เปิดตำรับความสำเร็จ (ธุรกิจอาหาร) ฉบับชาตยา สุพรรณพงศ์ แม่ทัพฟู้ดแพชชั่น

Text : N.Su

Photo : Pae Yodsurang





Main Idea
 
  • แม้ธุรกิจเดิมจะสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจหรือแบรนด์ได้มากสูงสุด แต่อาจตอบโจทย์คนเพียงกลุ่มเดียว อนาคตอาจชนเพดานเข้าสักวันหนึ่ง
 
  • ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ชาตยา สุพรรณพงศ์’ ทายาทรุ่นที่สองแห่งอาณาจักรบาร์บิคิวพลาซ่า จึงได้แตกไลน์ธุรกิจสร้างสรรค์แบรนด์ธุรกิจใหม่ๆ ให้เข้ามาอยู่ในอาณาจักรธุรกิจอาหาร ที่มากกว่าแค่เรื่องปิ้งย่าง เพื่อตอบโจทย์สังคมวงกว้าง และสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนยิ่งขึ้นไป




     ย้อนไปเมื่อปี 2530 นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รู้จักกับแบรนด์ปิ้งย่างระดับขึ้นห้าง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครเพราะปิ้งอยู่บนกะทะทองเหลือง ผ่านไปยี่สิบกว่าปีให้หลังมีการรีแบรนด์ดิ้งอีกครั้งให้ดูสดใสมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนโฉมบาร์บีกอน มังกรเขียวที่ตั้งอยู่หน้าร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เปลี่ยนจากแมสคอตให้กลายเป็นไอคอนแบรนด์มีชีวิตสร้างความสนิทสนมใกล้ชิดลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ตอกย้ำสโลแกน ‘บาร์บิคิวพลาซ่า ตัวจริง อร่อยจริงเรื่องปิ้งย่าง’ ซึ่งเป็นช่วงที่ ชาตยา สุพรรณพงศ์ ทายาทรุ่นที่สองได้เริ่มเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวเมื่อหลายปีก่อน


     จากนั้นมาเราก็เห็นพัฒนาการของแบรนด์ปิ้งย่างมังกรเขียวแบรนด์นี้มาโดยตลอด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังก็เมื่อปี 2559 ที่ยอมเปลี่ยนกระทะใหม่จากทองเหลืองมาเป็นกระทะดำ เพื่อให้สุกเร็วขึ้น ขยายช่องน้ำซุปให้กว้างขึ้น ช้อนตักได้ง่ายขึ้น แต่จากกระแสบวกก็ต้องเปลี่ยนเป็นลบชั่วข้ามคืน เมื่อมีข่าวว่ากระทะใหม่เปลี่ยนน้ำซุปให้เป็นน้ำดำออกมา แต่ในที่สุดก็สามารถกู้วิกฤตให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว นับจากนั้นภาพของบาร์บิคิวพลาซ่าจึงไม่ใช่แค่แบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่างขึ้นห้างที่อร่อยเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นแบรนด์ที่มีวิสัยทัศน์ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ และการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
 




ฟู้ดแพชชั่น อาณาจักรแห่งความสุข ความอร่อย



     จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว บาร์บีคิวพลาซ่าได้สร้างความฮือฮาให้แวดวงธุรกิจอาหารอีกครั้ง ด้วยการประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ‘บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด’ มาเป็น ‘บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด’ พร้อมกับเข้ารับตำแหน่งซีอีโอเต็มตัวของ ชาตยา สุพรรณพงศ์ แม่ทัพของธุรกิจคนใหม่ โดยได้ชูวิสัยทัศน์สู่การเป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายมุ่งดูแลทุกคนให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ไปจนถึงสังคม บทบาท วิสัยทัศน์ แนวทางการทำธุรกิจของแบรนด์ปิ้งย่างชื่อดังจึงเปลี่ยนไป โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงแบรนด์หลักเพียงแบรนด์เดียวอีกต่อไป แต่หันมาขยายการเติบโตสู่ตลาดอาหารการกินที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่อาหารปิ้งย่าง แต่เป็นอาหารสุขภาพ อาหารเกาหลี และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย


     “ทุกอย่างมันเริ่มมาจากมุมมองความเชื่อของเป้เองและองค์กร จากวิสัยทัศน์ที่เราวางไว้ คือ การดูแลผู้คนให้มีความสุข โดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง พอตั้งไว้แบบนั้น การที่เรามีแค่แบรนด์หลัก คือ บาร์บีคิวพลาซ่า และแบรนด์รอง คือ จุ่มแซ่บฮัท คงไม่สามารถดูแลความสุขให้กับลูกค้าทุกคนได้ ถึงแม้เขาจะรักบาร์บีคิวพลาซ่ามาก แต่เขาไม่สามารถกินบาร์บีคิวพลาซ่าได้ 5 วันต่อสัปดาห์แน่ ต้องมีวันที่เขาอยากลองกินอาหารอย่างอื่นนอกจากปิ้งย่างบ้าง เราจึงมองไปถึงการเติมเต็มโอกาสในการกินที่หลากหลายให้กับลูกค้า เพื่อความสุขจะได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นี่คือ เชิงความสุข แต่ในเชิงธุรกิจเอง นี่คือ การแสวงหาโอกาสช่องทางใหม่ๆ ให้กับองค์ เพื่อขยาย Portfolio สร้างการเติบโตแก่ธุรกิจเช่นกัน


     ด้วยแนวคิดนี้ เราจึงไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องเป็นแบรนด์ที่สร้างเองเท่านั้น แบรนด์ใดในตลาดที่มองแล้วมีศักยภาพการเติบโตที่ดี มีคุณค่าและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ เราก็เจรจาติดต่อเพื่อเพิ่มเข้ามาอยู่ในพอร์ต ซึ่งทั้งสองแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน หากสร้างแบรนด์เอง เราได้ลงลึกในรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เกิดความมั่นใจในแบรนด์ แต่ข้อเสีย คือ ในช่วงแรกแบรนด์อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ต้องใช้เวลา จึงทำให้ขยายตัวได้ช้า แต่ถ้าเป็นแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว เราสามารถเริ่มได้เลย เพราะเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นทำขึ้นมา จากพอร์ตธุรกิจเดิมแบรนด์หลักจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 95 % แต่ด้วยกลยุทธ์ใหม่ที่วางไว้เราอาจหันมาขยับเพิ่มในส่วนของแบรนด์ใหม่ทั้งแบรนด์ของตัวเองและแบรนด์ที่เข้าซื้อกิจการ รวมถึงการขยายไปตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม”ชาตยากล่าว
 




4 กลยุทธ์เจาะตลาดโต


     โดยหากย้อนไปถึงกลยุทธ์ที่ฟู้ดแพชชั่นได้วางไว้มีอยู่ทั้งหมด 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ 1.ขยายธุรกิจด้วยแบรนด์เดิมอย่างต่อเนื่อง 2.การพัฒนาแบรนด์ขึ้นเอง 3.การเข้าซื้อกิจการหรือแบรนด์ร้านอาหารใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง 4.ขยายไปยังตลาดต่างประเทศด้วยแบรนด์ในเครือที่มี

     
     จากระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้ภาพกลยุทธ์ที่วางไว้ของฟู้ดแพชชั่นค่อยๆ ฉายแววชัดเจนมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารน้องใหม่ถึง 2 แบรนด์ในปีที่แล้ว ได้แก่ 1. Charna (ฌานา) ร้านอาหารสุขภาพในคอนเซปต์ Full Flavour Healthy Meal โดยวัตถุดิบทั้งหมดมาจากเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบคุณภาพในพื้นที่ต่างๆ 2. SPACE Q ร้านปิ้งย่างชาบูภายใต้คอนเซปต์ Social Grill ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ตั้งอยู่ใจกลางทองหล่อ และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมากับการปิดดีลใหญ่เข้าเทกโอเวอร์ ‘Red Sun’ ร้านอาหารเกาหลีขึ้นชื่อในไทย ซึ่งเปิดตัวมาได้ 4 ปี ปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 12 แห่ง เมื่อรวมกับแบรนด์ดั่งเดิม คือ บาร์บิคิวพลาซ่าและจุ่มแซ่บฮัท จึงทำให้ปัจจุบันฟู้ดแพชชั่นมีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ในมือถึง 5 แบรนด์ด้วยกัน
 

ทำธุรกิจต้องมีทั้งลึก และกว้าง


     นอกจากการกลยุทธ์ในแนวกว้าง เพื่อสร้างแบรนด์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้มากขึ้นแล้ว ชาตยายังมีแนวคิดว่าการทำธุรกิจต้องมีกลยุทธ์ในเชิงลึกด้วย
               

     “เราเชื่อว่าการทำธุรกิจหนึ่งมีได้หลายวงจร นอกจากการสร้างแบรนด์ให้กระจายออกไปในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว ฟู้ดแพชชั่นเองเรายังมองถึงแผนในเชิงลึกเพื่อสร้างช่องทางใหม่ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่การนั่งกินอยู่ที่หน้าร้าน อาทิ เดลิเวอรี่, take home, จัดเลี้ยงนอกสถานที่ เพื่อไปเติมเต็มกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาสิ่งเดิมที่มีอยู่และใส่ไปในช่องทางต่างๆ แต่ต้องคิดขึ้นมาใหม่ เพื่อช่องทางนั้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้คุณภาพ เราเชื่อว่าต่อไปนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญ คือ เราจะต้องโตให้ทันผู้บริโภค การที่เราจะก้าวนำแบรนด์อื่นๆ ได้ เราต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างดี อาจมีบ้างบางอย่างที่ทดลองทำ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่ใช่ เราต้องปรับตัว และหันมาจับตัวที่เราคิดว่ามีประสิทธิภาพให้เร็วที่สุด”
 




ต้องเป็นตัวจริง


     สิ่งสำคัญอีกข้อที่ชาตยาได้ทิ้งท้ายไว้เป็นหลักความเชื่อที่เธอยึดถือมาตลอดในการทำงาน คือ การเป็นตัวจริงในธุรกิจเช่นเดียวกับสโลแกนของแบรนด์แม่


     “ฟู้ดแพชชั่นเองเรามีความเชื่อว่าองค์ประกอบการทำธุรกิจข้างนอกจะเป็นยังไงก็ตาม ซึ่งทุกคนอาจสามารถทำได้ดีในอัตราเร่งที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมั่นมากๆ คือ เราขายอาหาร เราขายบริการที่ดี ขายความเชื่อมั่น ดังนั้นทุกอย่างทุกเรื่องราวที่เราพยายามส่งไปให้ถึงผู้บริโภคเป็นเรื่องจริง เราลงลึกในรายละเอียดจริง ทำงานหนักจริง เพื่อให้ได้มาซึ่งการดูแลผู้บริโภคให้มีความสุขที่แท้จริง ทุกแบรนด์ทุกธุรกิจที่เราทำ เราทำออกมาจาก passion ของเราจริงๆ ซึ่งเป้เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดตลอดไป ความอร่อย สะอาด ปลอดภัย เป็นพื้นฐานของอาหารธุรกิจอาหาร แต่ลูกค้ายุคใหม่เขาไม่ได้ต้องการแค่นั้น เขาเป็นนักเสพข้อมูล มีความเก่งและฉลาดอยู่ในตัว ฉะนั้นการทำให้เขาเกิดความเชื่อ ความรักและศรัทธาในแบรนด์ได้ คือ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยความสุขในความหมายการทำธุรกิจของฟู้ดแพชชั่นนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ตั้งแต่พนักงาน ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงสังคมด้วย”


     นี่เป็นเพียงบทเริ่มต้นจากแผนกลยุทธ์ที่ชาตยาวางไว้สำหรับฟู้ดแพชชั่นเท่านั้น ลองนึกภาพหากในอนาคตทุกอย่างสามารถดำเนินไปได้จริงตามแนวทางที่วางไว้ องค์กรธุรกิจอาหารแห่งนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากขนาดไหน…
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​