ฟัง Qualy เล่าวิธีผลิตสินค้า ‘รักษ์โลก’ ยังไง ให้ลูกค้า ‘รัก’

Text: Neung CCh.




Main Idea
 
  • แม้สังคมกำลังตระหนึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีผู้บริโภคน้อยรายนักที่ตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยเหตุผลแรกคือสินค้านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
  • ความท้าทายของบริษัทที่ผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมจึงมีมากมาย ทั้งต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้ถูก แถมข้อจำกัดในการผลิตก็มีไม่น้อย แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่แบรนด์ Qualy ของไทยสามารถทำให้สินค้ากว่า 300 ไอเท็ม เป็นที่ยอมรับจากลูกค้ากว่า 50 ประเทศทั่วมาได้ตลอด 15 ปี


     ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอช้าไม่ได้ แต่โอกาสในการทำธุรกิจก็เช่นกัน ผู้ที่มองเห็นโอกาสก่อนก็ย่อมได้เปรียบ ไม่ต่างจากแบรนด์ Qualy ที่มีสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นรองใคร การันตีด้วยรางวัลที่ได้รับจากงานประกวดหลายๆ เวที รวมทั้งรางวัลจากลูกค้าในหลายประเทศอีกด้วย

 



     “ถ้ามองไปไกลๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่เทรนด์แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน เพียงแต่บริษัทเรามองเห็นว่าจะต้องทำเรื่องนี้ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วและก็มุ่งเน้นทำเรื่องนี้มาตลอด” ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ Co-Founder บริษัท นิว อาไรวา จำกัด เจ้าของแบรนด์ Qualy ให้เหตุผลถึงจุดเริ่มต้นการสร้างแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสานฝันของคุณพ่อที่ทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกแต่ก็อยากมีแบรนด์สินค้าของตัวเองบ้าง  
 


     “ช่วงเริ่มต้นยอมรับว่าการผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมยาก แต่มันก็ดีกว่าการเป็นผู้รับจ้างผลิต ซึ่งมาร์จิ้นน้อยมาก ต้องผลิตสินค้าเป็นหมื่นเป็นแสนชิ้นถึงจะได้เห็นกำไรเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่เราทำแบรนด์ขึ้นมาสักชิ้นราคามันต่างกันลิบลับ พอเราเน้นงานออกแบบมากขึ้นทำให้เห็นว่าในต่างประเทศเขาเริ่มสนใจงานสิ่งแวดล้อมก็เริ่มจุดประเด็นตั้งแต่นั้นมา”


     แม้บริษัทจะเน้นเรื่องสิ่งแวล้อมแต่เหมือนตกเป็นผู้ต้องหาหรือตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย เพียงเพราะสินค้าที่บริษัทนั้นส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก


     "พลาสติกมีหลายประเภท มีแบบที่ทำลายโลก กับไม่ทำลายโลก เช่น พลาสติกที่นำมาผลิต Qualy เป็นสินค้าเกรดเอ สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ จึงแตกต่างกับพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง อย่างนั้นถือเป็นพลาสติกที่ทำลายโลก แม้กระทั่งถุงพลาสติกที่เราใช้ในร้านเราใช้ไบโอพลาสติก คือเมื่อเลิกใช้สามารถกำจัดได้ด้วยการนำไปฝังดินให้ย่อยสลายได้ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าถุงพลาสติกทั่วไปแต่เราก็ยินดีที่จะใช้
 
  

ดีไซน์ต้องเด่น ใช้งานได้จริง


     ต่อให้ไม่ใช้พลาสติกหรือใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็ใช่ว่าจะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคได้ง่ายๆ เพราะจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ธีรชัย พบว่าโดยทั่วไปการที่จะทำให้สินค้าขายได้อย่างแรกรูปแบบดีไซน์สินค้าต้องโดนใจก่อน อันดับสองคือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีฟังก์ชันที่ใช้งานได้จริงด้วย สินค้าทุกชิ้นของบริษัทจึงผ่านกระบวนการคิดเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างเช่น


     Block Bin ออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถแยกขยะได้โดยง่าย สามารถวางซ้อนกันในแนวสูงเพื่อใช้พื้นที่เท่ากับถังขยะเพียงใบเดียว ช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน


     Log n Roll ที่ใส่กระดาษทิชชู่ ที่มีแนวคิดอยากให้ผู้ใช้คิดก่อนใช้กระดาษทุกครั้ง โดยออกแบบมาเป็นที่ใส่กระดาษทิชชู่ที่มีกระรอกและต้นไม้เล็กๆ และทุกครั้งที่ดึงกระดาษไปใช้ กระรอกและต้นไม้จะสั่นสะเทือนเหมือนได้รับผลกระทบ เมื่อดึงทิชชู่ไปใช้จนหมด กระรอกและต้นไม้จะหายไป


     Hill Pot เป็นกระถางต้นไม้ระบบ Self-Watering ที่ช่วยดูแลให้ต้นไม้สามารถดูดน้ำไปใช้เองได้ตามปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน เพียงเทน้ำที่ฐานด้านล่าง เชือกที่ซ่อนอยู่ภายในจะทำหน้าที่เป็นเหมือนรากเทียมคอยซึมซับน้ำขึ้นมาสู่ดินและราก ฐานปิดสนิทช่วยป้องกันยุงวางไข่ได้


     “บางครั้งผู้บริโภคยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสินค้าเราคืออะไร แต่เขาชอบเพราะว่าสวย ฉะนั้นงานออกแบบต้องสวยสะดุดสะกดสายตาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามา แต่แค่สวยไม่พอต้องสามารถใช้งานได้จริงด้วย จากนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไป ทำให้คนสนใจสินค้าและดูมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น”
 



ต่อไปสินค้าสีเขียวอาจไม่ใช่จุดขาย กลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องมี


     ถึงแม้ดีไซน์จะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า ทว่าในอนาคตเทรนด์อาจเปลี่ยนไป เพราะขณะนี้บายเออร์จากต่างประเทศมักมองหาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยภาวะสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ เกิดกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้แต่การผลิตสินค้าก็มีแนวโน้มในการนำเอาสิ่งที่ใช้ได้มาผลิตใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการกำจัดขยะ เพราะหลายประเทศค่ากำจัดขยะแพงมาก ในขณะที่วัสดุธรรมชาติเองมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
 


     “ล่าสุดที่บริษัทเราไปออกงานแฟร์ที่ประเทศฝรั่งเศส กับเยอรมัน นำผลงานล่าสุดคือ ถาดรองแก้วที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล (PET) ได้รับความสนใจมาก อยากจะฝากถึงผู้ประกอบการไทยว่าต่อไปเรื่องของสิ่งแวดล้อมอาจจะไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ อยากให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ก่อนจะถูกกฎหมายบังคับให้ทำ ถึงเวลานั้นมันอาจจะช้า และคุณจะอาจเหนื่อยในการปรับตัว”

  

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี       
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ