เปิด 5 ยุทธวิธีพลิกชะตาสิ่งทอไทยให้กลับมาเป็นดาวรุ่ง

Text : Mata CK.
Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์




Main Idea
 
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจ Sunset เป็นอุตสาหกรรมดาวร่วงที่หมดความหอมหวานไปนานแล้ว แต่วันนี้กลับมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงอยู่รอดและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
 
  • ไทยยังเป็นประเทศที่ผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอป้อนตลาดโลก ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิตเส้นใย ถักทอผืนผ้า ไปจนถึงการออกแบบ ตัดเย็บ ตกแต่ง และวางตลาด คาดกันว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมนี้อาจเติบโตสูงถึง 2 แสนล้านบาท ในปี 2567
 
  • แต่ด้วยการแข่งขันที่เปลี่ยนไป การทำธุรกิจในยุคใหม่ยากลำบากขึ้น และมีปัจจัยท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรสิ่งทอไทยถึงจะกลับมาเป็นดาวรุ่งได้อีกครั้ง ติดตาม 5 ยุทธวิธีที่จะพลิกชะตาสิ่งทอไทยในวันนี้


     อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเคยถูกมองว่าเป็นธุรกิจ Sunset เป็นอุตสาหกรรมดาวร่วงที่หมดความหอมหวานไปนานแล้ว แต่วันนี้กลับมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง จนคาดการณ์กันว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมอาจเติบโตสูงถึง 2 แสนล้านบาท ในปี 2567


     อย่างไรก็ตามสนามธุรกิจนี้ยังส่งความท้าทายให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ และการทำธุรกิจในยุคนี้ก็แตกต่างจากยุคก่อน เรียกว่ายากลำบากมากขึ้น แล้วจะทำอย่างไรที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย จะกลับมาโดดเด่นเป็นดาวรุ่งได้อีกครั้ง





      “อิทธิชัย ยศศรี” รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างเปิดงาน GFT and GMS 2019 งานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอครบวงจร โดยบอกถึง 5 ยุทธวิธีที่จะสร้างความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เพื่อกลับมาเป็นดาวรุ่งได้อีกครั้ง
 


 
  1. มี Productivity เพิ่มผลิตภาพ
               

     แม้จะเป็นคำที่อาจได้ยินมาจนเบื่อ แต่อิทธิชัยย้ำว่า Productivity จะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และผลิตในต้นทุนที่ต่ำที่สุด  
 
 

     2.คุณภาพต้องมาก่อน


     นอกจากมีผลิตภาพ ยังต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่การผลิตสินค้าราคาถูกอีกต่อไป โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจสามารถผลิตสินค้าราคาถูกหรือไม่สนใจคุณภาพมากมายได้ แต่สำหรับประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง





     3.มีความสามารถทางการตลาด และรู้รสนิยม หรือความต้องการของผู้บริโภค


     เขาบอกว่าสินค้าหลายตัวบนโลกเป็นสินค้าที่ดีแต่ไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะปัญหาเรื่องการทำตลาด การตลาดจึงมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดและรุ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอนับจากนี้ รวมถึงผู้ประกอบการยังต้องรู้รสนิยม และรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคด้วย


     “ต่อให้จะผลิตสินค้าที่ดีเลิศอย่างไร แต่ถ้าตลาดไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งแต่ละตลาดมีความต้องการสินค้าไม่เหมือนกัน เซ็กเมนต์(Segment) ของตลาดไม่เหมือนกัน ประเทศที่พัฒนามากๆ อย่าง อิสราเอล เขาจะแบ่งกลุ่มตลาดก่อนว่าจะเจาะที่ตลาดไหน อยู่ในอุตสาหกรรมไหน แล้วค่อยไปผลิต ไม่ใช่ผลิตเสร็จแล้วค่อยไปหาตลาด” เขาย้ำ





     4.มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม



     การทำอุตสาหกรรมยุคนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะเข้ามาช่วยเรื่อง Productivity ในเครื่องจักรใหม่ ใช้คนน้อยลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก อุตสาหกรรมยุคนี้ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ทั้งในเครื่องจักร กระบวนการผลิต และตัวผลิตภัณฑ์


     “นวัตกรรมคือการนำเทคโนโลยีมาคิดสิ่งใหม่ เช่น มีเทคโนโลยีนาโน ก็นำมาใช้ในการทำเสื้อนาโนที่ใส่แล้วกันยุง กันแบคทีเรียได้ นี่คือนวัตกรรม เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นเรื่องที่ประเทศเรายังอ่อนอยู่พอสมควร”
 

     5.มีมาตรฐาน


     มาตรฐานที่พูดถึงไม่เพียงการรับประกันคุณภาพหรือมาตรฐานของตัวสินค้าเท่านั้น แต่เป็นการรับประกันความพึงพอใจของผู้บริโภคด้วย


     “นี่เป็นความใส่ใจของผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แค่เรื่องของมาตรฐานทางกายภาพเท่านั้น แต่เป็นความพึงพอใจในเรื่องของการดีไซน์ การใส่ทุกอย่างเข้าไปในตัวโปรดักต์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถที่จะมั่นใจได้ว่าซื้อสินค้านี้ได้ไม่ผิดหวัง เหล่านี้มองว่าเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจำเป็นต้องมี เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไปสู่อุตสหากรรมที่ยกระดับขึ้นในอนาคต และเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีวันตัน” อิทธิชัย สรุปในตอนท้าย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​