สวยด้วย ‘แกลบ’ กลยุทธ์สร้าง DNA เจาะตลาดโลกของ Husk object

Text: Neung Cch

Photo : Husk object 





Main Idea
 
  • ‘ข้าว’ ผลผลิตทางการเกษตรขึ้นชื่อที่ทำให้หลายๆ ชาตินึกถึงประเทศไทย
 
  • แม้แต่คนไทยเองที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มี DNA แบบไทยๆ ไม่ต้องไปหาวัสดุให้ยุ่งยาก เพราะด้วยจำนวนเศษเปลือกข้าวที่เหลือจำนวนมากมาย บวกกับไอเดียและนวัตกรรม สามารถเนรมิตเป็น ถาด จานรองแก้ว ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านที่สร้างความจดจำในตลาดโลกได้ไม่ยาก


     ประเทศไทยนอกจากบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักแล้ว เรายังเป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีการปลูกข้าวกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือของเหลือทิ้งอย่าง แกลบ” ที่ได้จากกระบวนการสีข้าว ซึ่งในปีหนึ่งๆ เรามีปริมาณแกลบสูงถึงประมาณ 8 พันตัน ปลายทางของพวกมันส่วนใหญ่มักถูกส่งต่อไปเป็นอาหารสัตว์หรือเชื้อเพลิง แต่ด้วยปริมาณที่มีมากและน่าจะสร้างมูลค่าได้มากกว่านั้น ทำให้บริษัท โซไนต์ อินโนเวทีฟ เซอร์เฟสเซส จำกัด เจ้าของแบรนด์ Husk object (ฮักส์ อ๊อบเจ็ค)ที่ต้องการใช้วัสดุซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาแตกไลน์สินค้าของตกแต่งจากเดิมที่บริษัทผลิตโมเสก โดยมีจุดยืนคือ วัสดุนั้นต้องมีความแปลกและต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม





     นิติพันธุ์ ดารกานนท์
ประธานบริษัท โซไนต์ อินโนเวทีฟ เซอร์เฟสเซส จำกัด เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้น บริษัทได้มีโอกาสร่วมงานกับนักออกแบบสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต และร้านสตาร์บัคส์ในประเทศไทย เพื่อนำกากกาแฟมาทำเป็นโต๊ะ จานรองแก้วให้กับร้านสตาร์บัคส์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง อีกทั้งยังเป็นการนำของเหลือทิ้งมาสร้างให้เกิดมูลค่าอีกด้วย จึงอยากเกิดแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่สามารถทำตลาดได้กว้างขึ้นอีกทั้งยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกทางด้วย






     “ตอนนั้นพอหลายคนทราบก็นำเอาเศษชา เศษต่างๆ มาเสนอให้บริษัทไปผลิต แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในการผลิตมี 3 อย่าง นั่นคือ 1.วัตถุดิบนั้นมีปริมาณเยอะไหม เพราะเราไม่อยากทำแค่ให้เป็นกระแสแต่ต้องการทำอย่างจริงจัง 2.ของสิ่งนั้นต้องมีอย่างต่อเนื่อง และ 3.ต้องเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกับคนไทย เราก็เลยเลือกเปลือกข้าวซึ่งเป็นวัสดุที่มีเยอะมาก สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความทนทานนำมาใช้สอย หรือใช้เป็นของตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงามได้”
               




     ด้วยคอนเซปต์ที่ชัดเจนส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัล Design Excellence Award (DEmark) และรางวัล Thailand Green Design Awards 2019 ประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) รวมถึงการตอบรับอย่างดียิ่งจากลูกค้า





     “การเลือกทำเลวางจำหน่ายสินค้าก็มีส่วนสำคัญ อย่างที่ร้าน Open House เซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีดีไซเนอร์และนักธุรกิจมาเดินชมสินค้าเยอะมาก เพียงอาทิตย์แรกก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ไม่ใช่ในแง่การขายปลีกเท่านั้น แต่ประเด็นคือได้รับการติดต่อจากโรงแรมให้ทำเป็นของตกแต่งให้กับโรงแรมด้วย”


     นอกจากนี้ในด้านการผลิต บริษัทเน้นสร้างทีมงานวิจัย หรือแม้แต่การคิดค้นเครื่องจักรใช้เอง เพราะเคยมีประสบการณ์จากการซื้อเครื่องจักรมาผลิตโมเสกแล้วสินค้าโดนลอกเลียนแบบได้ง่าย ฉะนั้นการสร้างเครื่องจักรเองนอกจากป้องกันการถูกก๊อบปี้ ระยะยาว โนว์ฮาวอยู่กับองค์กร




     “ถึงแม้ตอนนี้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของเราถ้าเทียบกับมาตรฐานของฝรั่งเศสในเรื่องการปล่อยสารพิษออกมา เราได้ A+ คือไม่มีสารพิษออกมา แล้วเราไม่ได้มองแค่เรื่องออกแบบให้สวยงามอย่างเดียวแต่เราคำนึงความปลอดภัยคงทน อยากให้สินค้าของเราเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ อาทิ จะต้องไม่แตกง่าย ปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งการทดสอบมาตรฐานหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องการลามไฟ ต้องส่งสินค้าไปทดสอบที่เมืองนอก และการทดสอบมาตรฐานพวกนี้ต้องใช้เงินหลายล้าน บริษัทจึงได้ขอทุนที่กรมการข้าว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานต่างๆ สำหรับการทำตลาดในต่างประเทศ”
                 

     นอกจากข้าวไทยจะเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ต่อไปแกลบไทย หรือแบรนด์ Husk object ผลงานที่เกิดจากความตั้งใจและความพยายามแบบไทยๆ ก็อาจจะทำให้ชาวต่างชาติรู้จักข้าวไทยมากยิ่งขึ้นนับจากนี้
 
               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​