เสิร์ฟ 5 เทรนด์ร้อนที่ธุรกิจอาหาร ‘ต้องรู้’




Main Idea

 
  • ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ใครหลายคนมองว่าหอมหวาน มีโอกาสสูง เริ่มต้นง่าย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะนี่คือธุรกิจปราบเซียนที่แท้จริง!
 
  • ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจึงต้องไหวตัวให้ทันอยู่เสมอ เทรนด์ไหนมาต้องรู้ ผู้บริโภคชอบอะไรต้องเห็น! และนี่คือ 5 เทรนด์ร้อนที่คนทำธุรกิจร้านอาหารต้องจับตามอง
 


 

     หากถามว่าธุรกิจที่ร้อนแรงที่สุดคืออะไร? ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ธุรกิจอาหาร’ เพราะอาหารการกินคือไลฟ์สไตล์ของทุกคน ไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย เย็น ชีวิตคนเราต้องผูกติดอยู่กับการกิน ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราถึงได้เห็นร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านกาแฟ ชานมไข่มุกเปิดใหม่กันเป็นว่าเล่น บางทีเดินไปยังไม่พ้นถนน คุณสามารถเจอร้านกาแฟใกล้กันได้ 3-4 ร้าน แม้ว่าธุรกิจอาหารจะเกิดขึ้นเพราะโอกาสแต่ก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรง ใครไม่เก๋าจริงก็อาจต้องแพ้พ่ายไปในสังเวียนปราบเซียนนี้


     ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจึงต้องไหวตัวให้ทันอยู่เสมอ เทรนด์ไหนมาต้องรู้ ผู้บริโภคชอบอะไรต้องเห็น! และนี่คือ 5 เทรนด์ร้อนที่คนทำธุรกิจร้านอาหารต้องจับตามอง จาก Trend Watch Expo 2019 โดยยูนิลีเวอร์ ฟู้ดโซลูชั่นส์
 


 
  • Food Bowl เมื่อชามกลายเป็นภาชนะหลัก
     เมื่อชามกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ที่เกิดจากกระแส #Bowl ในโซเชียลมีเดีย โดยมีนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ‘Charles Spence’ ได้อธิบายถึงการรับประทานอาหารในชามว่า “ความมหัศจรรย์ขณะที่ผู้คนโอบอุ้มภาชนะชามที่มีน้ำหนักในมือ สมองจะจินตนาการไปถึงความอร่อยล่วงหน้าแล้ว ประสาทสัมผัสจะทำงานเต็มที่ ประกอบกับกลิ่นหอมจากเครื่องปรุงที่ส่งกลิ่นเข้มข้น เสริมให้ต่อมรับรู้ทำงาน ทำให้เกิดเป็นความอร่อยล้ำกว่าเดิม”


     แต่ก่อนเรามักจะเห็นชามเป็นภาชนะใส่อาหารที่ส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ราเมน แต่ปัจจุบัน คุณอาจจะเห็นการรับประทานอาหารในชามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสลัด เมนูข้าว ร้านอาหารสามารถประยุกต์เมนูเด็ดของคุณ คลุกเคล้าใส่เครื่องปรุงแบบอร่อยพร้อมทานแล้วเสิร์ฟในชามมาเลย จะช่วยเสริมเรื่องรสชาติ อีกทั้งยังมอบความรู้สึกสบายๆ เป็นกันเองให้แก่ลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารในร้านด้วย
 



 
  • หยิบวัตถุดิบท้องถิ่นมาเสิร์ฟ

     อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงคือการสร้างสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น กลายเป็นเทรนด์อาหาร “Local Table” การนำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาชูเป็นจุดแข็งด้านอาหารสุขภาพ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน ข้อดีคือการที่คุณจะได้วัตถุดิบสดใหม่ ซึ่งคุณสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างจุดขายให้เมนูอาหารของคุณด้วยการเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของวัตดุดิบ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบในการนำไปใช้จริงได้ดังนี้

LOCALLY GROWN PRODUCED
เลือกใช้วัตถุดิบที่เลี้ยงปลูกหรือผลิตในท้องถิ่น อาจเลือกซื้อจากฟาร์มที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนทําให้ได้วัตถุดิบสดใหม่ และยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะช่วยให้ชุมชนยั่งยืนและกระจายรายได้สู่เกษตรกร

HYPER-LOCAL FOODS
“ผักสวนครัวรั้วกินได้” แนวคิดของร้านอาหารที่ออกแบบพื้นที่สำหรับผลิตวัตถุดิบเองในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น บนดาดฟ้าของตึก หรือสวนผักที่อยู่ข้างๆ ร้าน ร้านอาหารสามารถเพิ่มความน่าสนใจด้วยการตกแต่งร้านด้วยวัตถุดิบดังกล่าวที่พร้อมจะหยิบจับไปปรุงเป็นเมนูประจำร้าน 

ARTISAN FOODS
การปรุงอาหารด้วยสองมือ หรือ Hand-crafted food ซึ่งเน้นการผลิตในจํานวนจํากัด ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง หรือเลือกจากที่มีตามฤดูกาลโดยเฉพาะ เมนูยอดฮิตที่นิยมผลิตมักจะเป็นอาหารตะวันตก เช่น ไอศกรีม ชีส และเบคอน แต่สำหรับประเทศไทยสามารถทำเมนูขนมหวาน หรือใช้การถนอมอาหารมาช่วยได้

HOMEMADE DESSERT
สำหรับร้านอาหารที่มีเมนูเบเกอรี หรือขนมหวาน หากมีข้อจํากัดด้านวัตถุดิบ สามารถปรับลดต้นทุนในการผลิต ด้วยการเลือกซื้อขนมโฮมเมดจากผู้ผลิตภายในท้องถิ่นได้เช่นกัน
 


 
  • สร้างประสบการณ์ล้ำลึกให้ลูกค้า

     ไม่ใช่แค่ความอร่อยเท่านั้นที่จะมัดใจลูกค้าได้ในยุคนี้ แต่ต้องผสมผสมประสาทสัมผัสทั้ง 5 ลงไปในแต่ละมื้ออาหารเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากร้านของคุณ ตั้งแต่ ตั้งแต่รูป รส กลิ่น เสียง ไปจนถึงน้ำหนักของอุปกรณ์ที่อยู่บนโต๊ะอาหาร เพื่อลวงสมองให้คิดถึงรสชาติอร่อยล้ำ เทรนด์ Multisensory Experience ขึ้นอยู่กับการออกแบบการนำเสนออาหารที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดเรื่องราวในมื้ออาหาร และเปิดประสาทสัมผัสของลูกค้าให้ได้รับอย่างง่ายดาย


     สำหรับร้านอาหารที่ยังไม่มีต้นทุนมากนัก อาจเลือกนำเสนอ Sense พื้นฐานอย่าง รูป รส กลิ่น เสียง ให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม เช่น การใช้ภาชนะชามเสิร์ฟอาหารโดยออกแบบให้ลูกค้าต้องโอบอุ้มชามอาหารพร้อมเปิดเพลงคลอเบาเพราะน้ำหนักของชาม ความอุ่นในมือจากอาหารกลิ่นอโรม่าอบอวลกรุ่นในภาชนะและเพลงที่เปิดจะเร้าประสาทสัมผัสให้สมองจินตนาการว่าอาหารมีรสอร่อย หรือเพิ่มสัมผัสของรสชาติอาหารได้ง่ายๆ ด้วยการเติมส่วนประกอบที่พิเศษ เช่น การเติมผงไข่เค็มให้กับเมนูอาหารทอด ที่ทำให้ได้รับรสชาติความเค็มเฉพาะตัวของไข่เค็มและสัมผัสกรุบๆ ในปากไปพร้อมกัน
 


 
  • เนื้อสัตว์หลบไป! คนยุคใหม่รักอาหารจากพืช

     ในยุคนี้อาหารจากพืชได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาววีแกนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหันมาทานอาหารประเภท Plant-Based Food และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ร้านอาหารสามารถสร้างสรรค์เมนูได้มากมายจากวัตถุดิบดังกล่าว เพียงแค่เพิ่มตัวเลือกในเมนูที่มีอยู่ด้วยการปรับใช้โปรตีนจากพืช อาทิ ถั่วเปลือกนิ่ม ถั่วเปลือกแข็ง เห็ด ควินัว ข้าวกล้อง เพิ่มเติมจากการใช้ถั่วเหลืองที่หลายคนคุ้นชินมาประยุกต์เป็นเมนูอาหารหลัก นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เมนูแล้วยังจะได้ลูกค้ากลุ่มมังสวิรัติเพิ่มด้วย
 


 
  • เพิ่มมูลค่าให้ร้านอาหารด้วย ‘ชา’
     ชา กำลังกลายเป็นเครื่องดื่มกระแสหลัก จากเทรนด์ของการดื่มชาพบว่า การดื่มชาของผู้บริโภคนั้น มีวิถีที่ต่างกันไป เช่น บางคนชอบชาแบบเบลน เต็มไปด้วยสารอาหาร บางคนชอบชาสุขภาพ มีจุลินทรีย์อย่าง Kombucha บางคนชอบชาที่ดื่มแล้วผ่อนคลาย


     สำหรับร้านอาหารสามารถหยิบเอาเทรนด์ชามาบรรจุเป็นเครื่องดื่มประจำร้าน เพิ่มความน่าสนใจด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของชามายังร้าน หรือใส่เรื่องราวการคัดสรรใบชาจากแหล่งต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่น่าสนใจ หรือนำใบชามาสร้างสรรค์เป็นเมนูเบเกอรีได้ เช่น นำชาคาโมมายล์มาผสมในเค้ก เพิ่มกลิ่นและรสชาติของดอกคาโมมายล์ให้น่าลิ้มลองมากขึ้น สำหรับร้านอาหารขนาดใหญ่หรือโรงแรมเองก็สามารถจับเทรนด์ผสมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นเมนู Afternoon Tea โดยผสาน Crafted Tea กับความประณีตในการชง หรือชนิดของใบชามาเป็นจุดขาย หรือจัดโปรโมชั่นดื่มชาสุขภาพเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพด้วยก็ดีไม่น้อย
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​