จับเทรนด์ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง เติบโตรุ่งยุคดิจิทัลด้วย ‘นวัตกรรม’




Main Idea

 
 
  • ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง กำลังเผชิญกับความท้าทายของโลกยุคใหม่โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล กับโจทย์ใหญ่ว่าอยู่อย่างไรท่ามกลางคู่แข่งมากมาย
 
  • เทรนด์ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ในปี 2562 มีอยู่ 3 เรื่องคือ รักษ์โลก ผลิตอาหารที่เหมาะกับวัย และเพิ่มความสะดวกให้ทั้งลูกค้าและซัพพลายเชน
 
  • หากผู้ผลิตที่สร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ได้มากกว่าก็ย่อมเติบโตได้ดีกว่า ซึ่งยุทธวิธีหนึ่งก็คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และพลิกธุรกิจในมือให้กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่ง




     ผู้ประกอบการทุกคนย่อมฝันถึงความสำเร็จ แต่ทุกวันนี้ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายของโลกยุคใหม่ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ยากขึ้นในยุคนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และนับเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างชัดเจน
               




     วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวในงานสัมมนา K SME Good to Great ปี 2  ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด เพื่อผลักดันผู้ประกอบการให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมว่า “ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ต่างมีโจทย์สำคัญที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าเลือก ทำอย่างไรที่เขาเลือกซื้อครั้งหนึ่งแล้วจะเลือกซ้ำ และในอุตสาหกรรมที่มีคนอยากเข้ามาทำธุรกิจมากมาย ธุรกิจของเรายืนอยู่ตรงจุดไหน จะเป็นเหมือนพลุที่จุดแล้วสว่างอย่างรวดเร็วแล้วก็ดับเร็ว หรือจะเข้ามาในตลาดอย่างช้าๆ แต่อยู่ได้นาน”


     สะท้อนถึงความสำคัญของการที่ผู้ประกอบการต้องสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
 




เจาะลึกทิศทางธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอางปี 2562


     แม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตอาหารกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนั้นอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกันนัก แต่ รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญแผนธุรกิจนวัตกรรม ชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovation House สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลับมองว่าทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามก็ต้องเริ่มต้นจากจุดที่ว่าทำไปเพื่ออะไร หรือขายให้กับใคร มีแนวทางในการมองทิศทางตลาดรูปแบบเดียวกัน


     ซึ่งหากมองทิศทางตลาดหรือเทรนด์ผู้บริโภคในปีนี้ จากงานวิจัยของมินเทล บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลกจากประเทศสิงคโปร์ แบ่งผู้บริโภคเป็น 6 ประเภทด้วยกัน นั่นคือ


      1. สนใจทำเพื่อสุขภาพ ซึ่งรวมเรื่องอาหารการกินไปจนถึงการใช้ชีวิต อย่าง การเลือกวัตถุดิบมาทำอาหาร ดื่มเครื่องดื่มอะไร การออกกำลังกาย หรือมีเครื่องสำอางอะไรที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี


     2. ยอมรับความท้าทายไม่ยึดติดกับแบรนด์ เคยมีคำถามว่าอาหารมีจุดพิเศษตรงไหนในสายตาของผู้บริโภคที่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ คำตอบคืออาหารใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และความรู้สึกในการประเมินความชอบหรือไม่ชอบ ลูกค้าหรือผู้บริโภคในปัจจุบันจึงยินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์สินค้าทันทีหากแบรนด์นั้นใช่สำหรับเขามากกว่า นั่นจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กในการไปสู้กับแบรนด์ใหญ่ๆ
               

     3. มีแนวคิดใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องพลาสติก ซึ่งมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แต่สิ่งนี้เริ่มเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
               

     4. มีตัวตนบนจอ (On Display) ปัจจุบันคนมักมีสองตัวตน คือตัวตนที่อยู่บนหน้าจอกับตัวตนจริง คำว่า On Display ส่งผลกับธุรกิจอย่างมาก โดยจากสถิติพบว่าคนไทย 27 เปอร์เซ็นต์ มักถ่ายรูปว่ากินอะไรแล้วแชร์ลงในโซเชียลมีเดีย เพราะผู้บริโภคอยากรักษาตัวตนที่อยู่ในจอ ในแง่ของธุรกิจเครื่องสำอางก็ยิ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากเทรนด์นี้ เพราะเมื่อตัวตนในจอดูดีก็ส่งผลถึงตัวตนจริงที่จะใช้เครื่องสำอางมาทำให้ดูดีด้วยเช่นกัน
               

    5. โดดเดี่ยวจากสังคมมากขึ้น เพราะเราใช้ชีวิตอยู่บนหน้าจอ ซึ่งเมื่อไรที่อยู่คนเดียวมากๆ โรคจะถามหาทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ จึงมีผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มที่อยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน ผลิตขนมขบเคี้ยวหรือเครื่องดื่มที่บางครั้งไม่อร่อยแต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
               

    6. สร้างนิยามใหม่ของความเป็นผู้ใหญ่ คำว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป กลายเป็นเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันนี้ เพราะปัจจุบันเด็กบางคนมีความรู้มากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำจากการที่สามารถหาข้อมูลได้เอง จะกินหรือดื่มอะไรก็รู้เท่ากับผู้ใหญ่ รู้ว่าจะสามารถหาซื้อสินค้าได้จากที่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องคิดว่าจะทำอย่างไร รวมถึงกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง ที่ผู้บริโภคอายุน้อยเริ่มแต่งหน้ากันมากขึ้น


     รัชกฤช ชี้เป้าไปที่เทรนด์ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ว่าจะมีอยู่ 3 เรื่องคือ 1. รักษ์โลก 2. อาหารต้องเหมาะกับวัย และ 3. ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสะดวกขึ้น และให้ซัพพลายเชนขายสินค้าได้ง่ายขึ้น


     สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารต้องคิดตั้งแต่ต้นว่าผู้บริโภคจะเอาไปใช้ได้ง่ายไหม เปิดง่ายหรือเปล่า มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ขนส่งอย่างไร นำไปวางไว้บนชั้นพนักงานจะหยิบจับง่ายไหม ซึ่งที่สุดแล้วคือการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค


    ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ตลาดอาหาร รวมไปถึงตลาดเครื่องสำอางเกิดและเติบโตได้เร็วที่สุดนั้นคือการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในยุคนี้ ผู้ผลิตที่มีวิธีการวางแผนการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ไลน์แอด, อินสตาแกรม, ยูทูบ หรือกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้ลูกค้าหาข้อมูลได้ง่าย จะเติบโตได้ดีกว่าธุรกิจที่ผลิตอย่างเดียวแล้วรอให้ลูกค้ามาซื้อถึงหน้าร้าน
 




พลิกธุรกิจให้รุ่งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
               

     ปัจจุบันอาหารและเครื่องดื่มเป็นมากกว่าแค่การกินเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการตอบสนองความต้องการ ความอยาก เช่นเดียวกับเครื่องสำอาง ซึ่งหากผู้ผลิตที่สร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ได้มากกว่าก็ย่อมเติบโตได้ดีกว่า ซึ่งยุทธวิธีหนึ่งก็คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และพลิกธุรกิจในมือให้กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ดังที่ สุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลบอลพาร์ทเนอร์อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ได้พัฒนาธุรกิจส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สดไปขายในประเทศแถบเอเชียอย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดพรีเมี่ยมแบรนด์ TropicaKing (ทรอปิก้าคิง) ที่สามารถส่งไปขายได้ทั่วโลก





     เขาบอกว่า มะม่วงน้ำดอกไม้มีเสน่ห์ก็คือเนื้อนุ่มและมีกลิ่นหอม แต่ก็มีจุดอ่อนคือต้องส่งทางเครื่องบินเท่านั้น นั่นทำให้ต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูง ทำให้ส่งออกได้แค่ในแถบเอเชีย และไม่สามารถไปสู้กับคู่แข่งอย่างมะม่วงฟิลิปปินส์ที่ส่งไปตลาดอเมริกา หรือมะม่วงเม็กซิโกส่งไปตลาดยุโรปได้ จึงถึงเวลาที่ต้องตั้งโจทย์ใหม่ให้กับธุรกิจซึ่งโจทย์ 3 ข้อ นั่นคือ 1. ต้องแปรรูป 2. ต้องมีนวัตกรรม เป็นของใหม่ที่ตลาดต้องการ และ 3. สามารถส่งขายได้ทั่วโลก นั่นคือที่มาของผลิตภัณฑ์ TropicaKing ในวันนี้
               

     “การตั้งโจทย์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราบอกโจทย์ให้กับนักวิจัยชัดพร้อมกับบอกต้นทุนเป้าหมายในการพัฒนาชัดเจน ว่าเราจะเป็นผู้นำในเรื่องท็อปปิ้งโดยไม่หลุดไปทำอย่างอื่นที่แข่งกับเมืองนอก คือทำเฉพาะผลไม้เมืองร้อนของไทยที่ขึ้นชื่อตั้งแต่มะม่วงน้ำดอกไม้ ทุเรียนหมอนทอง มะพร้าวอ่อน บรรจุกระป๋องพร้อมใช้ โดยมีอายุการเก็บรักษาประมาณ 1 ปีที่อุณหภูมิห้อง ทำให้สามารถขนส่งเป็นอาหารแห้งได้ ซึ่งต้นทุนจะถูกลงและสามารถส่งออกได้ทั่วโลก พอโจทย์ชัดแบบนี้นักวิจัยก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะจากหลายๆ กรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้แจ้งนักวิจัยเรื่องของต้นทุน นักวิจัยก็จะใส่มาอย่างเต็มที่เลย สุดท้ายแล้วนำไปผลิตขายจริง​ไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่ได้ ดังนั้นการที่จะขายของอะไรต้องดูราคาตลาดด้วย”


     สุรวิชญ์ให้คำแนะนำว่าผู้ประกอบการควรทดสอบตลาดบ่อยๆ ดูว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไร ทั้ง รส กลิ่น สี รวมถึงราคาว่าเขายอมรับได้หรือไม่ เมื่อถึงตอนนั้นก็จะเริ่มเห็นภาพความต้องการและโอกาสในตลาดที่ชัดเจนขึ้น
 




     อีกหนึ่งผู้ประกอบการ คือ พันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็ค เทรด จำกัด ทายาทธุรกิจด้านการพิมพ์ในนามศูนย์บริการเติมหมึกอิงก์แมนที่ใช้นวัตกรรมพลิกจากธุรกิจไอทีเข้าสู่วงการอาหารด้วยการผลิตสีผสมอาหารสำหรับงานพิมพ์ ที่เห็นอยู่บนหน้าเค้ก ซาลาเปา เบเกอรี่ต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มอย่างกาแฟ และฟองนม


     พวกเขาจุดประกายไอเดียจากการที่มีลูกค้านำเครื่องพิมพ์มาซ่อมที่ร้านใช้เหล้าขาวกับสีผสมอาหารแทนหมึกพิมพ์ปกติ ทำให้ได้รู้ว่ามีตลาดเบเกอรี่ที่ใช้สีผสมอาหารพิมพ์ลงบนไอซิ่งชีทหรือแผ่นน้ำตาลเพื่อเอาไปตกแต่งหน้าเค้ก และมีช่องว่างในตลาดนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำวิจัยเรื่องสีผสมอาหารสำหรับเครื่องพิมพ์อาหารโดยเฉพาะ


     “จริงๆ แล้วแผ่นไอซิ่ง หรือแผ่นน้ำตาลพิมพ์เค้ก ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในอเมริกา อิสราเอล ยุโรป แต่เมืองไทยยังไม่มีใครทำเท่านั้นเอง เรามองเห็นโอกาสจากการเห็นต้นทุนที่ร้านเค้กนำเข้าแผ่นไอซิ่งมาแผ่นละประมาณ 150 บาท จึงตั้งโจทย์ว่าจะทำต้นทุนให้ได้แผ่นละ 40 บาท โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ สิ่งที่เราต้องทำคือปรับหลายฝ่ายทั้งในองค์กรรวมถึงนักวิจัยด้วย โดยผู้ประกอบการและคนในองค์กรจะต้องเปิดใจเรียนรู้และประเมินความเสี่ยงที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนธุรกิจของตัวเอง”
 




     ปิดท้ายด้วย นราพงศ์ ชมภูธัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาวิสพลัส จำกัด ผู้ผลิตที่นำนวัตกรรมมาผลิตอาหารและเครื่องสำอาง เช่น สบู่ทองคำถั่งเฉ้า สแน็คหรือขนมทานเล่นที่ทำมาจากเห็ดนางฟ้าแบรนด์โมกุ ทำให้เห็ดที่คนไทยมองไม่เห็นมูลค่าอย่างเห็ดนางฟ้าซึ่งขายกันกิโลกรัมละไม่ถึง 60-70 บาท แต่ต่างประเทศขายกันกิโลกรัมละ 600-700 บาท กลายเป็นของที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้


     “เมกะเทรนด์ตอนนี้คือสังคมผู้สูงวัย ซึ่งเขามีปัญหาเรื่องสุขภาพทั้ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ ถุงลมโป่งพอง และโรคยอดฮิตคือภูมิแพ้ ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวทั้งนั้น เรามองปัญหาเหล่านี้เป็นโอกาส โดยตั้งปัญหาแล้วเอาไปให้นักวิจัยทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Aging กับ Well Being เมื่อเราตั้งต้นจะทำสินค้าแต่ละครั้งจะถามความต้องการของลูกค้าก่อน ในมุมของ Aging อินไซต์ (Insight) ตัวใหญ่ๆ คือ ยอมตายไม่ยอมแก่ คือถ้าเขาจะมีชีวิตอยู่ต้องดูดีอยู่เสมอด้วย”


     นราพงศ์บอกอีกว่ากระบวนการที่สำคัญที่สุดคือต้องหาลูกค้าให้เจอ รู้พฤติกรรมของลูกค้าให้ได้  ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเขาเป็นอย่างไร ชอบกินหรือดื่มอะไร การกินเขากินแบบไหน หรือหากจะทำเครื่องสำอางสำหรับแก้ฝ้า-กระบนใบหน้า หากไปทำแบบสอบถามความต้องการในเอเชียอาจจะผิดกลุ่มเป้าหมาย ต้องไปถามคนยุโรปที่มีปัญหาเรื่องนี้ กล่าวคือต้องถามให้ถูกคน หาตลาดของตัวเองให้เจอ ก่อนจะได้คำตอบที่ใช่ เพื่อพัฒนาสินค้ามาตอบสนองได้
 

     นี่เป็นตัวอย่างกูรูในงานสัมมนาโครงการ K SME Good to Great ปีที่ 2 ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อผลักดันกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ผ่านคอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โต


     เพื่อให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในยุคดิจิทัล ด้วยอาวุธที่ชื่อ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี”
               

     ติดตามความรู้และกิจกรรมดีๆ จากธนาคารกสิกรไทยได้ที่เฟซบุ๊ก K SME


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​