ถ้าไม่ใช้ 'พลาสติก' จะใช้อะไร? ส่องไอเดียบรรจุภัณฑ์ยุคใหม่ใส่ใจต่อโลก




Main Idea
 
 
  • ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติกลง ในขณะที่ภาคเอกชนก็ตื่นตัวและหันมาใส่ใจเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเมื่อแบรนด์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคก็เป็นมิตรกับแบรนด์มากขึ้นด้วย
 
  • พลาสติกชีวภาพหรือ BioPlastic กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก มีไอเดียและนวัตกรรมพลาสติกทดแทนมากมายที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ซึ่งนอกจากจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้แล้ว บางครั้งยังช่วยลดต้นทุนไปพร้อมกันด้วย
 



     รู้หรือไม่ว่า จนถึงวันนี้ประชากรบนโลกสร้างขยะพลาสติกมากถึง 8,300,000,000 ตัน หากจะบอกว่าพลาสติกล้นโลก ก็คงจะไม่ใช้เรื่องเกินจริงเลย แต่โชคดีที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนต่างตระหนักในเรื่องนี้และร่วมกันมองหาทางแก้ปัญหา หรืออย่างน้อยก็สร้างทางเลือกที่จะช่วยลดการใช้พลาสติกลงได้
               

     ในปีนี้องค์กรและแบรนด์ต่างๆ ได้ประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกแล้วหันมาใช้วัสดุชนิดใหม่ทดแทน โดยต้องมีคุณสมบัติไม่ต่างจากเดิม ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเมื่อแบรนด์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคก็เป็นมิตรกับแบรนด์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
               

     มาดูกันว่าในวันที่ต้องลดการใช้พลาสติก แล้วเราจะใช้อะไร?
 




Ooho หยดน้ำดื่มได้


     ปกติแล้วในงานวิ่งมาราธอนจะมีการแจกน้ำดื่มให้กับผู้เข้าแข่งขันได้ดื่มแก้กระหายระหว่างทาง คิดดูว่าแต่ละปีงาน London Marathon มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคนต้องเตรียมน้ำดื่มเยอะแค่ไหน แต่การแข่งขันในปีนี้ผู้จัดงานคาดหวังจะลดขยะขวดพลาสติกจึงเปลี่ยนเป็นแจก ‘หยดน้ำดื่มได้’ แทน
               

     นวัตกรรมหยดน้ำกินได้นี้มีชื่อว่า Ooho เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกินได้ทั้งชิ้น ผลิตโดยบริษัท Skipping Rock โดยใช้หลักการเดียวกับไข่แดงที่มีเยื่อบางๆ ห่อหุ้มของเหลวเอาไว้ โดยเยื่อดังกล่าวทำขึ้นจากสาหร่ายและแคลเซียมคลอไรด์ เมื่อกัดลงไปก็จะแตกในปาก น้ำที่บรรจุอยู่ภายในก็จะสะอาด ปลอดภัย ที่สำคัญเจ้าหยดน้ำนี้มีราคาถูกกว่าขวดพลาสติกด้วย
 




‘I AM NOT PLASTIC’ ถุงมันสำปะหลังละลายในน้ำไม่ละลายในมือ



     นี่ไม่ใช่พลาสติกและไม่ใช่ M&M ด้วย แต่เป็นนวัตกรรมถุงกินได้จากบริษัท Avani Eco ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกสัญชาติอินเดีย โดยผลิตจากมันสำปะหลังที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รีไซเคิล และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือละลายได้ในน้ำ คุณสมบัติหลักที่ผู้ผลิตตั้งใจคิดค้นเลยทีเดียว เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการแก้ปัญหาขยะในลำคลองในอินโดนีเซียที่ท่วมล้นจนต้องระดมพลเข้าไปขุดลอกกันบ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันถุงของ Evani Eco ยังเป็นมิตรกับสัตว์อย่างนกและปลาที่มักกินพลาสติกเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร คราวนี้ก็กินได้จริง ไม่เป็นปัญหาต่อร่างกายสิ่งมีชีวิตอีกต่อไป




 
BioFase พลาสติกจากอะโวคาโดเหลือทิ้งในเม็กซิโก


     คนไทยคุ้นเคยกับการทำไบโอพลาสติกหรือพลาสติกย่อยสลายได้จากพืชรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด อ้อย ซึ่งทางฝั่งเม็กซิโกก็ไม่น้อยหน้า คว้าพืชใกล้ตัวอย่างอะโวคาโดมาผลิตพลาสติกซะเลย เพราะเป็นประเทศที่มีการปลูกและส่งออกอะโวคาโดมากที่สุดในโลก บอกได้ว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของอะโวคาโดที่เราบริโภคกันในตลาดโลกมาจากเม็กซิโกนี่เอง ซึ่งในแต่ละวันก็มีขยะเหลือทิ้งจากพืชชนิดนี้มากมายและจบลงด้วยการนำไปฝังกลบนอกเมือง


     หลังจากที่แบรนด์ BioFase พบว่าข้าวโพดสามารถนำไปผลิตพลาสติกได้เมล็ดอะโวคาโดก็น่าจะทำได้เหมือนกัน โดยเริ่มจากเครื่องใช้ง่ายๆ อย่าง ช้อน ส้อม มีด และหลอด กำจัดเมล็ดอะโวคาโดได้ถึงวันละ 15,000 ตัน นอกจากจะช่วยลดขยะในเม็กซิโกแต่ยังมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ อีกด้วย ซึ่งหากไม่ได้ใช้สามารถเก็บไว้ได้ 1 ปี หลังจากนั้นมันจะทำลายตัวเอง ย่อยสลายตามธรรมชาติได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้แล้วทิ้งลงดินจะย่อยสลายภายใน 8 เดือนเท่านั้น
 




พลาสติกจากเปลือกล็อบสเตอร์


     คงเคยเห็นและได้ยินข่าววาฬและสัตว์น้ำในท้องทะเลเสียชีวิตจากการกินพลาสติกเข้าไป เมื่อมันเป็นปัญหากับสัตว์ทะเลก็ใช้เพื่อนพ้องของมันแก้ปัญหาซะเลย บริษัท Shellworks ในอังกฤษจึงคิดใช้เปลือกของกุ้งล็อบสเตอร์มาทำเป็นพลาสติกชีวภาพ เพราะบนเปลือกนั้นมีไบโอพอลิเมอร์ที่เรียกว่า ‘ไคติน’ อยู่แล้ว โดยจะนำเอาเปลือกล็อบสเตอร์มาปั่นให้เป็นผงที่เรียกว่า ไคโตซาน แล้วนำมาผสมกับน้ำส้มสายชูกลายเป็นสารละลายพลาสติกชีวภาพ ซึ่งนำมาผลิตเป็นถุงพลาสติกได้ในที่สุดแถมด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถต้านทานเชื้อราและแบคทีเรียได้ จึงเป็นทางเลือกสุดเจ๋งสำหรับการนำไปบรรจุอาหารทีเดียว เมื่อใช้เสร็จแล้วก็โยนลงดินให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้เลย
 




แพ็กเกจจิ้งเครื่องสำอางจากแบคทีเรีย


     อีกหนึ่งวัสดุทดแทนพลาสติกสุดล้ำ ล่าสุดมีคนนำแบคทีเรียมาทำเป็นแพ็กเกจจิ้งกันแล้ว เธอผู้นั้นมีชื่อว่า Elena Amato ดีไซเนอร์ชาวกัวเตมาลาที่ได้ทดลองเอา SCOBY ซึ่งเป็นแบคทีเรียดีและยีสต์ที่หลงเหลือจากการทำ Kombucha มาใช้ในการทำแพ็กเกจจิ้ง กระบวนการทำก็คือนำน้ำ, SCOBY และใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สาหร่าย ผงถ่าน ผสมทุกอย่างเข้าด้วยกันจากนั้นเทใส่แม่พิมพ์จนได้ที่ ก็จะได้แผ่น SCOBY ที่มีลักษณะคล้ายกระดาษและพลาสติก สามารถนำไปใช้ในการห่อหุ้มโปรดักต์จำพวกเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่างๆ ที่สำคัญย่อยสลายง่าย ดีต่อโลกด้วย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​