จับกระแส Aging Society ทำ “อาหารผู้สูงวัย” ให้ว้าว!

Text : Mata Ch.





Main Idea
 
  • ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นี่กลายเป็นตลาดและโอกาสของผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าและบริการต่างๆ ออกมาตอบสนองคนกลุ่มนี้
 
  • หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตาคือ อาหารผู้สูงวัย แต่จะทำอย่างไรให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ และคนทานอย่างผู้สูงวัยต้องกด Like ไปหาคำตอบกัน





     ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงวัยของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดกันว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่วัยเกิน 60 ปีขึ้นไป จะสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563  และในปี 2573 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 17.6 ล้านคน (26.3%) ก่อนที่ปี 2583 จะมีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน (32.1%)


     การเติบโตอย่างรวดเร็วของพลเมืองผู้สูงวัย ถูกมองเป็นทั้งตลาดและโอกาส โดยเฉพาะผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหาร ที่จะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาตอบสนองตลาดวัยเก๋า แต่จะทำอาหารแบบไหนให้ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ และคนทานอย่างผู้สูงวัยยังต้องร้องว้าว





     การได้พูดคุยกับ 2 นักวิจัย ดร.พัชรี กิตติสุบรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนา บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด  และ ดร.สำราญ ปราบภัย นักวิจัยอาวุโส บริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจในเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบอินไซด์ของผู้สูงวัยได้อย่างแท้จริง


     “สังคมปัจจุบันมีผู้สูงวัยมากขึ้น หลายคนจึงอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมาตอบสนองคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาหารของผู้สูงวัยจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะกับคนวัยนี้ เช่น ไขมันต่ำ คอเลสเตอรอลต่ำ โซเดียมต่ำ และรับประทานง่ายแม้ไม่มีฟันเคี้ยว นั่นทำให้พบว่าอาหารของผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะเป็นพวกข้าวต้มเหลวๆ ซึ่งบางทีรสสัมผัสมันไม่ได้ เพราะถึงแม้เป็นผู้สูงวัยแต่ก็ต้องยอมรับว่าเขายังมีความรู้สึกว่าการเคี้ยวเป็นหนึ่งในสุนทรียะในการรับประทานอาหารอยู่” หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนา ซีพี ฟู้ดแล็บ บอกถึงหนึ่งในปัญหาที่มองเห็น


     แต่จะทำอย่างไรถึงจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ การวิจัยและพัฒนาจึงเข้ามาช่วยปลดล็อก เขายกตัวอย่างข้าวต้มผู้สูงวัยที่ซีพี ฟู้ดแล็บพัฒนาขึ้นร่วมกับทีมอาจารย์จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย  ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม ผู้พัฒนาเจลลี่โภชนาในโครงการนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ที่เกิดจากพระราชดำริและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของในหลวง ร.9 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่กลืนอาหารไม่ได้ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวและการกลืน มาผนวกกับความเชี่ยวชาญของซีพี ฟู้ดแล็บ ในการพัฒนาอาหารพร้อมรับประทาน เลยกลายเป็น ข้าวต้มผู้สูงวัยแช่เยือกแข็ง (Frozen) ที่เป็นการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ อย่างพวกผักผลไม้มาขึ้นรูปใหม่ ให้เนื้อสัมผัสที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคี้ยวกลืนโดยเฉพาะ ที่สำคัญมีการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยการเติมสารอาหารที่จำเป็นเข้าไปด้วย เช่น วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อผู้สูงวัย ซึ่งร่างกายปกติจะดูดซึมยาก และอาหารที่ทำมาขายทั่วไปก็มีสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนวัยนี้





     ผลิตภัณฑ์ใหม่จึงต้องโจทย์ทั้งรสชาติที่ถูกลิ้น รสสัมผัสที่ถูกใจ และยังได้สารอาหารที่เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกายอีกด้วย


     เมื่อถามถึงข้อควรคำนึงในการพัฒนาอาหารสำหรับผู้สูงวัย นักวิจัยแห่งซีพี ฟู้ดแล็บ บอกเราว่า หลักๆ คือต้องพิจารณาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้สูงวัย โดยต้องเข้าใจก่อนว่าคนวัยนี้ต้องการสารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไร  และปัญหาของคนวัยนี้มีอะไรบ้าง เช่น เคี้ยวกลืนลำบาก ระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหารมีปัญหา ทำให้ท้องอืดและดูดซึมได้น้อยลง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ SME สามารถหาได้จาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแนะนำว่า ให้เลือกทำสินค้าที่กำลังอยู่ในกระแสและมีโอกาสในอนาคต โดยสามารถพัฒนาตามองค์กรใหญ่ๆ ที่ได้นำร่องไว้ให้แล้ว





     “อย่างตอนนี้ SME รู้ว่าเทรนด์ผู้สูงวัยกำลังมา ซึ่งเราได้พัฒนาล่วงหน้าไปตั้งแต่ 3 ปีก่อน  SME จึงสามารถทำตามเทรนด์นี้ได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิดลองถูก หรือเสี่ยงกับการวิจัยที่หนักมากในช่วงเริ่มต้น โดยจากนี้เขาอาจจะลงทุนกับงานวิจัยนิดหน่อยและสามารถสร้างรายได้ไปได้เลย เพราะเหมือนมีคนเปิดทางไว้ให้แล้ว”


     ส่วนในอนาคตพวกเขายังเตรียมพัฒนาอาหารผู้สูงวัยประเภทอื่นๆ เช่น เบเกอรี่ ที่ยังคุณค่าทางโภชนาการและรสสัมผัสที่เหมาะกับผู้สูงวัย ตลอดจนครอบคลุมปัญหาอื่นๆ เช่น กลุ่มอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อม เป็นต้น
SME รายไหนที่อยากทำอาหารผู้สูงวัยให้ว้าว ก็ไปเรียนรู้จากพวกเขาได้
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​