VR Toys โรงงานของเล่นร้อยล้านที่เริ่มต้นจากรอยยิ้มของพนักงาน

Text / Photo : Yuwadi.s & จุดตัดเก้าช่อง





Main idea
 
  • เมื่อของเล่นเป็นสิ่งที่คลุกคลีกับเด็กๆ ทุกคน การผลิตของเล่นจึงต้องเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มและความสดใสของพนักงาน
 
  • V.R. Toys แบรนด์ของเล่นไทยที่ใช้แนวคิดการบริหารด้วยใจ ทำให้พนักงานมีความสุขและสามารถส่งต่อความสุขผ่านของเล่นสู่เด็กๆ ทั่วประเทศ
 
  • จากจุดเริ่มต้นส่งขายร้านเซเว่น 600 สาขา วันนี้ธุรกิจ V.R. Toys  กระจายความสุขไปสู่ 11,000 สาขา และสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้อย่างงดงาม  ขยับสู่ยอดขายร้อยล้านไปพร้อมรอยยิ้มของพนักงานทุกคน




      ‘ของเล่น’ สิ่งที่คลุกคลีกับเด็กตั้งแต่เล็กจบเติบใหญ่ ของเล่นหนึ่งชิ้นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนคลายเหงา ผู้เสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ อีกทั้งยังสร้างรอยยิ้มให้แก่เด็กๆ ทุกคนด้วย หากการผลิตของเล่น เริ่มต้นด้วยความขุ่นมัวของจิตใจ ความเครียด ความกดดัน ของเล่นชิ้นนั้นก็จะออกมาไม่สดใส


     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ พงศ์ธร พานิชสาส์น ผู้ก่อตั้งบริษัท วี.อาร์.ทอยส์ จำกัด (V.R. Toys) จึงได้ใช้แนวคิดการบริหารทีมด้วยความสุขและเน้นเรื่องของทีมเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญ จนทำให้โรงงานของเล่นแห่งนี้ประสบความสำเร็จ พาแบรนด์ของเล่นไทยไปไกลถึงต่างประเทศอีกทั้งยังมียอดขายหลักร้อยล้านบาทอีกด้วย





      พงศ์ธรได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจจากตึกแถวสองคูหาสู่โรงงานผลิตของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในนครปฐม โดยเขาเล่าว่าเติบโตมาจากครอบครัวธรรมดา หลังจบปริญญาตรีที่เมืองไทยก็ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ จากนั้นได้เริ่มทำงานธนาคารและโลจิสติกส์ ก่อนที่จะกลับมาช่วยที่บ้านสานต่อธุรกิจค้าขายผ้าที่สำเพ็งพร้อมกับคำถามในใจว่าธุรกิจครอบครัวในยุคของเขาจะยังสู้ประเทศจีนได้ไหม?
 




     “สิ่งที่สงสัยตั้งแต่วันแรกคือเราจะสู้จีนได้เหรอ? จนเมื่อทำไปสักพักผมมีโอกาสได้ตั้งแผนกนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ ในตอนนั้นได้เห็นอะไรเยอะมาก ของจีนถูกจริงๆ ผมมองสินค้าหลายอย่างที่อยากจะทำนอกจากผ้า จนสุดท้ายมาสรุปที่ของเล่นเพราะว่ามีคนขายให้เรา เลยลองทำดูจนโรงงานเติบโตมาเรื่อยๆ”





     หลังจากเริ่มต้นธุรกิจของเล่นไปสักพัก พงศ์ธรได้มองหาช่องทางในการขยายธุรกิจ จึงติดต่อไปยังร้าน 7-11 และ 24 Shopping ซึ่งในช่วงแรกเขายังมีความไม่พร้อมในธุรกิจอยู่มาก จึงกลับมาพัฒนาจนในที่สุดก็สามารถเข้าไปขายในช่องทางดังกล่าวได้ ของเล่นจาก V.R. Toys จึงกลายเป็นสินค้าที่รู้จักในวงกว้างและเข้าถึงเด็กๆ ได้อย่างแพร่หลายหลังจากนั้น





     “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ จนปี 2551 ก็เริ่มมาคุยกันว่าพร้อมที่จะนำสินค้าจำหน่ายที่เซเว่นฯ แล้ว จึงเริ่มต้นลองขายดูจาก 600 สาขา ปรากฎว่าไปได้ดี จนทุกวันนี้ส่งขายอยู่ที่ 11,000 สาขา นอกจากนี้ยังมีส่งขายต่างประเทศด้วย ซึ่งเราต้องผลิตตามเทรนด์ในแต่ละปี โดยจะดูว่าปีนี้กลุ่มลูกค้าต้องการอะไร เราจะจับทิศทางตลาดและทำการรีเซิร์ช  ของเล่นที่ผลิตขึ้นมาแต่ละชนิดจะมีทีมการตลาดคอยศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า และทีมออกแบบคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจลูกค้าว่าชื่นชอบของเล่นแบบไหน นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย ไร้สารพิษ ราคาประหยัด แถมยังช่วยพัฒนาทักษะและเสริมพัฒนาการของเด็กๆด้วย” เขาบอกจุดขาย


       

     ของเล่นจาก V.R. Toys มีความหลากหลาย อย่าง  D-no Dough ชุดอุปกรณ์ทำแป้งปั้น D-no Block ชุดตัวต่อ ซึ่งจะมีการดีไซน์ให้มีคาแร็กเตอร์แบบไทยๆ มีทั้งเซ็ตตัวละครในวรรณคดีไทยไปจนถึงเซ็ต Street Food นอกจากนี้ยังมี “น้องรักดี” ซึ่งเป็นช้างพูดได้ สามารถเล่านิทาน ร้องเพลงและสื่อสารกับเด็กๆ ได้อย่างสนุกสนาน
การหาข้อมูลเพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมของผู้ซื้อนับเป็นหัวใจสำคัญ การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพก็สำคัญยิ่ง หากแต่สิ่งที่ V.R. Toys ยกให้เป็นความสำคัญที่สุดคือเรื่องของ ‘ทีมเวิร์ค’





     “จุดเด่นของเราคือทีมเวิร์ค ผมไม่ได้มองที่สินค้าอย่างเดียวเพราะสินค้าต้องมีคุณภาพอยู่แล้ว แต่ทีมเวิร์คจะทำให้เราคิดได้เร็วและโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่นอยู่เสมอ เพราะของเล่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก การทำของเล่น เราต้องเข้าใจ อย่าพยายามอารมณ์เสีย ถ้าเราอารมณ์ดี ทีมงานทั้งหมดจะคุยกันสบายๆ ทำให้บรรยากาศของการทำงานดีตามไปด้วย สินค้าที่ออกมาก็จะเป็นเชิงบวก (Positive) อย่างทีมออกแบบของโรงงานเราจะเล่นกันทั้งวัน คุยเล่น เฮฮา หน้าที่เขาคือเล่นของเล่นอยู่แล้ว แต่ถ้าไปกดดันเขา สินค้าและบรรยากาศการทำงานจะออกมาอีกแบบอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นต้องทำให้ทุกคนไม่เครียด” เขาย้ำในตอนท้าย




     การคิดค้นหรือการผลิตสินค้าว่ายากแล้วแต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือการดูแลคน ดูแลพนักงานให้มีความสุขกับการทำงาน บางครั้งการทำธุรกิจให้สำเร็จต้องมีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สร้างบรรยากาศการทำงานให้เสมือนบ้านที่น่าอยู่ เมื่ออารมณ์และความคิดเป็นบวก ผลิตผลที่ได้มาย่อมมีคุณภาพและไม่ใช่แค่การมอบสินค้าส่งตรงถึงมือลูกค้าเท่านั้นแต่คุณยังได้มอบใจให้พวกเขาอีกด้วย
 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​