โตให้สุด!! เจาะเคล็ดลับเปลี่ยนธุรกิจเล็กเป็น “มหาชน”

Text: WAN. K





Main Idea

 
  • การขยายธุรกิจจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน ซึ่งทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการก็คือการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
 
  • นี่คือถนนเส้นหลักที่จะเปลี่ยน  SME ให้เป็นองค์กรมืออาชีพ และมีนามสกุลห้อยท้ายว่า “มหาชน” แต่ถนนเส้นนี้ไม่มีอะไรง่าย และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้วิถีแบบ SME
 
  • ถึงขนาดมีคำพูดว่า การเข้าตลาดอาจเป็นเรื่องยาก แต่การออกจากตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า!




     การทำธุรกิจต้องมีการเติบโต แต่การขยายธุรกิจจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่คิดจะเติบโต เพราะนอกจากจะทำให้บริษัทได้รับเงินทุนแล้ว ยังจะยกระดับเป็นองค์กรมืออาชีพ มีระบบปฏิบัติการที่แข็งแกร่ง เป็นมาตรฐาน โปร่งใส ตอบรับความเป็นองค์กรธรรมาภิบาลอีกด้วย


     ทว่าอย่างไรก็ตาม การเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นั้น ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม และเมื่อเข้าไปแล้วยังต้องรักษากฎกติกา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะเป็นอย่างไร มาฟัง 2 ผู้บริหารบริษัทที่มีประสบการณ์การเข้าตลาดมาแล้ว อย่าง สุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) และ นรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน)  เล่าให้ฟัง!

 
 
การหาข้อมูลก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์
 

สุนทร: จริงๆ แล้วเรื่องของการหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นั้นยินดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการอยู่แล้ว
 

นรากร: สามารถหาข้อมูลได้ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต หรือจากทางที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อที่จะให้เขาช่วยดูว่าบริษัทมีศักยภาพพอที่จะเข้าตลาดได้ไหม มีแนวโน้มเป็นยังไง และมีจุดอ่อนจุดแข็งเป็นยังไงบ้าง
  



การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเข้าตลาดหลักทรัพย์
 

สุนทร: การเตรียมตัวมี 2 ส่วนหลักๆ อย่างแรกคือการทำตามกฎระเบียบทั้งหลายที่ทางตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) มี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไร โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้เป็นพวกที่มีบัญชีหลายชุด อย่างที่สองคือ ต้องเตรียมใจให้พร้อมว่าการเป็นบริษัทมหาชนนั้นจะต้องมีกลไลของการ Check and Balance หรือการตรวจสอบและควบคุมจากผู้ถือหุ้น มีกติกาต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ เรื่องของโครงสร้างองค์กร ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้เถ้าแก่ส่วนใหญ่อึดอัด เพราะว่าเหมือนถูกลดอำนาจ แล้วจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ฉันเป็นเจ้าของ ทำไมต้องมีคนมาคอยตรวจสอบนู่นนี่ เพราะฉะนั้นหากคิดที่จะเอาบริษัทเข้าตลาดต้องทำใจว่า วัตถุประสงค์ของตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. คือต้องการให้มีการคุ้มครองผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพราะว่าพวกเขาไม่ได้มาบริหารด้วย เขาเอาเงินมาลงทุนกับเรา ถ้าไม่มีการปกป้องเขา ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็สามารถเอาเงินของเขาไปถลุงได้ ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบและติดตามเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
 

นรากร: กระบวนการเตรียมตัวมีหลายแง่มุม อย่างแรกเลยคือต้องคิดว่า เมื่อเข้าไปแล้วเราจะเติบโตยังไงต่อไป ต้องคิดว่าทิศทางการเติบโตจะเป็นยังไง ต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะโตเท่าไรและจะโตด้วยวิธีไหน รวมไปถึงมีการเตรียมพร้อมรับมือกับการ Check and Balance ซึ่งบริษัท SME ส่วนใหญ่จะไม่คุ้นชินที่ต้องมีคนมาคอยตรวจสอบหรือคานอำนาจ อีกทั้งยังต้องมีเจ้าหน้าที่ทางด้านบัญชีซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ มีการปรับปรุงการทำงานให้สามารถตรวจสอบได้และมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมด้วยการเรียนรู้กฎ กติกา มารยาทต่างๆ และเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง
 




ความท้าทายของการนำบริษัทเข้าตลาด
 

สุนทร: สิ่งที่ยากคือ การทำตัวเองให้พร้อม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการทำบัญชีให้ถูก แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เราต้องเตรียมตัว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ หลังจากเข้าไปแล้วเราจะทำยังไงต่อ เพราะการเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เป็นมหาชน มันไม่ใช่แค่เรื่องมีกำไร แต่เป็นเรื่องที่บริษัทต้องมีกำไรแล้วต้องเติบโต และต้องทำให้ผู้ถือหุ้นเชื่อว่าเราจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ที่ผู้บริหารต้องตีให้แตกอย่าง กลยุทธ์การทำงานคืออะไรหลังจากที่มีเงินมากขึ้น มีแผนธุรกิจหรือ Business Model ยังไง รวมถึงเรื่องของการมองโครงสร้างองค์กร มองคนที่มีอยู่ว่าเหมาะสมกับการเติบโตหรือยัง ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะองค์กรส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากคนเก่าไม่พร้อมกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้จะทำยังไง จะเลี้ยงไว้ไหม เป็นเรื่องของผู้บริหารที่จะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องคิดให้ขาดว่า คนของเราใช่หรือยัง เพราะทรัพยากรบุคคล ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นทรัพย์สิน บางคนเป็น Liability หรือภาระของบริษัทด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องคิดให้ขาดว่า ถ้าเราอยากจะไปให้ถึงจุดนั้น เราต้องการคนแบบไหน แล้วจะทำยังไงเพื่อที่จะดึงคนแบบนั้นเข้ามา หรือจะสร้างคนเก่ายังไงให้ขึ้นไปถึงจุดนั้นได้
 

นรากร: การเข้าตลาดก็เหมือนกับการขึ้นหลังเสือ เพราะต้องบอกทุกปีว่าปีนี้จะโตเท่าไร ปีนี้จะโตด้วยอะไร เพราะฉะนั้นถ้าคิดน้อยมันจะทำให้เราไปไม่ถูก แต่จะคิดยาวก็ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นั่นหมายความว่า เราต้องคิดบางส่วนแล้วก็เตรียมการไว้ รวมไปถึงควรมีแผนรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย  
 


 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากเข้าตลาด
 

สุนทร: จากเดิมที่เป็นธุรกิจซึ่งคนไม่ค่อยรู้ว่าเราทำอะไรด้วยซ้ำ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วยให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งการเข้าตลาดจริงๆ แล้วอยู่ที่ Mission ของเจ้าของที่ก่อตั้งด้วยว่า ต้องการเห็นอะไร ซึ่งไม่ใช่ Mission ที่เป็นตัวหนังสือแสดงให้สาธารณชนรับรู้ แต่เป็นพันธกิจที่อยู่ลึกๆ ว่า จริงๆ แล้วเราตั้งบริษัทหรือกิจการนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร เช่น ทำขึ้นมาเพื่อเป็นกิจการครอบครัวที่จะส่งต่อไปให้คนรุ่นหลัง หรือต้องการที่จะให้เป็นธุรกิจที่เติบโตเสมือนว่าเป็นนิติบุคคลหรือเป็นตัวตนคนจริงๆ และอยากฝากให้คิดว่าการเข้าตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การออกจากตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะการขยับตัวของเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่แต่ละทีแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นข่าวได้ ที่สำคัญถ้าจะทำการขายหุ้นก็ต้องทำอย่างเปิดเผย จะทำแบบแอบๆ หรือลับๆ ไม่ได้
 

นรากร: นอกจากจะทำให้บริษัทมีชื่อเสียงมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสามารถรับสมัครหรือ Recruit พนักงานเก่งๆ ได้ จากเดิมที่เป็น SME แม้จะได้รับรางวัลมากมาย ทำยังไงก็ไม่ได้คนเก่งมาร่วมงาน แต่พอได้เข้าตลาดแล้วโอกาสที่จะได้คนที่มีศักยภาพสูงมาร่วมงานนั้นมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ระบบการทำงานและโครงสร้างองค์กรมีความเป็นสากลและมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตอนเป็น SME แต่ข้อดีคือทำให้บริษัทมีความชัดเจน โปร่งใสและเทียบเท่ามาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องพึงระวังคือ เรื่องของการใช้เงินที่ต้องมีความรอบคอบ อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้ว ความกดดันจะอยู่ที่การที่ต้องทำให้บริษัทมีการเติบโตไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผน ต้องดิ้นรน จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต่างจากตอนที่เป็น SME ที่สามารถบริหารจัดการการทำงานได้ตามใจตัวเองมากกว่า
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ