​แผนปั้นเชียงใหม่ ศูนย์กลางนวัตกรรมเมืองกาแฟ

  • Text : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 



 
Main Idea
 
  • ว่ากันว่ายิ่งสูงกาแฟยิ่งอร่อยและมีคุณภาพดี กลายเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่หลายๆ ฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟ (Chiang Mai Coffee Hub)
 
  • ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมมีพันธุ์กาแฟที่ได้ขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) ไปจนถึงการผลิต ผสานนวัตวิถีกาแฟกับการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้เชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี




 
     นอกจากจะเป็นเมืองที่ติดอันดับน่าท่องเที่ยวแล้ว คนที่ไปเยือนเชียงใหม่คงได้เห็นร้านกาแฟสวยเก๋ให้เลือกลิ้มชิมรสกันมากกว่า 1,000 แห่ง และยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อมองย้อนเส้นทางธุรกิจกาแฟในเชียงใหม่มีความโดดเด่นด้านซัพพลายเชนที่เรียกว่า ครบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถึงกับเกิดยุทธศาสตร์ ผลักดันเชียงใหม่เป็นมืองกาแฟ (CHIANG MAI COFFEE HUB) ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการผลิตไปจนถึงการบริโภคกาแฟคุณภาพเยี่ยมกันเลยทีเดียว





     เมื่อพิจารณาลึกลงไปเชียงใหม่นับว่าเป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิอากาศดี โดยบางพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่เหมาะจะปลูกกาแฟ ว่ากันว่ายิ่งสูงกาแฟยิ่งอร่อยและมีคุณภาพดี และหากเทียบกับพื้นที่ปลูกต้นกาแฟในประเทศไทยทั้งหมดซึ่งมีอยู่กว่า 260,000 ไร่ สร้างผลผลิตรวมกันได้ประมาณ 35,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกในเชียงใหม่กว่า 20,000 ไร่ ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3,800 ตันต่อปี
               

     จากข้อมูลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บอกไว้ว่า ปัจจุบัน คลัสเตอร์กาแฟเมืองเชียงใหม่มีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลายน้ำ โดยมีคนที่เอากาแฟไปคั่วไปปรุงมีประมาณ 1,000-2,000 ร้านค้า มูลค่าทางการค้าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงแค่ร้านกาแฟเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่นำกาแฟมาแปรรูปเป็นขนม หรือร้านน้ำผลไม้ที่เอากาแฟมาผสมด้วย
 



โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟมีโอกาสเป็นไปได้สูง
               

     ท่ามกลางร้านกาแฟกว่า 1,000 ร้านในเชียงใหม่ วาวีคือแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นอันดับต้นๆ ที่สามารถอยู่มาได้ถึง 18 ปี ทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของธุรกิจกาแฟ โดยต้นน้ำคือ ไร่กาแฟอยู่ที่ดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งบนดอยจะมีเรื่องของแปลงทดลองกาแฟ ศูนย์การเรียนรู้และโรงงานแปรรูป และสถานที่ฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานของอเมริกาและยุโรป นอกจากปลูกเองแล้วยังมีคอนแทรคฟาร์มิ่งกับเกษตรกรประมาณ 50 ราย ซึ่งมีกลุ่มกาแฟออร์แกนิกที่ทำในจังหวัดเชียงใหม่ที่ อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง อำเภอสะเมิง และที่ตำบลเทพเสด็จ รวมอยู่ด้วย


     ส่วนกลางน้ำก็คือ โรงคั่วที่ใช้มาตรฐานของต่างประเทศจับกระบวนการผลิตทั้งหมด ทั้ง GMP, ACCP โรงงานที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล โดยผู้มีประสบการณ์การคั่วมาตรฐาน Roasting Professional จากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษยุโรป (SCAE) มากว่า 15 ปี บริการรับทำ Sample Roast สร้างกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยมาตรฐาน Q-Grader ของสมาคมกาแฟชนิดพิเศษอเมริกา และมาตรฐานออร์แกนิกทั้งจากยุโรปและอเมริกา ทำให้เป็นโรงคั่วที่สามารถคั่วกาแฟออร์แกนิกได้ เรียกได้ว่าวาวีกลายเป็นผู้ประกอบการตัวอย่างในเรื่องการสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมกาแฟในเชียงใหม่


     ส่วนปลายน้ำคือ ร้านกาแฟวาวีมีอยู่ 21 สาขาทั่วประเทศ และกำลังจะขยายสาขาเพิ่มเติมอีกทั้งในและต่างประเทศ มีแผนจะเปิดร้านกาแฟออร์แกนิกโดยเฉพาะ





     ไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟวาวี จำกัด หนึ่งในคลัสเตอร์กาแฟเมืองเชียงใหม่มองว่าโครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟมีโอกาสเป็นไปได้สูง


     “ก่อนมีโครงการทุกคนต่างทำสะเปะสะปะ แต่พอมีโครงการนี้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน ตอนนี้เลยสร้างกลุ่ม ทั้งต้นน้ำ มีใครปลูกกาแฟที่ไหน อย่างไร บางครั้งก็เอามาแบ่งกันชิม เจอปัญหาแบบนี้จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เริ่มเป็นกลุ่มก้อนกันมากขึ้น และเริ่มเห็นว่าใครมีกาแฟดีอย่างไร เราก็ดูว่าเรามีโอกาสเชื่อมกับเขาได้อย่างไรบ้าง ส่วนกลางน้ำ โรงงานยังมีขีดจำกัดอยู่ประมาณหนึ่ง วันนี้มีชาวบ้านพยายามเข้ามาทำกระบวนการกลางน้ำมากขึ้น แต่เราพยายามบอกว่ายังไม่ถึงเวลาอยากให้เขาไปทำกระบวนการต้นน้ำให้ดีเสียก่อน ถ้ามีอะไรให้โรงงานช่วยเราก็ช่วยได้ ขณะที่ปลายน้ำ ตอนนี้ก็มีกลุ่มร้านกาแฟที่รวมตัวกัน เริ่มแลกเปลี่ยนความคิดกัน มีการอบรมบาริสตาบ้าง อบรมเรื่องการคัปปิ้งกาแฟบ้าง ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกัน”
 




พัฒนากาแฟขึ้นทะเบียน
GI ตามรอยกาแฟเทพเสด็จ


     หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการต้นน้ำ คือการผลักดันให้ผลผลิตกาแฟในเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) หรือเป็นสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เหมือนที่กาแฟเทพเสด็จทำได้สำเร็จในปี พ.ศ.2560


     กาแฟเทพเสด็จปลูกในที่สูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งป่าไม้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไร้มลภาวะ มีอากาศหนาวเย็นสบายทั้งปี ส่งผลดีต่อคุณภาพของกาแฟ ซึ่งเอกลักษณ์ของกาแฟเทพเสด็จคือ กลิ่นความหอมผสานกลิ่นดอกไม้ป่า เพราะในช่วงที่ต้นกาแฟออกดอกนั้น ดอกไม้ป่าสีเหลืองที่ชื่อว่า ดอกก่อ ก็ออกดอกพอดี ดอกไม้ทั้งสองจึงเกิดการผสมเกสรกันผ่านการนำของผึ้งโก๋นหรือผึ้งโพรงที่เกษตรกรเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติจึงทำให้ได้ลักษณะที่พิเศษของกาแฟชนิดนี้ออกมา ทั้งยังเป็นกาแฟอินทรีย์ตัวจริงเสียงจริง การันตีด้วยการได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ GREEN & CLEAN การปลูกกาแฟเป็นแบบอินทรีย์ปลอดภัยไร้สารพิษมาแล้ว





     จากการเปิดเผยของ สุวรรณ เทโวขัติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟสดเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า “ช่วงแรกเราเน้นส่งกาแฟกะลาให้กับมูลนิธิโครงการหลวง แต่ต่อมามองเห็นว่าการทำกาแฟกะลาไม่ได้เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร และประเทศเพื่อนบ้านสามารถผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ในระยะยาวเราคงสู้กับเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่สู้ได้คือคุณภาพอย่างเดียว เมื่อเราได้ขึ้นทะเบียน GI มาแล้ว สิ่งที่เราได้อย่างแรกเลยคือ ราคากาแฟเพิ่มขึ้น ในปีนี้กาแฟเทพเสด็จสามารถขายได้ราคาสูงกว่ากาแฟจากดอยอื่นๆ ประมาณกิโลกรัมละ 5-10 บาท”  
 




นวัตวิถีกาแฟผสานการท่องเที่ยวที่แม่กำปอง
               

     หมู่บ้านเล็กๆ อย่างแม่กำปองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเป็นหนึ่งในรายได้หลักของชุมชน รายได้อีกส่วนมาจากการเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาชั้นดี ชาวบ้านผลิตกันเองตั้งแต่ปลูกกาแฟแบบปลอดสารพิษ คั่วในโรงคั่วเล็กๆ ของชุมชน บรรจุและจัดจำหน่ายไปจนถึงชงเป็นกาแฟสดให้นั่งดื่มในร้านเล็กๆ ท่ามกลางวิวธรรมชาติ





     ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแม่กำปอง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าให้เราฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านมีอาชีพปลูกต้นชาเมี่ยง จนมาปี พ.ศ.2550 จึงเริ่มปลูกต้นกาแฟเป็นอาชีพเสริมโดยความช่วยเหลือจากโครงการหลวง ทว่าเมื่อความนิยมกินเมี่ยงลดลง กาแฟจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยือนตลอดทั้งปี
               

     “ตอนนี้อาชีพปลูกกาแฟกับการท่องเที่ยวเคียงคู่กันไปเพราะนักท่องเที่ยวมาที่นี่ก็ต้องดื่มกาแฟ และปัจจุบันหมู่บ้านของเราทางการยกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาบวกกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่เป็นทุนเดิมคือ เรื่องของวัฒนธรรมและธรรมชาติ กาแฟจึงมีส่วนอย่างมากในการทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะเราสามารถแปรรูปเองได้และจำหน่ายเองได้ในชุมชน รวมถึงส่งออกไปขายทั่วประเทศด้วย เลยกลายเป็นรายได้หลักควบคู่กับการทำบ้านพักแบบโฮมสเตย์และบ้านพักนักท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 60 หลัง นี่คือเรื่องราวของแม่กำปองที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดการพัฒนาขึ้นในชุมชน”
               

     การยกระดับเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองแห่งกาแฟ นับเป็นการยกระดับคุณภาพทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเมื่อตลาดมีความต้องการกาแฟมากขึ้น มูลค่าของตลาดก็จะสูงขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งห่วงโซ่
 
 
 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​