนไหม เขาก็งงว่าจะให้เอาไปทำอะไร เราก็บอกว่าเอาไปเล่นกับฟิกเกอร์ ให้ฟิกเกอร์ถือไง เขาก็ตกลง เพราะฉะนั้น การนำเสนอขายเลยขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะจัดดิสเพลย์ยังไงหรือจะสร้างสตอรี่ยังไงให้ลูกค้าสนใจ อย่างเบียร์วุ้นที่เราทำเอง เวลาขายในเน็ตก็จะถ่ายรูปให้ลูกค้าเห็นว่าเป็นน้ำเบียร์แต่มีความเป็นวุ้นล้นออกมา เป็นการสร้างกิมมิคอย่างหนึ่ง ซึ่งจะมีความแตกต่างกับของที่เห็นอยู่ในตลาดที่จะเป็นเพียงฟองเบียร์เล็กๆไม่ได้ผุดออกมา แต่ของเราจะเป็นเบียร์วุ้นมีฟองไหลออกมาจึงทำให้คนจำได้ว่าสไตล์นี้คืองานของเรา


     หรืออย่างเซ็ตปลาทองเราก็จะโชว์ว่า ใส่ถุงพลาสติกจริงนะ เชือกที่ใช้ก็ของจริง นำมาหยอดน้ำ ทุกอย่างเป็นดีเทลในการทำ หรือในส่วนของพร็อพอย่างขวดโซดาก็เป็นขวดจริงแต่ว่าทำการฉีดน้ำลงไป พอเวลาจับเขย่าจะมีความสั่นไหวของน้ำ หรือขวดน้ำมันก็จะเป็นขวดแก้วจริง เน้นความสมจริงให้มันเคลื่อนไหวได้ หรืออย่างกระทะก็จะไม่ใช่พลาสติก ที่ตักน้ำแข็งก็จะเป็นอะลูมิเนียมเหมือนของจริงเลยแต่แค่ย่อส่วนลงมา เพราะฉะนั้น งานทุกชิ้นที่นอกเหนือจากงานปั้นนั้น เราจะพยายามหาวัสดุที่คล้ายของจริงมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการของที่เหมือนจริงมากที่สุด   


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​